Tech Startup
จับตา 3D Food Printer พริ้นต์จริง กินได้จริง มิติใหม่การปรุงอาหารคนป่วยกินได้เด็กกินดี
Main Idea
- มีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนของผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ไปอยู่ที่ร้อยละ 40 ของประชากรโลกในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
- เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติกำลังกลายเป็นนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ผู้สูงวัย ผู้ป่วย เช่น มะเร็งช่องปากที่มีปัญหาในการเคี้ยวหรือการกลืน รวมไปถึงการทำให้อาหารที่เด็กๆ ปฏิเสธกลายเป็นอาหารที่รับประทานง่ายขึ้น
3D Food Printer คืออะไร?
3D Food Printer หรือเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ คือ เครื่องขึ้นรูปอาหารแบบ 3 มิติ คล้ายกับเครื่อง 3D Printer ทั่วไป แต่แทนที่จะใช้พลาสติกในการขึ้นรูป ก็ใช้วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารแทน หลักการทำงานง่ายๆ ของเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติคือ การใส่ส่วนผสม วัตถุดิบ และเครื่องปรุงต่างๆ ตามสูตรอาหารหรือขนมซึ่งถูกแปรสภาพให้อยู่ในรูปของเหลวหรือกึ่งของเหลว แล้วเทส่วนผสมลงในแคปซูลหรือหรือกระบอกฉีด จากนั้นนำแคปซูลเหล่านี้ใส่ลงในเครื่องพิมพ์ โหลดโปรแกรมเมนูอาหารที่ต้องการ แล้วกดปุ่มให้เครื่องทำงาน กระบอกฉีดของเครื่องพิมพ์จะค่อยๆ พ่นส่วนผสมในการปรุงอาหารขึ้นมาทีละชั้น ทีละแถว ซ้อนกันเป็นรูปทรงต่างๆ ตามขั้นตอนของการทำอาหาร ซึ่ง 3D Food Printer เป็นนวัตกรรมที่มีการพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มพบเห็นว่ามีการใช้งานมากขึ้น โดยร้านอาหารบางแห่งนำเครื่องพิมพ์นี้มาใช้เป็นจุดขายอีกด้วย
ตอบโจทย์กลุ่มเด็ก-ผู้สูงอายุ
ความน่าสนใจของ 3D Food Printer ผู้ใช้สามารถเลือกผสมวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพเพิ่มเข้าไปในส่วนผสมสำหรับปรุงอาหาร เพื่อให้อาหารมีสีสันน่ารับประทานและมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น
ประโยชน์ตรงนี้อาจเห็นได้ชัดกับกรณีเด็กที่ทานผักยาก โดยการเปลี่ยนอาหารให้มีหน้าตาแปลกแตกต่างออกไปอาจทำให้เด็กรับประทานง่ายขึ้น ไม่เท่านั้น ปริมาณอาหารที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติยังถูกชั่งตวงวัดอย่างละเอียดและแม่นยำ โดยเครื่องพิมพ์สามารถบันทึกข้อมูลสารอาหาร ประเมินภาวะสุขภาพของผู้บริโภค และสามารถปรุงอาหารให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละคนได้ รวมทั้งอาจผสมยาประจำตัวต่างๆ ลงไปด้วยเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการรับประทานยาสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงวัย
เบอร์ต้า อัลวาเรซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาบริษัทไบโอซูมในเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติกล่าวว่า ผู้สูงวัยโดยมากมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการเคี้ยวและการกลืนที่ลำบากขึ้น กอปรกับต่อมรับรสเริ่มเสื่อมทำให้ไม่เจริญอาหาร ผู้สูงวัยจึงทานอาหารได้น้อย นำไปสู่ภาวะพร่องโภชนาการ อัลวาเรซเผยว่า ภาวะกลืนลำบากหรือ Dysphagia ส่งผลกระทบต่อผู้สูงวัยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ทำให้ไม่สามารถทานอาหารปกติได้ การนำนวัตกรรมเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติมาใช้จึงช่วยแก้ปัญหานี้
มีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนของผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ไปอยู่ที่ร้อยละ 40 ของประชากรโลกในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า คนที่ได้ประโยชน์จากนวัตกรรมเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติจึงเป็นประชากรกลุ่มนี้นี่เอง ซึ่งหลายประเทศก็ตื่นตัวรับกระแสนี้ เช่นที่สิงคโปร์ ศูนย์ทรัพยากรและนวัตกรรมอาหารของรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตอาหาร โดยจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไปช่วยพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ เอเวอลีน ออง ผู้จัดการอาวุโสประจำโครงการเปิดเผยว่าการปรุงอาหารเมนูสำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาเรื่องการกลืนโดยที่ความต้องการด้านโภชนาการของแต่ละคนแตกต่างกันเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แต่เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติจะช่วยตอบโจทย์นี้ได้
Food Tech ต่อยอดนวัตกรรมสู่ไลฟ์สไตล์
อนิรุธ อกาวัล ผู้ก่อนตั้ง Anrich3D เทคสตาร์ทอัพผู้ร่วมโครงการกับศูนย์ทรัพยากรและนวัตกรรมอาหารของรัฐบาลสิงคโปร์กล่าวว่าเขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ผู้ใช้งานสามารถระบุส่วนผสมบางอย่างตามกำหนด และรสชาติที่ชอบผ่านแอปพลิเคชั่น จุดประสงค์เพื่อให้อาหารที่ผลิตออกมานั้นตรงกับความต้องการของผู้กิน รวมถึงทำให้เด็กๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ง่ายและอร่อยขึ้น เช่น ผักใบเขียว ธัญพืช และผลไม้บางอย่างที่เด็กมักไม่ชอบ
ปัจจุบัน การใช้งานเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติยังไม่แพร่หลายเป็นวงกว้างเนื่องจากยังมีข้อจำกัดบางประการ อาทิ เนื้อสัมผัสของอาหารบางอย่างที่ไม่เหมาะใช้กับเครื่อง ซึ่งขึ้นอยู่ความซับซ้อนของอาหารและประเภทของเครื่องพิมพ์ นอกจากนั้น เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติยังใช้เวลา 10-15 นาทีในการขึ้นรูปอาหาร คาดว่าในอนาคตอาจขึ้นรูปได้เร็วขึ้น ถึงกระนั้น อนิรุธ ผู้ก่อตั้งเทคสตาร์ทอัพ Anrich3D เชื่อว่าในอนาคตเราจะเห็นเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติใช้งานทั่วไปในโรงอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม หรืออาจมาในรูปตู้กดสินค้าอัตโนมัติก็เป็นได้
ที่มา
www.scmp.com/lifestyle/food-drink/article/3098689/3d-printed-food-how-pork-beef-potatoes-even-vegetables
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup