Tech Startup

แนวคิดการพลิกธุรกิจของ Eventpop ในวันที่งานเป็นศูนย์

Text : Ratchanee P. Photo : กิจจา อภิชนรจเรข
 



Main Idea
 
  • Eventpop เป็น Startupที่จัดงานอีเวนต์โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน แต่ในวันที่เจอโควิด-19เล่นงาน งานอีเวนต์หดหายจนไม่เหลือ Eventpop จะรับมืออย่างไร
 
  • แต่เชื่อหรือไม่ วิกฤติที่เกิดขึ้นกับการหาหนทางแก้ไขปัญหาในรายได้ที่รายได้เป็นศูนย์ กลับทำให้ Eventpop ได้ธุรกิจใหม่ขึ้นมา ที่ทำให้ในวันนี้ Eventpop กำลังอยู่ในจุดใหม่ที่ดีกว่าเดิม
 



     เป็น Startup แถวหน้าในการจัดงานอีเวนต์โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานแบบครบวงจร ตั้งแต่การจำหน่ายบัตร ลงทะเบียนเข้างาน ไปจนถึงการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด แต่ในช่วงวิกฤติที่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถจัดงานอีเวนต์ใดๆ ได้ Eventpop จะจัดการกับตัวเองและแก้ปัญหาอย่างไร?
 

มรสุมลูกใหญ่

     ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ CEO แห่ง Event Pop เล่าให้ทีม SME startup ว่า  Eventpop เริ่มจะเจอมรสุมตั้งแต่ต้นปีเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่เขาต้องรับโทรศัพท์ที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอยกเลิกงานที่คุยกันไว้เรียบร้อยแล้วแทบทุกวัน จนกระทั่งในเดือนเมษายนงานทั้งหมดก็ถูกยกเลิกร้อยเปอร์เซ็นต์   

     “เราโตประมาณเท่าตัวมาทุกปี แต่พอเดือนเมษายนที่ผ่านมาเราไม่มีงานเลย ลูกค้าเรา อีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์ เขาหยุดทำกิจกรรมไปเลย ดังนั้น เรามีแค่ 2 ทางเลือกคือ หยุดกิจการหรือปรับตัว ซึ่งในฐานะที่ธุรกิจเราอยู่ได้ด้วยเงินสด การหยุดกิจการจึงเป็นการเซฟเงินเอาไว้ให้ได้มากสุด เพื่อที่อย่างน้อยยังมีเงินสดเหลือไว้ใช้ตอนที่เรากลับมาเปิดบริษัทใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าทางเลือกทางที่สองคือ ปรับตัว แน่นอนว่าต้องเป็นธุรกิจที่เราถนัด ซึ่งถ้าไม่ใช่อีเวนต์ก็ต้องหาอะไรอื่นมาทำ”





     ภัทรพรตัดสินใจเลือกที่จะไม่หยุดเพราะยังมีพนักงานอีก 50 ชีวิตที่ต้องดูแล เมื่อออฟไลน์แน่นิ่ง แต่ออนไลน์ยังสามารถขับเคลื่อนได้ เขาจึงลองทำสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดง่ายที่สุด การจัดออนไลน์อีเวนต์ แต่ในช่วงจังหวะเวลานั้น บรรดาเอเยนซีผู้จัดงานอีเวนต์ต่าง Work from Home กันหมด ทำให้ออนไลน์อีเวนต์เป็นได้เพียงไอเดียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าอย่างน้อยก็เป็นการวางไข่ไปก่อนว่า ถ้าออนไลน์อีเวนต์ให้นึกถึง Eventpop แล้วลองหันมาจับตลาดอี-คอมเมิร์ซ โดยการโพสต์ขายหน้ากากอนามัย GQ บนเว็บไซต์ ซึ่งปรากฏว่าขายดีเกินความคาดหมาย   

     “เริ่มเห็นว่าทำไมเราต้องทำอีเวนต์อย่างเดียว จริงๆ แล้วทำอะไรก็ได้ที่หาเงินได้ เพราะเราต้องการอะไรมาปิดแผลให้เลือดไหลออกน้อยที่สุดเพื่อที่เราจะได้ตายช้าลง ทุกธุรกิจเหมือนกันหมดถ้ารายได้ไม่มีอย่างไรก็เจ๊ง แต่ว่าจะเจ๊งเร็วเจ๊งช้าอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นทำอะไรที่หาเงินได้ เราก็น่าจะทำ ก็เลยไปคิดเรื่องอี-คอมเมิร์ซ ถ้าจะปรับ Eventpop มาขายสินค้า ต้องปรับอะไรบ้าง”
 

จาก Event สู่ e-Commerce

     จุดพลิกของการขยับธุรกิจจากการทำอีเวนต์มาสู่การทำอี-คอมเมิร์ซจึงเกิดขึ้น ซึ่งภัทรพรอธิบายว่า ด้วยจุดแข็งของ Eventpop คือ ระบบหลังบ้านที่มีความเสถียร และสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ขณะที่อี-คอมเมิร์ซเป็นการซื้อของแบบมี Emotional กล่าวคือ เห็นสินค้าแล้วอยากซื้อ แต่ปัญหาเมื่อจะเช็กเอาต์กลับใช้เวลานาน เลยทำให้ลูกค้าหนีหายไป

     ดังนั้น เมื่อ Eventpop มีระบบการขายบัตรที่รองรับการซื้อคราวละจำนวนมากๆ ได้ ทำไมจึงไม่พลิกเอาจุดแข็งนั้นมาทำระบบอี-คอมเมิร์ซบนเว็บไซต์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงนำเสนอไอเดียนี้กับสิงห์ เกิดเป็นสิงห์ออนไลน์ช็อปบนเว็บไซต์ Eventpop ขึ้นมา และตามมาด้วยการจับมือกับเพนกวินกินชาบู ซึ่งด้วยโปรโมชันและพฤติกรรมการสั่งฟูดดิลิเวอรีที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ทางร้านได้รับออร์เดอร์เข้ามาอย่างถล่มทลาย  Eventpop จึงเข้าไปสนับสนุนระบบการขายสินค้าที่สามารถรองรับลูกค้าที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้าในเวลาเดียวกันกว่า 100,000 คน   

     ด้วยเหตุนี้ Eventpop ซึ่งเดิมเป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อ-ขายบัตรอีเวนต์ จึงปรับตัวการขยายตลาด โดยใช้เทคโนโลยีเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการเปิด Online Shopping และ Food & Drinks ขึ้นมา โดยภัทรพรบอกว่า เขามองภาพ Eventpop จากนี้ไปว่า คือการมีธุรกิจเล็กๆ หลายธุรกิจ แต่ธุรกิจเล็กๆ เหล่านั้นรวมกันเป็น 100  ดังนั้น ควบคู่ไปกับธุรกิจใหม่ที่ได้มาเพราะการปรับตัว ในอีกทางหนึ่งก็ยังคงเดินหน้าทำออนไลน์อีเวนต์ด้วย
 

เปลี่ยน Event ให้เป็น Experience

     “เราทำ Online Event แต่เรียกใหม่ว่า Online Experience เริ่มจาก Cooking Burgers with Taiki โดยเชฟไทกิ-รัตนพงศ์ ชูโบต้า ที่ร่วมเปิดครัวทำคราฟต์เบอร์เกอร์ผ่านออนไลน์ โดยทางเราจะจัดเตรียมวัตถุดิบส่งตรงถึงบ้านผู้ชมให้ได้ทำอาหารไปพร้อมๆ กัน ซึ่งประสบความสำเร็จมากเพราะเต็มทุกรอบ นอกจากนี้ ก็มี Eventpop x TheShock โปรเจกต์ร่วมระหว่าง The Shock รายการดังเรื่องผีและสิ่งลี้ลับ ซึ่งเราจะสร้างความแตกต่างคือ ผู้ชมทางบ้านสามารถสนทนา และมีปฏิสัมพันธ์กับทีมงานและอาสาสมัครที่ไปอยู่ในสถานที่จริงแบบ Real Time ได้”  





     ทั้งนี้ ภัทรพรเชื่อว่า Virtual Experience หรือประสบการณ์บนโลกเสมือนจะเป็นทางเลือกใหม่ในการดำเนินธุรกิจและปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ ฉะนั้นรูปแบบของอีเวนต์ถัดจากนี้จึงเป็นไฮบริดลูกผสมระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป
   
     “คือช่วงนี้ทุกอย่าง Virtual หมด Virtual Concert, Virtual Conference แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปดูว่าคุ้มทุนที่จะจัดหรือไม่ อย่าง Virtual Concert อาจจะต้องรอผู้บริโภคพร้อม ขณะที่ Virtual Conference ถ้าเป็นออนไลน์อย่างเดียวโดยเป็นงานที่มีกลุ่มเป้าหมายคือคนทั่วโลก ก็ถือว่าคุ้ม แต่ถ้าเป็นงานที่วางกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยก็อาจจะต้องดูว่าคนไทยยอมจ่ายขนาดไหน นอกจากนี้ ต้องดูจุดประสงค์ด้วยว่าคืออะไร เช่น ถ้าแบรนด์จัดงานเปิดตัวสินค้า จุดประสงค์คือ ต้องการให้คนเห็นเยอะที่สุด ฉะนั้นต้องเป็นไฮบริด ใช้ออฟไลน์พาลูกค้าไฮเอ็นด์มา ส่วนออนไลน์ก็เติมจำนวนคนดู”

     หลังจากที่วิ่งหนีตายเพื่อเอาตัวให้รอดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ถัดจากนี้ภัทรพรบอกว่า Eventpop กำลังย่อตัวก่อนกระโดด กล่าวคือ เป็นช่วงเวลาของการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพราะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมา นั่นคือ Online Shopping และ Food & Drinks ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีธุรกิจออนไลน์อีเวนต์ Virtual Concert, Virtual Conference อีกด้วย ดังนั้น เมื่อวิกฤตโควิด-19 ผ่านไปธุรกิจอีเวนต์กลับมาเช่นเดิม Eventpop จะอยู่ในจุดที่ดีกว่าเดิม เพราะมีทั้งธุรกิจเดิมที่เป็นจุดแข็งและธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมความแกร่งด้วย
              

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup