Tech Startup

AgTech ญี่ปุ่นพลิกฟื้นเกษตรแนวดิ่ง แห่แปรโรงงานร้างเป็นโรงงานผัก

Text : Vim Viva
 


 
Main Idea
 
  • การทำฟาร์มเกษตรแนวดิ่ง เป็นการเกษตรรูปแบบใหม่ที่ถูกพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา ที่จะช่วยลดการใช้พื้นที่ดิน แรงงาน น้ำ และปุ๋ย
 
  • ดูเหมือนว่าการจัดการฟาร์มเกษตรแนวดิ่งอาจไม่ได้ง่ายมีเงื่อนไขหรือรายละเอียดที่เยอะมากจนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน
 
  • ล่าสุด บรรดา AgTech หรือ Startup ด้านการเกษตรของญี่ปุ่นกำลังหวนกลับมาให้ความสนใจธุรกิจฟาร์มเกษตรแนวดิ่งอีกครั้ง ไปดูกันว่าปัจจัยใดที่ทำให้พวกเขาอยู่รอด 


 
1

     ทศวรรษที่ผ่านมา ในประเทศญี่ปุ่นมีการพูดถึงรูปแบบการทำฟาร์มเกษตรแนวดิ่ง ที่จะช่วยลดการใช้พื้นที่ดิน แรงงาน น้ำ และปุ๋ย ทำให้เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมากในกลุ่มเกษตรกร เนื่องด้วยการทำเกษตรในรูปแบบนี้มีข้อดีคือสามารถปลูกที่ไหนก็ได้ ทำให้ย่นระยะเวลาในการขนส่ง แถมยังปลูกได้ทุกฤดูกาลไม่เกี่ยงสภาพดินฟ้าอากาศ แม้ข้อดีจะมีมากมายขนาดนั้น แต่เมื่อเข้ามาจับธุรกิจนี้จริงๆ ผู้ดำเนินธุรกิจฟาร์มเกษตรแนวดิ่งโดยส่วนใหญ่กลับขาดทุน

     โรงงาน Keihanna ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ห่างจากเมืองนาราไปทางเหนือของเมืองหลวงเก่าเกียวโตไม่กี่ไมล์ ถ้าดูจากสายตาแล้ว Keihanna ก็เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว โรงงานแห่งนี้เป็นสถานที่เพาะปลูกผักกาดหอมหลากหลายสายพันธุ์ และไม่ใช่โรงงานพื้นๆ ธรรมดาเพราะภายในโรงงานซึ่งแทบปลอดเชื้อนี้ประกอบด้วย “แขนกล” ใช้หยอดเมล็ดพันธุ์ผักลงในแปลงปลูกโดยมีแสงแอลอีดีช่วยสังเคราะห์แทนแสงแดดธรรมชาติ และสามารถสร้างผลผลิตได้มากสุดคือผักกาดหอม 30,000 ต้นต่อวัน

     โรงงาน Keihanna ซึ่งเป็นของบริษัทสเปรด (SPREAD) จัดเป็นหนึ่งใน vertical farm หรือการเกษตรแบบแนวดิ่งที่ทันสมัยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง การเกษตรแบบแนวดิ่งที่เพาะปลูกโดยไม่ใช้ดินนี้เป็นแนวคิดที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศที่ขาดแคลนทั้งที่พื้นที่และแรงงานอย่างญี่ปุ่น ชินจิ อินาดะ ผู้บริหารสเปรด เผยว่าทางโรงงานเริ่มปลูกผักปริมาณมากในปี 2007 และอีก 6 ปีต่อมาก็อยู่ในภาวะทำกำไร Keihanna อาจจะเป็นฟาร์มเกษตรแนวดิ่งขนาดใหญ่เจ้าเดียวที่ทำกำไร และตอนนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะเติบโตในตลาดอย่างกว้างขวาง

 
2
 
     หลายทศวรรษก่อนหน้านั้น บรรดาคนที่ทำฟาร์มเกษตรแนวดิ่งได้โหมโฆษณาเกี่ยวกับศักยภาพของการเกษตรแบบนี้ รวมถึงประโยชน์จากการลดการใช้พื้นที่ดิน แรงงาน น้ำ และปุ๋ย นอกจากนั้น ยังชูข้อดีว่าสามารถปลูกที่ไหนก็ได้ ทำให้ย่นระยะเวลาในการขนส่ง แถมยังปลูกได้ทุกฤดูกาลไม่เกี่ยงสภาพดินฟ้าอากาศ แม้ข้อดีจะมีมากมายขนาดนั้น แต่เมื่อเข้ามาจับธุรกิจนี้จริงๆ ผู้ดำเนินธุรกิจฟาร์มเกษตรแนวดิ่งโดยส่วนใหญ่กลับขาดทุนเนื่องจากต้องลงทุนสูงในด้านอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ และแสงอาทิตย์ประดิษฐ์เมื่อเทียบกับการปลูกพืชบนดิน ใช้แสงธรรมชาติในเรือนกระจก

     มาถึงขณะนี้ บริษัทต่างๆ และ Ag Tech หรือ Startup ด้านการเกษตรกำลังหวนกลับมาให้ความสนใจธุรกิจฟาร์มเกษตรแนวดิ่ง ยกตัวอย่างบริษัทสเปรดที่กล่าวมา และบริษัทเพลนตี้ Startup อเมริกาที่ได้รับเงินอุดหนุน 200 ล้านดอลลาร์จากบริษัทอเมซอน และบริษัทซอฟต์แบงค์ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการประสบคือความยากในการทำให้ธุรกิจเข้าสู่จุดคุ้มทุนหรือทำกำไรเนื่องเพราะต้นทุนที่สูง

 
3

     เคนจิ โอมาสะ ประธานสถาบันการเกษตรญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ว่าแม้ระยะหลังราคาหลอดไฟแอลอีดีจะลดลงแล้ว แต่หลายบริษัทเข้ามาจับธุรกิจเกษตรแนวดิ่งเพียงเพราะต้องการใช้ประโยชน์จากโรงงานที่ทิ้งร้างมักไปไม่รอดเนื่องจากต้นทุนด้านอื่นๆ ยังสูงมาก เช่น ค่าแรง และอุปกรณ์ทั้งหลายก็ใช้งบไปประมาณ 1 ใน 3 ของงบทั้งหมด เว้นเสียแต่จะมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้

     ยกตัวอย่าง บริษัทเอ-พลัส Startup ที่สร้างโรงงานในจังหวัดฟูกุชิมาโดยใช้เทคโนโลยีดัดแปลงจากโรงงานผลิตเซมิคอนดัคเตอร์และชิ้นส่วนรถยนต์ นอกจากผลิตผักกาดหอมได้วันละ 20,000 ต้นแล้วยังสามารถลดการใช้แรงงานจาก 100 คนลงเหลือเพียง 20 คนเท่านั้น โทรุ นูมากามิ ผู้ก่อตั้งบริษัทยอมรับว่าหากไม่ได้เงินอุดหนุนจากที่ต่างๆ ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่ธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้  

     ข้อมูลระบุราว 60 เปอร์เซนต์ของผู้ประกอบการเกษตรแนวดิ่งไม่อยู่ในสถานะทำกำไร และบริษัทที่ทำกำไร ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือไม่ก็จำหน่ายผลผลิตในราคาที่สูงมาก โดยแพงกว่าผักทั่วไป 20-30 เปอร์เซนต์ แต่สเปรดเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่นอกจากคืนทุนแล้วยังทำกำไรจากธุรกิจเกษตรแนวดิ่งโดยสามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ถูกพอๆ กับผักที่ปลูกแบบดั้งเดิม

     สิ่งที่ทำให้สเปรดประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ประกอบด้วยหลายปัจจัย ดังนี้

     1.การกำหนดสินค้าราคาเดียว ผู้บริหารสเปรดกล่าวว่าที่ทำเช่นนั้นได้เพราะบริษัทสามารถปลูกผักได้ในปริมาณที่สม่ำเสมอตลอดทั้งปีโดยที่สภาพอากาศหรือสิ่งแวดล้อมไม่มีผลกระทบ อีกทั้งผลผลิตที่ได้ก็คุณภาพดี เป็นผักปลอดเคมีและยาฆ่าแมลง ทั้งนี้ โรงงาน Keihanna ของสเปรดในปัจจุบัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้วันละ 30,000 ต้น อินาดะซึ่งเป็นผู้บริหารสเปรดคาดหวังว่าโรงงานแห่งใหม่ของบริษัทชื่อ Techno Farm จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าเท่าตัว โดยสามารถผลิตผักกาดหอมรวมแล้วเกือบ 11 ล้านต้น และทำรายได้ 1,000 ล้านเยนต่อปี  

     2.การนำเทคโนโลยีมาใช้ โรงงาน Techno Farm แห่งใหม่ที่เตรียมเปิดดำเนินการจะเป็นช่วยเพิ่มผลิตผลได้มากขึ้นกว่าเท่าตัว เทียบกับโรงงานเดิมที่ปลูกผักกาดหอมได้  300 ต้นต่อตารางเมตร แต่ Techno Farm สามารถผลิตได้ 648 ต้นในพื้นที่เท่ากัน ทั้งยังใช้น้ำเพียง 110 มิลลิลิตรต่อต้น หรือแค่ 1 เปอร์เซนต์ของผักที่ปลูกแบบใช้ดิน ขณะที่หลอดแอลอีดีรุ่นใหม่ที่สั่งออกแบบมาเฉพาะก็ทำให้ประหยัดไฟฟ้าลง 30 เปอร์เซนต์   

     และนี่ก็คือกลยุทธ์บางส่วนที่สเปรดนำมาใช้เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ และผลิตผลที่ได้ก็ป้อนเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น แต่ความเป็นจริงแล้ว บริษัทใหญ่ๆ ที่ทำเกษตรแนวดิ่งในประเทศต่างคาดหวังจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศผ่านการหาพันธมิตรทางธุรกิจโดยเฉพาะในประเทศที่ค่อนข้างขาดแคลนน้ำเนื่องจากเทคโนโลยีการปลูกผักแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมาก อย่างสเปรดเองก็หาหุ้นส่วนได้แล้วในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากการทำเกษตรแนวดิ่งต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าที่ใช้กับหลอดแอลอีดี หากในอนาคตสามารถปรับมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ก็จะเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบขึ้น
  

     ที่มา : www.ozy.com
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup