ล้ำได้อีก หนุ่มไทยสร้างแพลตฟอร์มอัจฉริยะเลี้ยงไก่ไข่ด้วย IoT เจ้าแรกในเอเซียแปซิฟิก
Main Idea
- หากเกิดไฟดับแค่ภายใน 20 นาทีแล้วถ้าเจ้าของฟาร์มยังไม่รู้ตัว ไก่ที่เลี้ยงไว้อาจตายหมด ถ้าฟาร์มหนึ่งเลี้ยงไก่ 50,000 ตัว มูลค่าของไก่เหล่านั้นอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านกว่าบาทหายไปกับตา
- นึ่คือหนึ่งใน Pain Point ที่ทำให้หนุ่มไอทีหันมาสร้าง UpSquare แพลตฟอร์มอัจฉริยะเลี้ยงไก่ไข่ขึ้นมา
UpSquare แพลตฟอร์มการจัดการบริหารฟาร์มฟาร์มไก่ไข่อัจฉริยะรายแรกของเอเชียแปซิฟิก โดยการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาช่วยเพื่อยกมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทย โดยมี พิสุทธิ์ ฆังคะมะโน หนึ่งในผู้สร้างเทคโนโลยีนี้ ที่นำประสบการณ์การทำงานดูแลระบบบริหารดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลกที่มีสาขาทั่วโลกมานานนับ 10 ปี และยังมีฟาร์มไก่ไข่เป็นของตัวเอง จึงนำปัญหาที่พบเจอกับตัวเองมาเป็นโจทย์ต่อยอดแก้ pain point ให้กับการทำเลี้ยงไก่แบบตรงจุด
โดยแพลตฟอร์ม UpSquare นี้มีหลักการทำงานคือ การนำเซ็นเซอร์ไปติดตั้งในโรงเรือน เพื่อบันทึกข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ในฟาร์มจากนั้นเอามาวิเคราะห์ ยกตัวอย่างเช่น มีการพบข้อมูลบอกว่ากราฟการกินน้ำของไก่เริ่มดิ่งลงจนเข้าวันที่ 3 จากข้อมูลตรงนี้แสดงถึงความผิดปรกติ ทางทีมงานจึงได้ส่งสัตวแพทย์เข้าไปตรวจสอบพบว่ามีไก่เป็นโรคเป็นพยาธิ ทำให้รักษาได้ทันป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดไปทั้งฟาร์ม
“ยิ่งการเลี้ยงไก่ในโรงเรือนแบบปิดเกิดไฟดับแค่ภายใน 20 นาทีแล้วถ้าเจ้าของฟาร์มยังไม่รู้ตัว ไก่ที่เลี้ยงไว้อาจตายหมด ถ้าฟาร์มหนึ่งเลี้ยงไก่ 50,000 ตัว มูลค่าของไก่เหล่านั้นอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านกว่าบาทหายไปกับตาภายในไม่กี่นาที เรานำ Pain Point หลักๆ ตรงนี้มาสร้างเป็นนวัตกรรมตัว UpSquare ขึ้นมาเพื่อใช้ตรวจสอบสภาวะของโรงเรือน และตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์ทุกตัวที่เกิดขึ้นในโรงเรือน“
นวัตกรรมตัวนี้ไม่เพียงมาช่วยยกระดับเกษตรกรไทย ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับเจ้าตัวไม่น้อยเพราะสามารถนำความรู้ที่มีมาต่อยอดและกลายเป็นนวัตกรรมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในย่านเอเชียแปซิฟิก
“ถือได้ว่า UpSquare เป็นเจ้าแรกในเอเชียแปซิฟิก การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาหนึ่งชิ้นต้องเข้าใจปัญหาที่แท้จริงก่อนว่าปัญหานั้นต้องได้รับการแก้ไขยังไง ยังมีอีกหลายคนที่สร้างนวัตกรรมขึ้นมาโดยที่ยังเดินหลงทางอยู่ แต่ว่าถ้าเข้าใจถึงปัญหาอย่างชัดเจนมันจะทำให้เราเห็นเส้นทางและเดินไปได้เป็นเส้นตรง นอกจากนี้ก็ยังต้องเจออุปสรรคมากมาย ต้องมีเรื่องของเงินทุนที่ต้องซัพพอร์ตในการทดลอง ปัญหาเรื่องการหาอุปกรณ์ หรือโรงงานที่ไว้ใจได้ เพราะถ้าเซ็นเซอร์ไม่ดี การส่งค่ามาไม่ดีการวิเคราะห์จะผิดเพี้ยนไปหมด”
แต่ด้วยความมุ่งมั่นนอกจากจะสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยเกษตรได้สำเร็จแล้วเขาจึงร่วมมือกับพี่ชาย พฤหัส ฆังคะมะโน ก่อตั้ง บริษัท อัพสแควร์ เทคโนโลยี จำกัด ขึ้นมาถึงปัจจุบันได้ประมาณ 1 เดือน และพร้อมที่จะบริการนวัตกรรมตัวนี้ให้กับฟาร์มที่สนใจทาง พิสุทธิ์ ย้ำว่าไม่ต้องกังวลว่าแพลตฟอร์มตัวนี้ใช้งานยาก เพราะว่าทางบริษัทมีทีมงานช่วยดูแลระบบ มีคอลเซ็นเตอร์คอยดูแลโทรแจ้งเตือนลูกค้าทันทีหากระบบมีปัญหา
หรือส่งข้อความผ่าน SMS ในไลน์ก็ส่งไปที่กลุ่มของสัตวบาลถ้าพบเจอว่าไก่มีอาการผิดปกติ ระบบจะส่งไปหาคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นส่งผ่านแอปหรือว่าไลน์ ทำให้ผู้บริหารทราบถึงสถานะของแต่ละโรงเรือนด้วยและยังทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในตัวบริษัทได้
“โมเดลการขายมี 2 รูปแบบ แบบแรกคือการขายขาดสำหรับฟาร์มที่มีความพร้อมทั้งเรื่องสัตวแพทย์หรือทีมงาน ราคาเริ่มต้น 50,000-70,000 บาทตามขนาดโรงเรือน อีกแบบคือ Subscription เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีโอกาสจะจ้างสัตวแพทย์ประจำฟาร์มหรือสัตวบาล ก็จะเสียค่าใช้จ่ายรายเดือน มี 3 แพคเกจ SME, Gold และ Enterprise อย่าง Enterprise สามารถรู้ระบบต้นทุนค่าไฟของโรงเรือนได้ พอรู้ต้นทุนทั้งหมดเราสามารถไปคำนวณต้นทุนการผลิตไก่ไข่ได้ ตอบโจทย์ที่อยากลงทุนโรงเรือนใหม่ ตัวนี้ราคาอยู่ 0.99 สตางค์ต่อเดือน/ตัว มี 10,000 ตัวเท่ากับจ่ายประมาณ 9,000 บาท/เดือน เมื่อเทียบกับไฟดับไก่ตายทั้งโรงเรือน มูลค่าความเสียหายหลายล้าน แต่จ่ายแค่ 9,000 บาทก็สามารถรักษาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้” พิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ww.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup