Tech Startup
แม็ค กฤตธัช Startup หนุ่มหัวใสปั้นโดรน พิทักษ์พืชช่วยเกษตรกรไทยทำงานไวกว่าเดิมถึง 5 เท่า
Main Idea
- เมื่อจุดเด่นของโดรน ที่ถ่ายรูปมุมสูงได้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในวงการเกษตรทั้งตรวจสอบป้องกันโรค ปราบศัตรูพืชสำหรับสวนขนาดใหญ่
- ช่วยยกระดับวงการเกษตรไทยให้เกษตรกรห่างไกลสารเคมีและปรับวิธีการทำงานให้ทันสมัยไวกว่าเดิม
จากเด็กที่ชอบเล่นเครื่องบินบังคับ วันนี้เขาบังคับให้ของที่ชอบเล่นทำประโยชน์ให้วงการเกษตร ผันตัวเองเข้าสู่วงการ Startup เมื่อภาพจำของข่าวต้นมะพร้าวที่ถูกแมลงลงกินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทำให้กลายเป็นดงมะพร้าวหัวโล้นในชั่วพริบตาแต่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรอย่างมหาศาล กลายเป็นแรงผลักดันให้ แม็ค-กฤตธัช สารทรานนท์ ตั้งบริษัท Novy 2018 เพื่อใช้ความชอบและความรู้ด้านเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งานช่วยงานเกษตรกรในหลายๆ มิติ
อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนที่พวกเรารู้จัก นอกจากมีจุดเด่นคือ การสามารถถ่ายภาพมุมสูงได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ Novy Drone จึงได้นำจุดเด่นของโดรนตรงนี้มาช่วยเก็บภาพพื้นที่ในไร่หรือในสวน โดยเฉพาะสวนขนาดใหญ่เพื่อนำภาพเหล่านั้นมาใส่ในโปรแกรมแล้วประมวลทำให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรใน 4 ประเด็นหลักๆ คือ
1. ตรวจสอบความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่
2. ตรวจสอบศัตรูพืช
3. ประเมินผลผลิต โดยคาดคะเนจากการนับจำนวนพืชที่มีชีวิตอยู่ เพราะในความจริงระหว่างที่ทำสวนอาจมีบางต้นที่งอกขึ้นมาใหม่หรือบางต้นที่ตายไป ฉะนั้นการรู้จำนวนพืชที่มีอยู่จริงมีผลดีต่อการประเมินราคาขายให้กับผู้ที่มารับซื้อ
4. ใช้โดรนพ่นปุ๋ย พ่นยา ช่วยให้ให้เกษตรกรปลอดภัยจากสารเคมี
“ข้อมูลที่ได้มาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่ทำไร่สวนขนาดใหญ่มีพื้นที่เป็นหมื่นไร่ ซึ่งโดยทั่วไปแรงงานคนสำรวจพื้นที่หมื่นไร่อาจต้องใช้แรงงานคนถึง 10 คนและใช้เวลา 10 วัน ต่างกับโดรนสามารถสำรวจได้ภายใน 1-2 วัน จึงช่วยประหยัดเวลาได้มาก หรือใช้สำรวจความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ที่มีความสูงก็สะดวกยิ่งขึ้น หรือหากเจอศัตรูพืชก็ทำให้กำจัดได้ทันท่วงทีไม่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งสวน”
ใช้จริงได้ผลจริง
จากการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าจนได้ผลที่น่าพอใจ แม็ค จึงได้นำโดรนไปทดสอบกับการทำงานจริง โดยสวนมะพร้าวของรุ่นพี่คือ สนามทดสอบแรกของ Novy Drone ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และก็เริ่มได้รับการติดต่อจากเกษตรกรสวนปาล์ม สวนสับปะรดนับหมื่นไร่ให้ไปทำการสำรวจพื้นที่ ทั้งนี้บริษัทมีบริการให้เกษตรกรที่สนใจเลือกใช้ได้ตามความต้องการอาทิ ใช้โดรนพ่นปุ๋ย พ่นยา ใช้โดรนสำรวจสภาพของพื้นที่เกษตร หรือลักษณะกายภาพ เช่น ความอุดมสมบูรณ์ จำนวนต้น ดูความสูงระดับน้ำ เป็นต้น
แม็คบอกว่า การใช้โดรนไม่ได้มีความยากซับซ้อนแต่อุปสรรคสำคัญคือ การสื่อสารกับเกษตรกรให้เข้าใจ ฉะนั้นในช่วงเริ่มต้นพวกเขาต้องลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับเกษตรกร นอกจากสาธิตให้เห็นรูปแบบการทำงาน ไปให้ความรู้แล้ว ต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับว่าคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จะลงทุน
“อยากให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการทำเกษตรให้มากขึ้น การทำเกษตรมันไม่ได้ยากอย่างที่คิด โดยเฉพาะถ้านำเทคโนโลยีมาผสมทำให้เป็น smart farming มันสามารถต่อยอดได้อีกไกล เพราะเกษตรเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย ด้วยภูมิศาสตร์พื้นที่ประเทศเหมาะสมกับการเพาะปลูก อย่างไรคนก็ต้องบริโภคพืชผักอยู่แล้ว”
ถ้าดูจากแนวโน้มที่ลูกค้าให้การตอบรับ แม็คบอกว่า ถือว่า 4 ปีที่พัฒนาโดรนและเริ่มทำการตลาดก็ถือว่าประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีที่ 3 โดยวัดจากการที่มีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาร่วมลงทุน และบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสนใจติดต่อขอซื้อซอฟท์แวร์ไปวางแผนการปลูก การเก็บผลผลิตอ้อย
“ช่วงผมเริ่ม Startup แรกๆ ผมคลุกคลีกับการประกวดจนบางทีเราฟุ้งเกินไป มีเวทีมีรายการใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆซึ่งแต่ละรายการก็ดี แต่มันทำให้บางครั้งเราไม่ได้เจาะลึกรายละเอียดงานอย่างจริงจัง สุดท้ายผมจึงมาโฟกัสว่าควรสร้าง core product ของตัวเองขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ศึกษามันให้ลึกซึ่งมันจะสร้าง value ได้อย่างมาก อยากฝากบอก startup ใหม่ๆ ว่าอยากให้ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนจะได้ไม่เขวระหว่างทาง”
วันนี้ Novy Drone ก็กำลังบินไปสู่เป้าหมายของตัวเองที่จะช่วยยกระดับเกษตรกรไทย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup