Tech Startup
หนีตลาด Red Ocean สตาร์ทอัพมาเลย์ผุด Meal Kits พรีเมี่ยมแพงกว่า 5 เท่า ทำไมถึงแข่งได้
Main Idea
- หลายปีที่ผ่านมา มี Startup มาเลเซียจำนวนหนึ่งพยายามปลุกปั้นธุรกิจ meal kits แต่หลายรายไปไม่รอดและบางรายต้องปรับตัวโดยการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ที่อยู่ยงคงกระพันและยังดำเนินธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้มีไม่กี่แบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ Chef’ Up ที่ติดตลาดและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคแล้ว
- อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นธุรกิจที่จัดว่าปราบเซียน แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ดาหน้าเข้ามาลองตลาดอยู่เรื่อยๆ รายล่าสุดได้แก่ BoxAhead ที่ขายชุดอาหารพร้อมปรุงในราคาแพงกว่าคู่แข่งถึง 5 เท่าตัว
- หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า meal kits ไม่ใช่อาหารพร้อมรับประทาน ลูกค้าซื้อไปแล้วยังต้องเสียเวลามาเข้าครัวปรุงเอง กับราคาที่สูงลิ่วขนาดนั้น มีเหตุผลอะไรที่ลูกค้าสมควรต้องจ่ายให้ ไปสำรวจความคิดของผู้บริหาร BoxAhead กัน
คงต้องยอมรับว่าธุรกิจที่มาแรงสุดช่วงวิกฤติโควิดคือ food delivery หรือบริการสั่งอาหารออนไลน์และจัดส่งถึงประตูบ้าน ในขณะที่อาหารพร้อมรับประทานเป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงสุดในหมวด food delivery แต่อีกธุรกิจหนึ่งที่ตลาดอาจจะไม่หวือหวานักแต่ก็เติบโตอย่างเงียบ ๆ ได้แก่ บริการจัดส่งอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง หรือ meal kits ให้กับผู้บริโภคกลุ่มที่ยังต้องการเข้าครัวลงมือปรุงเองอยู่ ซึ่งบริการนี้โดยมากริเริ่มโดย Startup และมีหลายบริษัทที่ไปได้สวย ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนจนสามารถนำพาองค์กรเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ยกตัวอย่างบริษัท Blue Apron ของอเมริกา เป็นต้น
Meal Kits ตลาดปราบเซียน
สำหรับมาเลเซียหลายปีที่ผ่านมา มี Startup จำนวนหนึ่งพยายามปลุกปั้นธุรกิจ meal kits แต่หลายรายไปไม่รอด และบางรายต้องปรับตัวโดยการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เจ้าที่อยู่ยงคงกระพันและยังดำเนินธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้มีไม่กี่แบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ Chef’ Up ที่ติดตลาดและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นธุรกิจที่จัดว่าปราบเซียน แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ดาหน้าเข้ามาลองตลาดอยู่เรื่อย ๆ รายล่าสุดได้แก่ BoxAhead
อย่างที่ทราบกัน รูปแบบของ meal kits คือการนำเสนอสูตรอาหารพร้อมวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่จัดสรรตามสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วส่งให้กับลูกค้า โดยจะมีหลากหลายเมนูให้เลือก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ชอบทำอาหารแต่ไม่มีเวลาออกไปเลือกซื้อวัตถุดิบ กับกลุ่มที่ต้องการฝึกทำอาหารแต่ไม่ต้องการขนซื้อเครื่องปรุงทุกอย่าง การใช้บริการ meal kits จึงตอบโจทย์ในแง่ความสะดวก และลงทุนน้อยกว่า
ในขณะที่ Chef’ Up จำหน่าย meal kits เฉลี่ยชุดละ 20 ริงกิต (ราว 150 บาท) ต่อคน แต่ BoxAhead กลับตั้งราคาแพงกว่ามากถึง 5 เท่าตัว บางเมนูจำหน่ายที่ชุดละ 124.90 ริงกิตหรือประมาณ 930 บาทก็มี หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า meal kits ไม่ใช่อาหารพร้อมรับประทาน ลูกค้าซื้อไปแล้วยังต้องเสียเวลามาเข้าครัวปรุงเอง กับราคาที่สูงลิ่วขนาดนั้น มีเหตุผลอะไรที่ลูกค้าสมควรต้องจ่าย
เกี่ยวกับประเด็นนี้ จุน กิต และ จูน ลิม ผู้ร่วมก่อตั้ง BoxAhead เปิดเผยว่านับตั้งแต่เปิดตัวธุรกิจนี้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพียงระยะเวลาแค่เดือนกว่าๆ พวกเขาสามารถทำยอดขายได้อย่างน่าสนใจ สิ่งที่แตกต่างระหว่าง BoxAhead กับ Chef’ Up คือสูตรอาหาร และวัตถุดิบ ในขณะที่ Chef’ Up นำเสนอเมนูพื้น ๆ ทำไม่ยากแก่ลูกค้า อาทิ พาสต้า และไก่กังเปา (ไก่ผัดถั่วลิสง อาหารเสฉวน)
แต่สำหรับ BoxAhead ได้ฉีกแนวออกไปด้วยการจำหน่ายสเต็กที่ทำจากวัตถุดิบราคาสูง อาทิ ริบอายสเต็กเนื้อวากิว ราคา 124.90 ริงกิตสำหรับ 1 คน และ 213 ริงกิตสำหรับ 2 คน สตริปลอยด์สเต็กจากออสเตรเลีย ราคา 72 ริงกิตต่อคน และ 120 ริงกิตต่อ 2 คน และสเต็กปลาหิมะ ราคา 83.90 ริงกิตต่อคน และ 159 ริงกิตสำหรับแพคคู่ เป็นต้น
มูลค่าที่มากจากการสร้างประสบการณ์ใหม่
ในราคาที่ค่อนข้างสูงเช่นนั้น จึงเกิดคำถามว่าไม่ง่ายกว่าหรือที่จะเข้าร้านสเต็กแล้วสั่งมาทาน จะได้ไม่เสี่ยงต่อการทำให้เนื้อราคาแพงเสียหายหรือทานไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้ง BoxAhead ชี้แจงว่ากลุ่มลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของพวกเขาไม่ได้มองแค่อาหารมาเติมเต็มกระเพาะ แต่นี่เป็นการเน้นขายประสบการณ์มากกว่าตัวผลิตภัณฑ์ และไม่ใช่แค่เรื่องการทำอาหารอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความรู้สึกรื่นรมย์ที่ได้ทานอาหารที่ปรุงโดยฝีมือของตัวเอง ของผู้เป็นที่รัก หรือสมาชิกในครอบครัว
จุน กิต ผู้บริหาร BoxAhead ให้สัมภาษณ์ว่าแนวคิดในการเปิดธุรกิจ meal kits คือการแก้ปัญหาให้ลูกค้า เช่น การไม่รู้จักวัตถุดิบ ใช้งานไม่เป็น หรือไม่รู้แหล่งซื้อ ซึ่งทาง BoxAhead จะจัดหาให้สำหรับพอดีต่อการใช้งานในแต่ละครั้ง นอกจากนั้น ยังช่วยให้ลูกค้าประหยัดกว่ากว้านซื้อเครื่องปรุงบางอย่างที่ไม่ได้ใช้บ่อยมาเก็บไว้เพราะอย่างไรแล้ว สเต็กก็ไม่ใช่อาหารจานหลักของชาวมาเลเซีย การซื้อซอสขวดใหญ่ราคาแพง หากใช้ไม่ทันจนหมดอายุ ก็ทำให้สูญเปล่า การเสาะแสวงหาวัตถุดิบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ BoxAhead เนื่องจากหุ้นส่วนคนหนึ่งเป็นเชฟ อีกคนชำนาญด้านการหาแหล่งซื้อวัตถุดิบ
ในการจัดส่งสินค้า BoxAhead มีรถบรรทุกห้องเย็นสำหรับจัดส่งโดยเฉพาะหรือไม่ก็ใช้บริการจากบริษัทขนส่งอื่นหากจำเป็นโดยคิดค่าจัดส่งไม่แพง นอกจากนำเสนอ meal kits ราคาพรีเมี่ยมแล้ว BoxAhead ยังมีบริการให้เช่าอุปกรณ์หรือเครื่องครัวสำหรับใช้กับเมนูนั้นๆ อีกด้วยสำหรับลูกค้าที่ไม่มีอุปกรณ์ โดยสนนราคาค่าเช่าอยู่ที่ 15 ริงกิต หรือประมาณ 110 บาทต่อครั้ง
ทีมผู้บริหาร BoxAhead เผยเกี่ยวกับแผนระยะยาวว่าต้องการผลักดันผลิตภัณฑ์ meal kits ของพวกเขาให้วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจว่าพวกเขาจะใช้กลยุทธ์อะไร โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อที่ลูกค้าส่วนใหญ่เข้ามาเพื่อซื้ออาหารพร้อมรับประทาน ไม่ใช่อาหารที่ต้องกลับไปปรุงเอง แต่ในขณะนี้ สิ่งที่ทีมงานกำลังทำคือการพัฒนาสูตรอาหารเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้าที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น อาทิ เมนูที่ราคาไม่สูงมาก เช่น เมนูไก่ หรือพาสต้า
ที่มา : https://vulcanpost.com/705345/boxahead-malaysia-meal-kit-delivery-premium-steaks/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup