Tech Startup
พริษฐ์ วัชรสินธุ กับการปั้น “StartDee” EdTech ที่มาถูกที่ถูกเวลา
Main Idea
- ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีโมเดลธุรกิจต่างๆ ออกมากมายมาย รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนการสอนให้คนไทย ซึ่ง StartDee เพื่อให้เด็กสามารถมีการเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้น
- เราเลยพาไปคุยกับพริษฐ์ วัชรสินธุ ถึงแนวคิดทางการศึกษาและที่มาของ StartDee แอปฯ ด้านการศึกษาที่เข้าถึงง่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการศึกษาไทยในแบบ Next Normal
วิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาไม่ต่างจากภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษาต้องปิดการเรียนการสอนในห้องเรียน เลื่อนเปิดเทอมมาเป็นเดือนกรกฎาคมแต่ยังไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้เต็มรูปแบบเหมือนที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤตได้เกิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับ Startup ด้านการศึกษาหรือ EdTech ในการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนการสอนให้คนไทย ซึ่ง StartDee ก็เป็นหนึ่งในนั้น
พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ผู้ก่อตั้ง StartDee เล่าให้ทีมงาน SME Startup ฟังถึงแนวคิดทางการศึกษาและที่มาของ StartDee แอปฯ ด้านการศึกษาที่เข้าถึงง่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า
“วันที่เด็กลำบากที่สุดคือวันที่เขาไปโรงเรียนไม่ได้ เพราะโรงเรียนเป็นที่แรกในการเข้าถึงการเรียนการสอน วันที่เขาไปโรงเรียนหลังแรกไม่ได้ เราก็สร้างโรงเรียนหลังที่สองให้เขา” ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเขาแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการศึกษาไทยในแบบ Next Normal อีกด้วย
เมื่อโลกของการศึกษาเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่
StartDee เป็นแอปฯ ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ทุกวิชาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ ป. 1-ม.6 ครอบคลุม 7 วิชาหลัก เนื้อหาการนำเสนอจะมีทั้งรูปแบบวิดีโอ แบบฝึกหัด อินโฟกราฟฟิก อีกทั้งสามารถดูย้อนหลังได้ ช่วยให้สามารถทบทวนบทเรียนได้ด้วยตัวเองตามความต้องการได้อย่างไม่จำกัด
“เราออกแบบให้เหมือนกับเกมมากที่สุดคือเป็น Learning Journey เส้นทางการผจญภัย จากวิดีโอตัวแรกความยาวไม่เกิน 3 นาที ดูเสร็จแล้วมีคำถามเด้งขึ้นมา ถ้าตอบผิดกลับไปดูเนื้อหาใหม่ ถ้าตอบถูกดูต่อ แต่จะไม่มีวิดีโอไหนเกิน 10 นาที แล้วก็มีการเก็บเหรียญ เพื่อเอาไปตกแต่งตัวละคร คือเราสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้ง่ายและสนุก”
อันที่จริงพริษฐ์ เล่าว่า ไอเดียการพัฒนาแอปฯ StartDee เกิดขึ้นและเริ่มลงมือพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 เขาเล็งเห็นแล้วว่า อย่างไรเสียโควิด-19 จะต้องส่งผลกระทบต่อการศึกษาของไทยอย่างแน่นอน ทีมงานทุกคนจึงเร่งมือช่วยกันพัฒนา StartDee เพื่อให้ออกมาทันช่วงที่โรงเรียนเปิดเรียนไม่ได้ ดังนั้น StartDee จึงมาถูกจังหวะถูกเวลา
“ถ้าดูจากสถิตินักเรียนทั่วประเทศไทยกว่า 86 เปอร์เซ็นต์มีสมาร์ทโฟน ในกลุ่มที่รายได้น้อยเข้าถึงสมาร์ทโฟน 79 เปอร์เซ็นต์ และ 82 เปอร์เซ็นต์สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เราเลยอยากการทำการศึกษาที่ดีที่เข้าถึงได้ทุกคนผ่านมือถือ ซึ่งหลังจากที่เริ่มเห็นสถานการณ์โควิด-19 ผมบอกทุกคนที่บริษัทว่าเราจะเหนื่อยยิ่งขึ้นเพราะเด็กหลายคนจะพึ่งการเรียนผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยในช่วงแรกที่เปิดตัวเราเปิดให้เด็กๆ ใช้ฟรี 6 สัปดาห์ในช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอมไม่ได้”
Startup เพื่อสังคม
ถ้าจะอธิบายถึง StartDee ให้เข้าใจได้ง่าย พริษฐ์ บอกว่า StartDee ก็เปรียบเสมือน Netflix ของการศึกษาไทย มีค่าบริการรายเดือน เดือนละ 250 บาท ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณแล้วว่าคนส่วนมากสามารถเข้าถึงได้ ปัจจุบัน StartDee มียอดดาวน์โหลด 1.2 แสน
อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้น StartDee ถูกวางเป้าหมายไว้ชัดเจนว่าต้องการจะเป็น Startup เพื่อสังคม ดังนั้นในมุมของการทำธุรกิจจึงไม่ได้มองเรื่องผลกำไรเป็นเป้าหมายหลัก แต่อย่างไรก็ตามบริษัทก็ต้องอยู่ได้ด้วย การตั้งราคาที่ไม่สูงมากเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มชนทุกระดับชั้น แต่ในมุมของการทำธุรกิจบริษัทต้องอยู่ให้ได้ด้วย นั่นหมายถึงจำนวนผู้ใช้บริการต้องมากพอเพื่อหล่อเลี้ยงการเติบโตของบริษัท
“วันที่เราบอกตัวเองว่าเราจะเป็น startup เพื่อสังคม ผมจะถามตัวเองว่าอยู่เสมอว่า หนึ่ง.สร้างประโยชน์ให้กับเด็กได้ไหม สอง. จะอยู่รอดไหม ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องการกำไรเยอะ แต่ขอให้พออยู่รอดได้ และ สาม. วัฒนธรรมองค์กรน่าทำงานหรือไม่”
เมื่อถามถึงเป้าหมายพริษฐ์บอกว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดมี 2 แรงที่ชนกัน ในมุมหนึ่ง คนเปิดรับออนไลน์มากขึ้น คนเริ่มเห็นว่าช่องทางการเรียนเสริมออนไลน์มีประโยชน์มากขึ้นในยุคนี้ แต่อีกมุมคือกำลังจ่ายลดน้อยลง ด้วยสถานการณ์ศรษฐกิจเช่นนี้ รายได้ของครอบครัวหายไปเลย ต้องเลือกใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นที่สุด ดังนั้นถ้าถามถึงเป้าหมายในอนาคต เอาจริงพริษฐ์มองว่าค่อนข้างประเมินยาก เพราะเพิ่งเปิดตัวมาไม่นาน แต่กระนั้นก็เป็นสัจธรรมของ Startup อยู่แล้วว่าแม้จะวางแผนล่วงหน้าเอาไว้ แต่ถ้า 2-3 เดือนแรกไม่เป็นไปตามเป้าก็ต้องปรับตัวให้เร็ว
แม้วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเริ่มคลี่คลายลง นักเรียนเริ่มกลับไปโรงเรียน แต่สิ่งที่ได้จากวิกฤตครั้งนี้ คือการเอาชนะข้อจำกัดที่มีด้วยเทคโนโลยี ที่เชื่อว่า EdTech จะเป็นคำตอบของ New Normal ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทยง่ายขึ้นสะดวกขึ้น
ในตอนท้ายของบทสนทนา พริษฐ์บอกว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีจะไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟื่อย แต่แป็นสินค้าจำเป็นที่ทุกคนเข้าถึงได้ ฉะนั้น จึงต้องพยายามทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันสิ่งที่ได้จากโควิด-19 คือครูเปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น เริ่มเห็นบทบาทของเทคโนโลยีในการศึกษาไทยมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีสามารถเอามาเสริมเป็นช่องทางการเรียนออนไลน์ในโรงเรียนที่ครูไม่เพียงพอ หรือนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบการเรียนการสอน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup