Tech Startup

ห๊ะอะไรนะ แมสก์ 2.50 บาท! Mask Bank ทำให้เป็นจริง จากไอเดียสาวไทยสู่การเป็นธนาคารหน้ากากอนามัยแห่งแรกของโลก

Text : นนท์ธวัช ไชยวัง 




Main Idea
 
  • ไอเดียดีๆ มักมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาที่เผชิญ Mask Bank หรือธนาคารหน้ากากอนามัยก็เช่นเดียวกัน ด้วยปัญหความต้องการหน้ากากอนามัยที่เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่ภาวะการขาดแคลน จึงทำให้ Startup สาวชาวไทย เกิดไอเดียตั้ง Mask Bank ขึ้นมา
 
  • ธนาคารหน้ากากอนามัยแห่งนี้จะใช้วิธีการระดมทุนและรับบริจาคจากประชาชนชาวไทย โดยจะมีการจำหน่ายในราคาเพียง 2.50 บาทเท่านั้น
 
  • นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน เพราะเมื่อซื้อหน้ากากใช้งานเองแล้วยังบริจาคให้หน่วยงาน องค์กรการกุศล ในสัดส่วน 1:1 อีกด้วย
         



     จากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเอง และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น แต่กระนั้นอย่างที่ทราบกันดีว่าจากความต้องการใช้หน้ากากอนามัยที่เพิ่มสูงขึ้น ได้นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย การกักตุนหน้ากากอนามัย ราคาจำหนายที่สูงเกินจริง รวมไปถึงกำลังการผลิตที่มีอยู่ไม่พอเพียง  จาก Pain Point  ของการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่เกิดขึ้น ในขณะที่ความจำเป็นการใช้หน้ากากอนามัยกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนี่เอง ทำให้เกิดแนวคิด Mask Bank ธนาคารหน้ากากอนามัยแห่งแรกของโลก ที่ใช้วิธีการระดมทุน (Crowdfunding) และรับบริจาค (Donation) โดย Startup ไทย  


    ปรางพิสุทธิ์ แดงเดช หรือ ฟ้า นักเดินทางเจ้าของรายการท่องเที่ยว The Passion Thailand หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการธนาคารหน้ากากอนามัย เล่าที่มาที่ไปของโครงการให้ฟังว่า โครงการนี้ก่อตั้งเมื่อ 23 มีนาคม 2563 เป็นโครงการที่ระดมทุน Crowdfunding และรับบริจาค Donation โดยจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย


     “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากแนวคิดที่ได้จากศึกษาการเกิดสงครามในแต่ละครั้งบนโลกใบนี้ ซึ่งมีผู้คนล้มตายเสียเลือด และมีระบบธนาคาร หรือคลังเลือด ดังนั้นวิกฤตโควิด-19 ข้าศึก หรือศัตรู คือไวรัส ส่วนหน้ากากอนามัยคือ อาวุธที่จะใช้สู้กับไวรัสในครั้งนี้ จึงได้เล็งความสำคัญกับการสู้ศึกในครั้งนี้”


     โครงการดังกล่าวจะให้ประชาชนสามารถจองซื้อหน้ากากอนามัยได้ในราคาชิ้นละ 2.50 บาท ไม่จำกัดจำนวน และการจองซื้อหน้ากากอนามัยจะเป็นการซื้อเพื่อใช้งานเองและเพื่อการบริจาคให้หน่วยงานสาธารณสุขโรงพยาบาล โรงเรียนและองค์กรการกุศลต่างๆ ตามที่ผู้ซื้อประสงค์ ในสัดส่วน 1:1 (ซื้อใช้เอง 1 ชิ้น : บริจาค 1 ชิ้น) เน้นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนหน้ากากและสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน โดยโรงงานผลิตอยู่ที่ จังหวัดนครสวรรค์


     ทั้งนี้นอกจากการบริจาคหน้ากากอนามัยจะช่วยแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนแล้ว ยังป้องกันการกักตุนสินค้าอีกด้วย โดยเบื้องต้นตั้งเป้าระดมทุนให้ได้ 100 ล้านบาท ล่าสุดเฟสแรกได้เงินระดมทุน 30 ล้านบาท และปิดเฟสไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนที่เป็นของบริจาคจะนำไปให้หน่วยงานหรือเก็บไว้ในธนาคารหน้ากาก เพื่อจัดสรรต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ จะระดมทุนคนละ1,000 บาท ได้หน้ากาก 400 ชิ้น แบ่งบริจาคครึ่งหนึ่ง โดยเฟสแรกจะเริ่มแจกได้ต้นเดือน มิถุนายน 2563 สำหรับ ผู้สนใจสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม และสั่งจองหน้ากากอนามัยโดยการกรอกข้อมูลคำสั่งจองซื้อผ่านช่องทางเว็บไซต์ของโครงการ https://www.maskbank.org





     สำหรับเกณฑ์การซื้อหน้ากาก ผู้ซื้อจะต้องระบุจำนวนที่จะใช้จริงในครอบครัวหรือในหน่วยงานของตน และทางโครงการจะจัดส่งให้ตามปริมาณการใช้ต่อเดือนทางไปรษณีย์ถึงหน้าบ้าน ซึ่งหน้ากากเพื่อการบริจาคนี้จะพิมพ์ฉลากว่าห้ามจำหน่ายและใช้สำหรับแจกได้เท่านั้น และเมื่อได้มีการนำไปบริจาคยังหน่วยงานต่างๆ จะมีใบตอบรับหรือหลักฐานการรับบริจาคส่งไปยังผู้บริจาคผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์


     อีกช่องทางหนึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังร้านขายยาสั่งซื้อผ่านทางสมาคมร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ หรือกิจการทางการค้า เช่น ศูนย์การค้าสรรพสินค้า และอื่นๆ สามารถสั่งซื้อได้ไม่จำกัด แต่ต้องจำหน่ายในราคาชิ้นละ 2.50 บาท และเมื่อจำหน่ายได้แล้วก็สามารถนำเงินกลับมาสั่งซื้อเพื่อให้มีของหมุนเวียนขายอย่างสม่ำเสมอ เป็นจุดบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยหน้ากากส่วนนี้จะถูกพิมพ์ฉลากว่าจำหน่ายในราคาควบคุม 2.50 บาท หากมีการขายเกินราคาจะถูกตัดสิทธิ์ในการซื้อ และแจ้งทางราชการเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไป


     อย่างไรก็ตามจะใช้แนวคิดที่เป็นหลักการเดียวกันคือ ขายในราคาที่ควบคุมเพื่อปรับสมดุลกลไกตลาด ไม่ให้เกิดการไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน และในอนาคตเมื่อการผลิตและการใช้งานภายในประเทศมีอย่างเพียงพอแล้ว หากมีประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย โครงการธนาคารหน้ากากก็จะสามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม


     ปรางพิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายของโครงการคือการเปิดโรงงานในทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งานได้ทั่วทั้งประเทศ หากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เบาบางลงโรงงานก็สามารถกลับมาผลิตหน้ากากชนิดอื่นๆ เช่น หน้ากากคาร์บอน และ N95 เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 แทนสำหรับเฟสที่ 2 ขณะนี้กำลังจะเริ่มเปิดระดมทุน และแจกหน้ากากได้ปลายมิถุนายน หรือต้นกรกฎาคม


     โดยคาดว่าจะสามารถผลิตหน้ากากได้ 72,000 ชิ้น/วัน โรงงานหน้ากากอนามัย N95 แห่งแรกของประเทศไทยจะนำไปช่วยแพทย์ชนบท 800 โรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน โดยจะมีการจองซื้อหน้ากากอนามัย N95 ได้ใน ราคา 580 บาท / 20 ชิ้น ราคาเฉลี่ยเพียงชิ้นละ 29 บาท ซึ่ง ปัจจุบันราคาขายทั่วไปอยู่ที่ชิ้นละ 60-210 บาท สำหรับการจองซื้อหน้ากากอนามัย N95 จะเป็นการซื้อเพื่อการบริจาคให้แพทย์ชนบทและเพื่อใช้งานเองในสัดส่วน #ให้1ใช้ 1 (ซื้อบริจาค 10 ชิ้น : ซื้อใช้เอง 10 ชิ้น) และสามารถจองซื้อเพื่อการบริจาค 100% เพื่อให้แพทย์และพยาบาลที่ต้องทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย ได้มีหน้ากากอนามัย N95 ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคอื่นๆ
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup