Tech Startup

ส่อง 3 Startup ดาวรุ่ง Meal Kits ที่พลิกธุรกิจจากฟุบเป็นฟื้นช่วงกักตัวหนีโควิด

Text : วิม วิมาลี


 

Main Idea
 
 
  • ในขณะที่ Tech Startup หลายราย ไม่ว่าอูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี หรือทินเดอร์ต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด แต่บริษัทที่รับอานิสงส์ไปเต็มๆ กลับเป็นบริษัทที่บริการจัดส่ง meal kits
 
  • มีรายงานว่าในไตรมาสแรกของปี 2020 ความต้องการชุด meal kits ในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 68.1 เปอร์เซนต์  4.18 ล้านราย และส่งผลให้ตลาดเติบโต 66.4 เปอร์เซนต์ คิดเป็นมูลค่า 699.1 ล้านยูโร ขณะที่ในตลาดสหรัฐฯ ธุรกิจ meal kits ก็ขยายตัว ยอดการจัดส่งอาหารพุ่ง 90.3 เปอร์เซนต์เป็น 61.3 ล้านคำสั่งซื้อ
 
  • ไปสำรวจกันว่า 3  Startup ดาวรุ่ง ได้แก่ HelloFresh, Blue Apron และ Splendid Spoon ธุรกิจเติบโตแค่ไหน และทั้งสามแบรนด์งัดกลยุทธ์การตลาดอะไรมาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย 



     การระบาดของโควิด-19 อันนำไปสู่มาตรการรักษาระยะห่างและกักตัวอยู่ที่บ้านของประชาชนในหลายประเทศแม้จะกระทบต่อหลายๆ ธุรกิจ ทว่ามีธุรกิจหนึ่งที่นอกจากไม่ได้รับผลกระทบแถมยังเติบโตทำรายได้ดีคือบริการจัดส่ง meal kits หรือชุดอาหารพร้อมปรุงถึงบ้าน สืบเนื่องมาจากผู้คนต้องกักตุนอาหาร ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านโกรเซอรีที่ขายของชำมีคนไปจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก


     สำหรับคนที่ไม่สะดวกจะออกไปชิงไหวชิงพริบตามชั้นจำหน่ายสินค้า จึงหันหาทางเลือกอื่น ได้แก่ บริการจัดส่ง meal kits หรือแม้กระทั่งคนที่เริ่มหัดทำอาหาร การสั่งซื้อชุดอาหารพร้อมปรุงที่ตระเตรียมวัตถุดิบต่างๆ ให้พร้อมก็ดูจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เลว จึงไม่เหนือความคาดหมายที่มีรายงานว่าในไตรมาสแรกของปี 2020 ความต้องการชุด meal kits ในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 68.1 เปอร์เซนต์  4.18 ล้านราย และส่งผลให้ตลาดเติบโต 66.4 เปอร์เซนต์ คิดเป็นมูลค่า 699.1 ล้านยูโร ขณะที่ในตลาดสหรัฐฯ ธุรกิจ meal kits ก็ขยายตัว ยอดการจัดส่งอาหารพุ่ง 90.3 เปอร์เซนต์เป็น 61.3 ล้านคำสั่งซื้อ


     ในขณะที่ Tech Startup หลายราย ไม่ว่าอูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี หรือทินเดอร์ต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด แต่บริษัทที่รับอานิสงส์ไปเต็มๆ กลับเป็นบริษัทที่บริการจัดส่ง meal kits ถึงบ้าน โดย 3 ดาวรุ่งที่มาแรงในธุรกิจ meal kits ได้แก่


     -HelloFresh ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2011 ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี และขยายธุรกิจไปยัง 12 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ที่ HelloFresh ครองส่วนแบ่งตลาดกว่าครึ่ง ได้รับความนิยมเนื่องจากให้ปริมาณมาก และระบุส่วนผสมที่อาจทำให้เกิดการแพ้อาหาร ในไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดขายอยู่ระหว่าง 750-770 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ธุรกิจบริษัทเติบโตว่า 40 เปอร์เซนต์หรือเกือบเท่าตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 20 กว่าเปอร์เซนต์ เพื่อสร้างความอุ่นใจให้ลูกค้าช่วงโรคระบาด HelloFresh ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในพื้นที่ที่ใช้จัดเตรียมวัตถุดิบสำหรับจัดส่งลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาดต่างๆ ไปจนถึงการจัดส่งแบบ contactless หรือไร้การสัมผัสระหว่างกัน


     -Blue Apron  เป็น Tech Startup ระดับยูนิคอร์นจากอเมริกาที่เปิดตัวเมื่อปี 2012 และมีมูลค่าในตลาดเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ แต่หลังจากที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 3 ปีก่อน หุ้น Blue Apron ก็ร่วงระเนระบาด อย่างไรก็ตาม การมาถึงของโควิดกลับส่งผลดีเมื่อธุรกิจร้านอาหารปิดตัวชั่วคราว ลูกค้าอยู่กับบ้านจึงหันมาสั่ง meal kits ไปปรุงเอง ยังผลให้หุ้น blue Apron ซึ่งมีราคา 2 ดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ได้ทะยานพุ่งแตะใกล้ 30 ดอลลาร์ในปลายเดือนมีนาคม จำนวนลูกค้าเพิ่มราว 7 เปอร์เซนต์มาอยู่ที่ 3.76 แสนราย ยอดการสั่งซื้อล้นหลาม


     ลินดา ไฟน์ลีย์ คอสโลสกี้ ซีอีโอ Blue Apron เผยบริษัทเตรียมจ้างพนักงานประจำศูนย์กระจายสินค้าในนิวเจอร์ซี่และแคลิฟอร์เนียเพิ่มเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า นอกจากนั้น ยังจัดทำคลิปให้ความรู้ เช่น สอนทำอาหาร และเปิดคอร์สชิมไวน์เผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดียอีกด้วย


     -Splendid Spoon เป็นอีก Startup ที่ดำเนินธุรกิจ meal kits แต่ฉีกแนวเน้นอาหารมังสวิรัติ อาทิ สมูทตี้ ซุป และธัญพืช ก่อตั้งเมื่อ 7 ปีก่อนโดยนิโคล เซนทีโน่ Splendid Spoon  เจาะกลุ่มลูกค้าที่กักตัวอยู่บ้านแต่ยังต้องการดูแลสุขภาพโดยการรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย สำหรับกลยุทธ์การตลาดช่วงโควิด Splendid Spoon สร้างความใกล้ชิดกับลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด เช่น การจัดรายการ “wellness week” ทางอินสตาแกรมเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมาให้ความรู้ หรือการเปิดคลาสโยคะออนไลน์ เป็นต้น


     นอกจากนั้น บริษัทยังดำเนินกลยุทธ์ CSR-corporate social responsibility หรือการคืนกำไรให้สังคม โดยการส่งมอบสมูทตี้ 4,200 ชุด และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 720 ให้กับบุคคลากรด้านสาธารณสุขที่โรงพยาบาลนิวยอร์ก ผู้เป็นด่านหน้ารับมือกับโควิด วิธีการเช่นนั้นดูจะได้ผล ทำให้เป็นแบรนด์เป็นที่รู้จักขึ้น ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนเมษายน ธุรกิจ Splendid Spoon ขยายตัวประมาณ 20-25 เปอร์เซนต์ และจากการคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อาจขาดแคลนในตลาดสหรัฐฯ อาจทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานมังสวิรัติมากขึ้นซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัท   


     ลินดา ไฟน์ลีย์ คอสโลสกี้ ซีอีโอ Blue Apron ให้สัมภาษณ์เนื่องจากประชาชนเข้าครัวปรุงอาหารเองมากขึ้นช่วงล็อคดาวน์โควิด ธุรกิจ meal kits แต่ละแบรนด์จึงเติบโตตามๆ กัน และผลสะท้อนกลับหรือการตอบรับจากลูกค้าบ่งชี้ว่าแม้การระบาดของโควิดจะยุติลงแล้ว แต่ธุรกิจ meal kits จะยังมีแนวโน้มเติบโตเนื่องจากผู้บริโภคโดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเข้าครัวเริ่มเคยชินและมั่นใจมากขึ้นว่าสามารถทำอาหารทานเองที่บ้านได้อย่างง่ายและรวดเร็ว


     นอกจากนั้น new normal หรือความปกติใหม่ที่ถูกนำมาปฏิบัติตามร้านอาหารก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้คนหันมาปรุงอาหารเอง ผลการสำรวจความเห็นโดยฮันเตอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มพบว่าชาวอเมริกันมากกว่าครึ่ง หรือ 54 เปอร์เซนต์จะทำอาหารเองมากขึ้น ด้วยเล็งเห็นแนวโน้มเชิงบวกต่อธุรกิจ ผู้บริหาร Blue Apron จึงเตรียมจ้างพนักงานประจำ fulfillment centers  หรือคลังสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถแพ็คสินค้าส่งทันความต้องการของลูกค้า
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup