Tech Startup

ความยากของ Startup ไทยในช่วง Next Normal ผ่านสายตา ปัณณ์ จารุทรรศนกุล

Text : Ratchanee P. Photo : Pae.yodsurang
 



Main Idea
 
  • จากสถานการณ์โควิด-19 ย่อมส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนที่บรรดา Startup ต่างๆ จะได้รับ เนื่องจากนักลงทุนจะระมัดระวังในการลงทุนมากกว่าเดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้
 
  • เมื่อเม็ดเงินลงทุนหดหาย Startup ไทย ควรทำอย่างไร? ปัณณ์ จารุทรรศนกุล Investment Manager 500 TukTuks มาฉายภาพมห้เห็นถึงสถานการณ์ดังกล่าว
 



     ยากที่จะปฏิเสธว่าในช่วงที่ผ่านมา Startup ต่างก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่โหมกระหน่ำเข้ามาอย่างรวดเร็ว วิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนของบรรดา Venture Capital (VC)  หรือบริษัทร่วมลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 

เม็ดเงินลงทุนหดหาย

     ปัณณ์ จารุทรรศนกุล Investment Manager 500 TukTuks บริษัทร่วมลงทุนชื่อดังของไทย ที่โฟกัสการลงทุนในระดับ Seed/Pre-Series A ฉายภาพรวมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2020 ว่า Venture Capital (VC) หรือ Corporate Venture Capital (CVC) ส่วนใหญ่จะมุ่งโฟกัสไปที่ Startup ที่ได้ลงทุนไปแล้ว เพื่อช่วยให้ Startup เหล่านั้นอยู่รอดมากกว่าการมองหาการลงทุนใหม่ๆ

     ซึ่งเขายอมรับว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนที่บรรดา Startup ต่างๆ จะได้รับ เนื่องจากนักลงทุนจะระมัดระวังในการลงทุนมากกว่าเดิม เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น ภาพรวมของเศรษฐกิจที่ซบเซา กำลังการซื้อของผู้บริโภคหดหาย แต่ที่ต้องจับตามองคือ Regional VC จากสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือเวียดนาม ที่ส่วนใหญ่จะมาลงทุนในรอบ Series A ต่อจากกอง 500 TukTuks ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ Ecosystem ของ Startup ไทยจะกลับเข้ามาลงทุนต่อใน Startup ไทยหรือไม่





     “นักลงทุนจะระมัดระวังกว่าเดิม การลงทุนน้อยลง แต่คงไม่น้อยลงเยอะแบบหายไปเลยครึ่งหนึ่ง ที่น้อยลงจริงๆ คือ การลงทุนใน Seed Fund แล้วปกติ Seed Fund จะมี Angel Investor ช่วยเหลือสนับสนุน แต่เข้าใจว่าพอร์ตของ Angel Investor หลายคนน่าจะโดนผลกระทบไม่ใช่น้อย หลายคนเริ่มถอดใจ ซึ่ง Angel Investor ถือเป็นหัวใจสำคัญมากที่เข้ามาช่วย Startup ในช่วงเริ่มต้นที่ไม่มีใครกล้าเสี่ยง ฉะนั้น Startup ที่อยู่ในช่วง Early Stage จึงน่าเป็นห่วง และอาจจะต้องหันไปรับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่าง DEPA หรือ NIA มากขึ้น”

     ทั้งนี้ โดยปกติ Startup ที่อยู่ในช่วง Early Stage มักจะไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แต่ยังขาดทุนอยู่ด้วยซ้ำ ดังนั้น เมื่อเจอพิษจากโควิด-19 สถานการณ์จึงยิ่งแย่ ทำให้รันเวย์ที่เหลือพอจะหล่อเลี้ยงบริษัทจาก 10 เดือนอาจลดลงมาเหลือเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่ามี Startup บางทีมวิ่งออกไปหานักลงทุนเก่า เพื่อขอให้ช่วยหล่อเลี้ยงให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปก่อน แล้วค่อยรอเวลาที่จะกลับมาสร้างรายได้ใหม่อีกครั้ง

     “Early Stage ที่ยังไม่ได้รับการลงทุนจะตายกันเยอะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการลงทุน ส่วนกลุ่มที่ได้รับการลงทุนจะปลอดภัยมากกว่าเพราะเขามีนักลงทุนคอยช่วยเขา Startup ที่ผู้ก่อตั้งลงเงินเอง และยังขาดทุนอยู่ทุกเดือนจะหานักลงทุนค่อนข้างยาก ผู้ก่อตั้งจะต้องลงเงินเข้าไปเพิ่มเองหรือปล่อยให้เจ๊ง ซึ่งคิดว่า Startup จะเจอสถานการณ์แบบนี้ค่อนข้างเยอะ”


 
ต้องปรับตัวและมองหาโอกาส

     สำหรับ 500 TukTuks หลังจากเปิดตัวกองทุนกองแรก ได้เข้าไปลงทุนใน Startup 50 บริษัทภายใน 4 ปี ส่วนลงทุนกองที่ 2 มีการลงทุนใน Startup 20 บริษัท ดังนั้น ในพอร์ตการลงทุนทั้งหมดของ 500 TukTuks จึงมีอยู่ 72 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้ ปัณณ์ยอมรับว่ามีประมาณ 5-10 บริษัทที่โดนผลกระทบ โดยเป็น Startup ที่อยู่ในฝั่งอีเวนต์หรือท่องเที่ยว ที่ความสามารถในการสร้างรายได้เป็นศูนย์ ขณะที่อีกกลุ่มที่ทำธุรกิจออนไลน์ อี-คอมเมิร์ช โลจิสติกส์ ก็ไปได้ดี แถมบางบริษัทการเติบโตเป็นบวกด้วยซ้ำ    

     “ที่ผ่านมาเราไปช่วยเปิดดูงบกำไร-ขาดทุนว่า จะช่วยหารายได้จากไหน ลดต้นทุนตรงไหนได้บ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าเขาอยู่รอดได้ในช่วงนี้ พอรอดแล้วค่อนข้างมั่นใจว่ารายได้จะกลับมาถ้าทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งปัญหาอยู่ที่กระแสเงินสดมากกว่า ไม่ได้แปลว่าเขาทำธุรกิจไม่ดี แต่โดนปัจจัยภายนอกที่คาดไม่ถึง ทำให้เขาหารายได้ไม่ได้ในช่วงนี้ แต่ถ้าในไตรมาส 4 รายได้กลับมาก็หมดห่วง สำหรับ 500 TukTuks การลงทุนอาจจะช้าไปบ้าง แต่หวังว่าไตรมาส 4 น่าจะกลับมามากขึ้นเรื่อยๆ”

     กุญแจสำคัญของการเติบโตของ Startup คือ ความสามารถในการปรับตัว และการมองหาโอกาส ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในช่วงโควิด-19 Startup สามารถปรับตัวได้เร็ว แก้ปัญหาได้ตรงจุด มีการออกโปรดักต์และการบริการใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว





     “อยากให้ Startup ดูการเงินของบริษัทอย่างจริงจัง หลาย Startup ไม่มีคนดูการเงินในบริษัทเลย พอมาเจอวิกฤตยิ่งมีปัญหา ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเงินในบริษัทมีเท่าไหร่ อยากให้กลับมากางงบกำไร-ขาดทุนดู ขณะเดียวกัน Startup ต้องจัดการค่าใช้จ่ายด้วย ต้องทำให้บริษัทลีนให้มากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะหาเงินทุนได้เมื่อไหร่ ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจริงๆ อย่างออฟฟิศที่แฟนซีหน่อยไปอยู่ออฟฟิศที่ทำงานได้แต่ไม่หรูหรามากดีกว่าไหม ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อย่างเช่น มาร์เกตติ้ง ซึ่งแต่ก่อนอาจจะฟุ่มเฟือย ตอนนี้ต้องแน่ใจว่าถ้าลงเงินไปแล้วต้องคุ้มจริงๆ”

     แม้ช่วงโควิด-19 จะทำให้ Startup ประสบปัญหาหนักหนาสาหัส และในอนาคต Startup อาจจะต้องมีโปรดักต์หรือบริการ มีข้อมูลจากลูกค้าจริงๆ ให้นักลงทุนพิจารณาเพื่อสร้างความมั่นใจ แต่ปัณณ์เชื่อว่า อย่างน้อยก็เป็นโอกาสในอีกทางหนึ่ง ที่หาก Startup รายใดสามารถผ่านพ้นมาได้ ก็สามารถโชว์กับนักลงทุนได้เลยว่าได้ผ่านวิกฤตนี้มาได้แล้ว เพราะนั่นแสดงถึงความสามารถในการจัดการและปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ Startup ทุกคนควรมี 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup