Tech Startup

Telemedicine เมื่อหมอต้องรอคนไข้ ความจำเป็นที่มาถูกเวลาของ Doctor Raksa

Text : Ratchanee P. Photo : กิจจา อภิชนรจเรข
 



Main Idea
 
  • ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นเดือนที่มียอดผู้ใช้บริการแอปฯ Doctor Raksa สูงสุด คือโตถึง 300 เปอร์เซ็นต์ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มเติบโตของ Telemedicine ในอนาคต
 
  • ปิยดา ดลเฉลิมพรรค จะมาบอกเล่าถึงเทรนด์ Telemedicine และการมาที่ถูกจังหวะเวลาของ Doctor Raksa
 



     Doctor Raksa เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยีแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine มาช่วยให้ผู้ป่วยได้ปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา จึงเป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่คนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาตัวเองด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก
 

ธุรกิจที่เติบโตสวนกระแส

     “ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นเดือนที่มียอดผู้ใช้บริการแอปฯ Doctor Raksa สูงสุด เราโตประมาณ 300 เปอร์เซ็นต์” ปิยดา ดลเฉลิมพรรค ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดอกเตอร์ รักษา จำกัด ยืนยันถึงการเติบโตของ Doctor Raksa ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนอกจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังสามารถเปิดตลาดเข้าไปยังกลุ่ม Gen X ได้อีกด้วย

     “ก่อนหน้านี้ผู้ที่มาใช้บริการกับ Doctor Raksa ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Gen Y และ Gen Z แต่ช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ที่มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นคือกลุ่ม Gen X ซึ่งมีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ Gen Y หรือคนอายุ 30-40 ปีที่มาใช้บริการนั้น ไม่ได้เข้ามาเพื่อปรึกษาหมอให้กับตัวเอง แต่เป็นการปรึกษาให้พ่อแม่ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน นั่นก็เพราะว่าเขาไม่อยากไปโรงพยาบาล ลูกที่เป็นห่วงพ่อแม่ก็มาปรึกษาหมอมากขึ้น 10-20  เปอร์เซ็นต์”  





     ตัวเลขจำนวนผู้มาใช้บริการนี้สะท้อนให้เห็นว่า เทรนด์การใช้ Telemedicine ในอนาคตจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน โดยปิยดาเชื่อว่า จากที่หลายคนเคยมีคำถามในหัวว่า การพบกับหมอในลักษณะออนไลน์นี้ทำได้หรือไม่ หมอจะวินิจฉัยผ่านออนไลน์ได้หรือไม่ แต่เมื่อได้เริ่มเข้ามาใช้บริการ Doctor Raksa ก็จะพบว่า สามารถใช้งานได้ง่ายๆ และปรึกษากับหมอได้จริง
 

สถานการณ์เปลี่ยนพฤติกรรม

     “ต้องยอมรับโควิด-19 เป็นตัวผลักให้พฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไป จริงๆ Telemedicine เป็นเรื่องที่หลายคนพอจะรู้อยู่แล้ว แต่คิดว่าไม่จำเป็น ทีนี้พอเกิดโควิด-19 เราเห็นคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมหลายๆ อย่าง คนไทยตื่นตัวเรื่องการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อมากขึ้น การรักษาความสะอาด การล้างมือ กลายเป็นวิถีปกติไป
เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งว่าเมื่อก่อนเอะอะอะไรต้องไปโรงพยาบาล ไปคลินิก ต้องไปให้หมอตรวจ เดี๋ยวนี้น้อยลงถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากไปโรงพยาบาล บางคนเป็นเบาหวาน ความดัน ถ้าไม่มีอาการกำเริบหรืออะไร ขอไม่ไปดีกว่า ให้ลูกหลานไปเอายาแล้วกลับมาที่บ้านแทน”

     ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่ปิยดา และ จาเรน ซีว ได้นำ Telemedicine มาใช้บนแอปฯ Doctor Raksa ด้วยการเป็นตัวเชื่อมผู้ป่วยให้ได้พบหมอได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จากการเห็น Pain Point ที่ผู้ป่วยต้องรอพบหมอเพื่อทำการตรวจโรคและรับฟังคำวินิจฉัยจากหมอที่โรงพยาบาล จึงพัฒนา Doctor Raksa ขึ้นมาในฐานะผู้บริโภค ซึ่งทำให้เข้าใจความต้องการของผู้ป่วยดีว่าต้องการอะไร ดังนั้น สิ่งที่ทำให้ Doctor Raksa มีความแตกต่างจากแอปฯ ในลักษณะเดียวกันคือ การให้แพทย์เป็นฝ่ายรอผู้ป่วย แทนการให้ผู้ป่วยรอพบแพทย์เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป

 
เมื่อหมอต้องรอคนไข้

     “เราพัฒนา Doctor Raksa ในมุมมองของผู้ใช้งาน เรามองว่า ในฝั่งผู้ป่วยเขาไม่อยากรอ จะทำอย่างไรให้หมอมารอคนไข้ ซึ่งด้วยความเข้าใจในมุมมองของผู้ใช้งานจึงทำให้ Doctor Raksa ตอบโจทย์ผู้ป่วยได้ดีกว่า โดยเราจะคิดค่าปรึกษา 200 บาทต่อ 15 นาที คุณหมอจะเขียนใบสั่งยาให้ไปซื้อยาเอง ถ้าสมมติคุยกัน 15 นาทีแล้วเป็นโรคที่ไม่สามารถวินิจฉัยผ่านออนไลน์ได้ คุณหมอก็จะแนะนำให้ไปโรงพยาบาล”

     ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนกับ Doctor Raksa ถึง 400,000-500,000 คน มีจำนวนแพทย์มากกว่า 800 คน โดยในจำนวนนี้จะมีแพทย์มาประจำในออนไลน์เพื่อรอผู้ป่วยอยู่ในเวลาปกติประมาณ 100 คน และมีผู้เข้ารับการปรึกษาทาง การแพทย์จาก Doctor Raksa ไปแล้วป็นจำนวนมากกว่า 1 แสนครั้ง โดยโรค 3 อันดับแรกที่มีผู้เข้ามารับคำปรึกษาสูงสุด ได้แก่ 1.โรคผิวหนัง โรคทั่วไป 2.โรคเด็กทั่วไป 3.จิตเวช

     อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงโควิด-19 กราฟการใช้บริการของ Doctor Raksa จะพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่การบริการ เทคโนโลยี Telemedicine นี้จะเติบโตมากยิ่งขึ้น แต่ปิยดายังเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในช่วงวิกฤตที่คนไม่อยากออกจากบ้าน จึงเปิดอีกหนึ่งบริการใหม่ นั่นคือบริการการขายยาและสินค้าด้านเวชภัณฑ์ดิลิเวอรี เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเดินทางในช่วงโควิด-19 ซึ่งจะมียาสามัญประจำบ้าน เวชภัณฑ์ โดยจะจัดส่งให้ภายใน 1 ชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ





      ปิยดาบอกด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือ ความเข้าใจพฤติกรรม ลูกค้าเก่ามีพฤติกรรมอะไรเปลี่ยนแปลงไป ลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาเป็นคนประเภทไหน ต้องการอะไร จากนั้นต้องมองหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนั้น  

      “ข้อมูลที่มีช่วยเราได้เยอะในการที่จะคาดการณ์ว่าเทรนด์ต่อไปคืออะไร เช่น สมมติลูกค้าใหม่ที่เข้ามาเป็นกลุ่มเบาหวานเรื้อรัง ซึ่งที่เขาต้องการต่อไปคือ เรื่อง Digital Device ต่างๆ เช่น Apple ออก Smart Watch ที่สามารถเก็บข้อมูลสุขภาพเราก็ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์เราขึ้นมาเพื่อรองรับดึงข้อมูลให้หมอวินิจฉัยได้ ขณะเดียวกัน Telemedicine จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ทั้งกับคนที่ให้บริการและตัวผู้ป่วยเอง เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหาหมอก็รับฟังผลวินิจฉัยได้เร็วขึ้น แถมได้เว้นระยะห่าง ไม่ต้องเดินทางไกลให้เสี่ยงติดเชื้อโควิดอีกด้วย แม้ Telemedicine จะยังใหม่แต่เชื่อว่าคนไทยจะค่อยๆ ปรับตัวให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้ได้ในอนาคต” ปิยดากล่าวในตอนท้าย
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup