Tech Startup

Treatsure จากแอปลดขยะอาหารต่อยอดโมเดลธุรกิจสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม




Main Idea
 
  • แค่ปีเดียวประเทศเดียว มีปริมาณขยะอาหารมากถึง 744 ล้านกิโลกรัมเทียบเท่าน้ำหนักรถบัสสองชั้น 51,000 คัน
 
  • ผลักดันให้เกิด startup รายหนึ่ง เพื่อจัดการอาหารบุฟเฟต์ในโรงแรมที่ได้ผลดีกำลังพัฒนาแอปฯ ไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมในที่สุด 



     ปัญหาปริมาณขยะที่เกิดจากอาหารเหลือได้กลายเป็นประเด็นที่สตาร์ทอัพทั่วโลกทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออกให้ความสนใจ และหลายรายได้พัฒนานวัตกรรมหรือรูปแบบธุรกิจเพื่อหวังบรรเทาปัญหาดังกล่าว อย่างที่สิงคโปร์ ขยะอาหารหรือ food waste มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขยะอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซนต์ ข้อมูลสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (NEA) ระบุปีที่ผ่านมา สิงคโปร์มีขยะอาหารปริมาณมหาศาลราว 744 ล้านกิโลกรัมซึ่งเทียบแล้วมีน้ำหนักเท่ารถบัสสองชั้น 51,000 คัน อาหารขยะไม่ได้ก่อแค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศอีกด้วย





     หนึ่งในTech startup ที่ขันอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้โดยใช้เทคโนโลยีและวิธีการใหม่ ๆ มีชื่อว่า “treatsure” แรงบันดาลใจเกิดขึ้นเมื่อปี 2016 จากเพรสตัน หว่อง นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ที่เห็นสมาชิกในครอบครัวทำความสะอาดตู้เย็นและโละบรรดาอาหารที่หมดอายุแล้วทิ้งจำนวนมาก ทำให้เขาคิดไปว่าจะดีแค่ไหนหากเขาสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มที่ทำให้สามารถส่งต่ออาหารนั้นแก่คนที่ต้องการก่อนที่มันจะหมดอายุ เพรสตันนำเรื่องนี้ไปปรึกษาเคนเน็ธ แฮม เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย


     เบื้องต้น เพรสตันและเคนเน็ธลงขันกันรวม 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือราว 1 ล้านบาทเศษ และระดมทุนจากผู้สนับสนุนเพิ่มในเวลาต่อมาเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น treatsure ที่ชี้เบาะแสว่าโรงแรมใดมีบริการบุฟเฟต์ใส่กล่อง (Buffet In A Box) หรืออาหารจากไลน์บุฟเฟต์ที่เปิดให้ลูกค้าเข้ามาซื้อกลับไปทานที่บ้านได้ในราคาไม่แพง





     treatsure โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 2017 เพรสตันกล่าวว่าถือเป็นแอปลดขยะอาหารแอปแรกของสิงคโปร์ และในเวลานั้นแนวคิดนี้จัดว่ายังใหม่มาก ใช้ชื่อ “treatsure” ก็เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคปฏิบัติต่ออาหารประดุจสินทรัพย์อันมีค่า แต่สิ่งที่ท้าทายในการเปิดบริการแอปในช่วงแรก ๆ คือทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้คนเข้าระบบและดาวน์โหลดแอปมาใช้งาน   


     ในขั้นตอนของการพัฒนาแอป สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการหาพันธมิตรที่จะเข้าร่วมระบบ ซึ่ง 2 โรงแรมแรกที่เข้าร่วมได้แก่ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท สิงคโปร์ และโรงแรมแอคคอร์ ผู้สนับสนุนแนวคิดการบริโภคแบบยั่งยืน หลังจากนั้นก็มีอีกหลายโรงแรมเข้าร่วม รวมแล้วกว่า 20 แห่ง อาทิ โรงแรมแฟร์มอนต์ โรงแรมสวิสโฮเทล โรงแรมแมริออท โรงแรมโนโวเทล โรงแรมเมอร์เคียว โฮเทลเจน โรงแรมคาร์ลตันซิตี้ และโรงแรมฟูราม่า


     ทั้งนี้ 30-60 นาทีก่อนหมดเวลาให้บริการบุฟเฟต์ โรงแรมต่าง ๆ จะแจ้งใน treatsure ผู้ใช้แอปสามารถเข้าไปเช็คดูได้ว่ามีโรงแรมใดบ้างที่ให้บริการซื้ออาหารบุฟเฟต์กลับบ้าน จากนั้นก็ไปที่ห้องอาหารของโรงแรมที่ต้องการ สแกนคิวอาร์โค้ดของโรงแรมผ่านแอป treatsure ทำการชำระเงินกับพนักงาน รับกล่องใส่อาหารจากทางโรงแรม แล้วเลือกตักอาหารได้ตามใจชอบ สนนราคาอยู่ที่กล่องละ 10 ดอลลาร์หรือประมาณ 230 บาท ลูกค้าสามารถซื้อกล่องได้มากกว่า 1 กล่อง โดยบางโรงแรมจำกัดการซื้อไม่เกินคนละ 4 กล่อง





     สำหรับผลตอบรับเรียกว่าค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม ช่วงเกิดการระบาดของไวรัสโควิด ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องสั่งปิดธุรกิจไม่จำเป็นตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้บริการอาหารบุฟเฟต์ในโรงแรมต้องถูกระงับไปด้วย โรงแรมต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนมาเสิร์ฟอาหารแบบจานต่อจาน (a la carte) แทน treatsure เองก็ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ โดยร่วมมือกับโรงแรมพันธมิตร อาทิ โรงแรมแกรนด์ไฮแอทจำหน่ายอาหารกล่อง และเบอร์เกอร์ เป็นต้น


     นอกจากนั้น treatsure ยังให้บริการจัดส่งสินค้าส่วนเกิน สินค้ามีตำหนิ และสินค้าหมดอายุแล้ว (แต่ยังบริโภคได้) จากร้านโกรเซอรี อาทิ UglyFood, Atasco, Amoy Canning และ Olive Groves รวมถึง  Ban Choon ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เพรสตันเผยว่าพวกเขาอยู่ระหว่างการเจรจากับค้าปลีกขนาดใหญ่ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต และบริษัทใหญ่ให้เข้าร่วมโครงการนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ อาจเป็นเพราะค้าปลีกขนาดใหญ่มีวิธีการของตัวเองในการจัดการกับสินค้าส่วนเกินแล้วก็ได้


     สำหรับสินค้าที่ให้บริการจัดส่งประกอบด้วยผัก ผลไม้ ไข่ไก่ ขนม และเครื่องดื่ม โดยลูกค้าสามารถเลือกให้จัดส่งถึงประตูบ้าน หรือจะมารับสินค้าเองก็ได้ เพรสตันกล่าวว่าช่วงที่มีการล็อคดาวน์เพราะโควิดระบาด ส่งผลดีต่อธุรกิจ treatsure อย่างยิ่งเนื่องจากผู้บริโภคหันมาซื้อของกินของใช้ทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ยอดขายโต 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนการระบาด  


     ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานแอป treatsure กว่า 20,000 ราย โดยจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นคิดเป็น 300 กว่าเปอร์เซนต์ต่อปี ถึงกระนั้น ผู้ก่อตั้ง treatsure ก็ไม่หยุดนิ่ง แต่ยังพยายามพัฒนาแอปให้ใช้งานง่ายขึ้นและตอบโจทย์หลากหลายขึ้น ล่าสุด ได้เพิ่มแนวคิดจับตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เน้นความยั่งยืน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับธุรกิจสายกรีน อาทิ The Sustainability Project, Bamboo Straw Girl และ UnPackt เป็นต้น เรียกได้ว่าจากแอปลดขยะอาหาร treatsure กำลังพัฒนาไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมในที่สุด
 
ที่มา
https://vulcanpost.com/712465/treatsure-buffet-in-a-box-surplus-grocery-singapore/
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup