Tech Startup
เขย่าวงการก่อสร้าง หนุ่มไทยปั้นแพลตฟอร์ม “BIM” ออกแบบก่อสร้าง 3D เทียบชั้นต่างชาติ
Main Idea
- ปัญหาที่คนในวงการออกแบบรับเหมาก่อสร้างต้องประสบเหมือนกัน คือ การควบคุมต้นทุน
- ธนา วงษ์ตัน Startup ไทยบุกเบิกแพลตฟอร์ม BIM (Building Information Modeling) สร้างทางเลือกใหม่ เป็นตัวช่วยวงการออกแบบก่อสร้าง 3D ช่วยบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายแก้งบบานปลาย
จากประสบการณ์เคยร่วมหุ้นทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ทำให้ ธนา วงษ์ตัน รู้ดีถึงปัญหาที่ทุกคนในวงการออกแบบและรับเหมาก่อสร้างต้องประสบเหมือนกัน คือ ควบคุมต้นทุนได้ยากจากสารพัดปัจจัย เช่น ก่อสร้างโครงสร้างเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถวางระบบภายในได้ จากปัญหาของตัวแบบ 2 มิติที่มองไม่เห็นความขัดแย้งของงานระบบ คำนวณวัสดุเกินหรือขาด ฯลฯ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเปล่าประโยชน์ นำไปสู่ค่าใช้จ่ายบานปลาย ซึ่งต้นเหตุสำคัญ เกิดจากการวางแผนงานก่อสร้างที่ขาดระบบรวมศูนย์การทำงานที่เห็นภาพชัดเจน แม่นยำ และครบวงจร
เมื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง บ.ไทรเด้นท์อินเทลลิเจนซ์เซอร์วิส จก. หรือ TIS ให้บริการออกแบบอาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอก จึงได้พัฒนาซอฟต์แวร์บริหารงานก่อสร้าง แพลตฟอร์ม BIM (Building Information Modeling) ขึ้นมารองรับ โดยจุดเด่นสามารถออกแบบงานก่อสร้างทั้งภายในและภายนอกได้ล่วงหน้าครบถ้วนชัดเจนให้เห็นภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านระบบ 3 มิติ เช่น งานโครงสร้าง งานโยธา งานสถาปัตยกรรม งานไฟฟ้า งานสุขาภิบาล ฯลฯ จึงสามารถคำนวณค่าใช้จ่าย อุปกรณ์ที่ต้องใช้ ตลอดจนระยะเวลาทำงานได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ ทำให้ง่ายต่อการทำงานก่อสร้าง ลดปัญหาและความผิดพลาดจากหน้างาน โดยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นได้จดสิทธิบัตรในประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว
ธนา อธิบายเสริมว่า BIM เป็นเทคโนโลยีใหม่ด้านการออกแบบงานก่อสร้าง เริ่มมีใช้บ้างแล้วและได้รับความนิยมอย่างสูงในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐฯ และทวีปยุโรป โดยที่ผ่านมา หากลูกค้าต้องการจะใช้ระบบนี้ ต้องซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์จากบริษัทผู้พัฒนา มาติดตั้งลงคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ซึ่งราคาสูงมาก มูลค่ากว่าหลักแสนบาท ดังนั้น เมื่อมาพัฒนาแพลตฟอร์ม BIM ของตัวเอง ทางบริษัทฯ เบื้องต้นจึงสร้างจุดเด่นด้วยการให้บริการเสริมคู่กับงานรับจ้างออกแบบอาคารสถานที่ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ช่วยให้ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าของอาคารสถานที่ไม่เข้าใจงานวิศวกรรม ก็ได้รับประโยชน์พร้อมกัน ใช้งานง่าย สามารถจะรู้ต้นทุนทุกอย่าง ระยะเวลาการทำงาน ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่าย และงานเสร็จตามกำหนดเวลา
เนื่องจากนวัตกรรมดังกล่าว เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย การทำตลาดเบื้องต้น ธนาเน้นเข้าไปเสนองานแก่กลุ่มอาจารย์ในภาคสาขาวิชาวิศวกรรม และสถาปนิก ซึ่งมีหน้าที่ต้องเฟ้นหาผู้รับจ้างออกแบบอาคารสถานที่ ซึ่งบรรดาอาจารย์เหล่านี้จะมีพื้นฐานความรู้เรื่อง BIM อยู่แล้ว เมื่อรู้ว่า ในเมืองไทยมีผู้พัฒนาระบบดังกล่าวได้แล้ว จึงเกิดความสนใจ รวมถึงช่วยไปบอกต่อ ทำให้บริษัทฯ ได้รับงานออกแบบอาคารสถานที่ของหน่วยงานราชการ และสถานศึกษาใน จ.เชียงใหม่ หลายแห่ง
Startup หนุ่ม ทิ้งท้ายเล่าถึงแผนธุรกิจในอนาคต จะนำแพลตฟอร์ม BIM เข้าสู่ ISO29110 ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพการบริหารงานหรือผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ รวมถึง พัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เปิดโอกาสบุคลากรในวงการออกแบบและก่อสร้าง ได้แก่ กลุ่มนักออกแบบ สถาปนิก ผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าของอาคาร เข้ามาใช้งานได้ด้วยการสมัครสมาชิก ซึ่งจะช่วยให้แพลตฟอร์ม BIM เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายต่อไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup