Tech Startup
ฉีกกฏ Food Delivery! WhyQ แจ้งเกิดด้วยกลยุทธ์อาหารไม่แพงและค่าส่งสุดถูก
Main Idea
- ในขณะที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ดูเหมือนจะมีอยู่ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับอานิสงค์จากวิกฤตครั้งนี้จนทำให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเสนอตัวอยู่มากมาย ธุรกิจที่ว่าคือ food delivery
- แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่เฉพาะที่ไทย แต่ที่สิงคโปร์เองก็มีเกี่ยวกับประเด็นที่แอปฯ ส่งอาหารหักค่าธรรมเนียมจากคนขายสูงถึง 30-40 เปอร์เซนต์ ทำให้ร้านอาหารโดยเฉพาะร้าน hawker ซึ่งเป็นร้านในศูนย์อาหารประจำชุมชนที่ขายไม่แพงอยู่แล้วได้กำไรน้อยลง
การเข้ามาของ WhyQ ถือว่าช่วยแก้ปัญหาได้มาก ไปดูกันว่า Tech Startup ที่ให้บริการส่งอาหารรายนี้ใช้กลยุทธ์อะไรจึงได้รับการตอบรับดี ทั้งยังถูกยกย่องว่าเป็นฮีโร่ของร้านอาหารรายเล็กอีกด้วย
WhyQ เป็น Startup ที่ให้บริการจัดส่งอาหารได้ร่วมกับ FairPrice ซึ่งทำธุรกิจศูนย์อาหารหลายแห่งในสิงคโปร์ได้จับมือเป็นพันธมิตรเปิดแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ใหม่ภายใต้ชื่อ Marketplace@WhyQ เริ่มให้บริการไปเมื่อ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา
WhyQ ให้บริการแตกต่างจาก food delivery เจ้าอื่นตรงที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมหรือหักค่าใช้จ่ายใดๆ กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการแม้แต่น้อย แต่ใช้วิธีบวกเพิ่ม 6 เปอร์เซนต์ในค่าอาหาร และคิดค่าจัดส่งตามระยะทางโดยลูกค้าที่สั่งอาหารเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ทำให้มีร้านอาหารทั่วไป และร้านใน hawker เข้าร่วมราว 100 ร้าน แต่ละร้านสามารถเลือกว่าจะส่งสินค้าเองหรือจะให้ทาง WhyQ จัดส่งให้ก็ได้ นี่ถือเป็นโครงการการให้ความช่วยเหลือบรรดาร้านอาหารให้มีกำไรเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ทำกำไรน้อยอยู่แล้ว
รูปแบบการให้บริการของ WhyQ เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นฮีโร่ของบรรดาร้านอาหาร hawker ภาพจำดังกล่าวมาจากจุดยืนของ WhyQ ตั้งแต่เปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2017 ที่เน้นบริการส่งอาหารจากร้านตาม hawker โดยคิดค่าส่งเพียง 1.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ซึ่งว่าถูกกว่าทุกเจ้าที่มีบริการในตลาด ยังผลให้ WhyQ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
จุดกำเนิด WhyQ
เริ่มต้นจากความช่างสังเกตของริชาบห์ สิงห์วี หนุ่มอินเดียจากเมืองโกลกาต้าวัย 30 ปี ย้อนหลังไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ริชาบห์เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย SMU (Singapore Management University) ด้านระบบสารสนเทศด้านการเงิน การอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ทำให้เขาคุ้นเคยกับร้านอาหารราคาย่อมเยาตาม hawker ต่างๆ
ช่วงฝึกงานที่เจ.พี. มอร์แกน วาณิชธนกิจชื่อดัง หน้าที่หนึ่งที่นักศึกษาฝึกงานได้รับมอบหมายให้ทำคือการออกไปซื้ออาหารกลางวันที่ hawker ให้พนักงานในออฟฟิศ 20-30 คน
สิ่งที่ริชาบห์สังเกตเห็นคือผู้คนชมชอบอาหารจากร้านใน hawker เนื่องจากอร่อย ราคาไม่แพง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้บางร้านที่เป็นที่นิยมมากๆ ลูกค้าก็ยอมต่อแถวยาว เขาคิดว่าหากมีบริการสั่งและส่งอาหารจากร้านใน hawker โดยตรง เพื่อแลกกับการไม่ต้องเสียเวลาต่อแถว คนส่วนใหญ่ที่ชอบอาหารจากร้านสไตล์โรงอาหารน่าจะยินดีจ่ายเพิ่มถ้าค่าบริการไม่แพงจนเกินไปนัก
ในช่วงนั้น บริการ food delivery ที่มีอยู่ ส่วนใหญ่เน้นร้านอาหารทั่วไปหรือคาเฟ่ แต่ร้านตาม hawker กลับไม่ค่อยมีบริการ food delivery ริชาบห์ทำการศึกษาข้อมูลและพบว่าทั่วเกาะสิงคโปร์มีร้านอาหารราว 15,000 ร้านตั้งอยู่ในศูนย์อาหารชุมชนหรือ hawker จำนวน 114 แห่ง ร้านอาหารใน hawker เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มียอดขายสูงถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี และเป็นตลาดที่ผู้ให้บริการ food delivery น้อยรายให้ความสนใจ
ริชาบห์เกิดแนวคิดจะสร้างแพลตฟอร์ม food delivery เพื่อเจาะตลาด hawker โดยเฉพาะ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักพบเจอจากบริการส่งอาหารคือ 1 ต้องมียอดขั้นต่ำในการสั่ง และ 2 ค่าส่งบางทีเกือบๆ เท่าค่าอาหาร ริชาบห์จึงชักชวนวารุณ ซาราฟ เพื่อนที่เรียน SMU ด้วยกันมาพัฒนาแอปพลิเคชันโดยลงขันรวมกันเบื้องต้น 100,000 ดอลลาร์ พวกเขาทำการสำรวจความเห็นผู้บริโภคเกี่ยวกับอัตราค่าส่งอาหารระหว่าง 1 กับ 2 ดอลลาร์ พบว่าคนส่วนใหญ่ยินดีจ่ายที่ 1.50 ดอลลาร์
ท้ายที่สุด แอปพลิเคชั่นให้บริการสั่งอาหารออนไลน์และจัดส่งถึงที่ในชื่อ WhyQ ที่มาจากความหมายว่า ทำไมต้องรอคิว ก็แจ้งเกิดจากจุดเด่น 2 ข้อคือ เน้นร้านอาหารใน hawker ที่ราคาไม่แพง ไม่กำหนดขั้นต่ำในการสั่ง และค่าจัดส่งคิดอัตราเดียวคือ 1.50 ดอลลาร์ หลายคนสงสัยว่าค่าส่งแสนถูกเช่นนั้น ทำให้ WhyQ อยู่รอดได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะบริษัทเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารล่วงหน้าได้ทั้งสัปดาห์ ทำให้สามารถสามารถส่งทีละหลายออร์เดอร์ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้
ปีถัดมา WhyQ ได้เริ่มระดมทุนจากนักลงทุนอิสระ และมีเงินสนับสนุนเข้ามาก้อนแรก 150,000 ดอลลาร์ พร้อม กับการบอกกันปากต่อปาก ทำให้ร้านค้าใน hawker เริ่มมั่นใจและเข้าร่วมระบบ WhyQ มากขึ้น เนื่องจากร้านอาหารเหล่านี้มาจากหลากหลายวัฒนธรรม ทำให้แต่ละร้านมีเรื่องเล่า มีตำนานของตัวเอง WhyQ จึงทำโครงการ #HawkersOfSG นำเสนอเรื่องราวที่มาที่ไปของร้านอาหารต่างๆ ใน hawker ในแบบที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อนเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้า ยกตัวอย่าง เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ร้านที่เจ้าของร้านเคยอยู่กับไลฟ์สไตล์ชอบขับบิ๊กไบค์ฮาร์เลย์ เดวิดสัน แต่ภายหลังต้องขายรถเพื่อนำทุนมาเปิดร้านขายข้าวใน hawker หรือร้านของอดีตพนักงานเอเจนซีโฆษณาที่เจอพิษเศรษฐกิจแล้วผันมาขายอาหาร เป็นต้น
ปี 2018 WhyQ ก็สามารถระดมทุนได้อีก 1.2 ล้านดอลลาร์ จนถึงปลายปี 2019 มีร้านค้ากว่า 2,200 ร้านจาก 35 ศูนย์อาหารร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ WhyQ และลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้บริการมีจำนวน 200,000 ราย สร้างรายได้ให้บริษัทปีละ 9 ล้านดอลลาร์ ถือเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ขณะที่ริชาบห์ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นฮีโร่ก้าวเข้ามาช่วยเหลือให้ร้านเล็กๆ ในศูนย์อาหารชุมชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากบริการ food delivery
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup