Tech Startup
ทิศทางของ Startup หลัง Covid-19 จะไปต่ออย่างไร -นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ มีคำตอบ
Main Idea
- มาถึงวันนี้แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้น แต่ถ้าส่องดูทั่วโลกยังจะเห็นว่ายังมีการติดเชื้อกันอยู่เรื่อยๆ ภายใต้สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ Startup ที่ชัดเจนที่สุดคือ อัตราการเติบโตของ Startup
- SME Startup จึงได้สัมภาษณ์ นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ถึงสถานการณ์ของ Startup ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป
“ความเปลี่ยนแปลงคือ New Normal แปลว่า เราต้องชินกับการเปลี่ยนแปลงนั้น และเมื่อรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องปรับตัว” นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรแสดงความเห็นถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป
ง่าย-ถูก-เร็ว-มีประสิทธิภาพ
คุณหมอศุภชัยเชื่อว่า การปรับตัวในยุค New Normal ไม่ใช่เรื่องยากลำบากสำหรับ Startup เพราะความสามารถหลักของ Startup คือ ต้องง่าย ถูก เร็ว และมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ถ้ามีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น Startup จะปรับตัวได้เร็วกว่าองค์กรขนาดใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นก็แสดงว่าไม่พร้อมที่จะเป็น Startup
อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ต้องดูว่ามีโอกาสอยู่ตรงไหนบ้าง และทำอย่างไรให้นวัตกรรมไม่โดนฉุดโดยโควิด RISE สถาบันด้านนวัตกรรมองค์กรเองช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แผนงานเดิมที่วางไว้ก็ถูกปรับเปลี่ยนใหม่หมด มีการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำงานเป็นไฮบริด ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ จากธุรกิจหลักที่ให้บริการองค์กรขนาดใหญ่ในการค้นหา Startup ระดับโลกเข้ามาร่วมงาน ซึ่งปกติตุณหมอศุภชัยต้องเดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำ สิ่งที่ทำคือ เปลี่ยนโปรแกรมเป็น Virtual Roadshow ติดต่อพันธมิตร 50 ประเทศ ให้ช่วยสรรหา Startup แล้วมาเจอกันบนออนไลน์เพื่อจะสอบสัมภาษณ์ ไม่เพียงแค่นั้นธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือ Intrapreneur University ซึ่ง RISE สอนคนในองค์กรให้กลายเป็นผู้ประกอบการในองค์กร ก็จัดโปรแกรมการเรียนการสอนเป็น Virtual เช่นเดียวกัน
“สิ่งสำคัญคือ การ Learning Design ว่าจะออกแบบการเรียนรู้ให้คนที่เข้ามาเรียนออนไลน์ได้รับประสบการณ์ใกล้เคียงกับการเรียนออฟไลน์มากที่สุดอย่างไร เช่น เรามีกฎคือ 1.เปิดกล้อง 2.ปิดไมค์ 3.บอกอะไรก็ทำ ซึ่งฟีดแบ็กที่ได้คือ ไม่น่าเชื่อว่าเรียนออนไลน์จะดีกว่าเรียนออฟไลน์ ทำให้ความสนใจของเขาอยู่ที่จอ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือปกติการเวิร์กช็อปที่ต้องลงมือทำ มีการทำ Prototype เครื่องมือต่างๆ เราทำเป็นชุด Home Kit ส่งไปที่บ้าน สำหรับงานสัมมนานวัตกรรมองค์กรที่เดิมจะจัดในเดือนเมษายน เราตัดสินใจเลื่อนเป็นเดือนกันยายน แต่ระหว่างทางเราสร้างความมั่นใจว่าถ้าถึงตอนนั้นหากคนยังเดินทางไม่ได้จะทำอย่างไร เดือนที่แล้วเราตัดสินใจลอนช์งาน CSR Virtual Conference ซึ่งเป็นงานออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่ามีคนสมัครเข้ามาร่วมงานกว่า 14 ประเทศทั่วโลก มี Speaker กว่า 30 คน งานจัด 2 วัน แม้คนฟังจะไม่ถึงพันคนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่ก็ใกล้เคียง ที่สำคัญคือ แสดงให้เห็นว่าคนมีความตื่นตัวเยอะ เลยมั่นใจมากว่าในเดือนกันยายนเรายังสามารถจัดงานได้ โดยจัดเป็นไฮบริดผสมระหว่างออนไลน์และออฟไลน์”
Covid-19 ผลกระทบกับ Startup
มาถึงวันนี้แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้นจนมีมาตรการคลายล็อกแล้ว แต่ถ้าส่องดูทั่วโลกยังจะเห็นว่ามีการติดเชื้อกันอยู่เรื่อยๆ ภายใต้สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ Startup ในระยะสั้นหลายมุม ที่ชัดเจนที่สุดคือ อัตราการเติบโตของ Startup เนื่องจาก Startup ไทยส่วนใหญ่ทำธุรกิจในลักษณะ B2C ซึ่งเมื่อตลาดมีความเปลี่ยนแปลง หากไม่ปรับตัวให้เร็วก็อาจจะอยู่รอดยาก นอกจากนี้ Startup ส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วง Early Stage ซึ่งได้รับเม็ดเงินลงทุน Seed Fund จะประสบความลำบากมากยิ่งขึ้น
“Startup ที่เป็น Early Stage ถ้าไม่มีรายได้เลยก็จะอยู่รอดได้ 3-6 เดือน ส่วน Startup อีกกลุ่มมีรายได้สามารถระดมเงินทุนได้แล้วเป็น Series A กลุ่มนี้น่าจะอยู่ได้ 6-12 เดือน มีโอกาสรอดเยอะขึ้น หลังจากนี้ 6 เดือน หากสถานการณ์กลับมาเกือบ Normal อุตสาหกรรมที่กระทบหนัก เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทาง การกลับตัวน่าจะเป็น U-Shape แปลว่า ไม่เร็ว แต่ข้อสังเกตคือ Startup ที่ดีอยู่แล้ว มีรายได้มีผลกำไรอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่มีนักลงทุนสนใจ ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือ เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเดินหน้าหาเงินทุน ในทางกลับกัน Startup ที่ไม่มีรายได้ ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรต่อ จะยิ่งหาเงินทุนยากยิ่งขึ้น”
ในอีกมุมหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ในมุมของนักลงทุน คุณหมอศุภชัยมองว่า ในการลงทุนนั้นจังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนในการหา Startup ที่ดีในราคาที่ไม่แพง ซึ่งคำถามคือแล้วจะไปหา Startup ที่ดีเหล่านั้นได้ที่ไหน มีจำนวนเพียงพอหรือเปล่า ที่สำคัญมั่นใจได้ว่าวิธีการในการลงทุนของทั้ง VC และ CVC ก็คงมีการประเมินวิเคราะห์กันมากขึ้น เฝ้าระวังมากขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าในปีนี้จะมี Startup จำนวนมากที่สามารถระดมทุนได้ และสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น Startup หรือ SME ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup