Tech Startup

เปลี่ยนครัวให้เป็นเงิน! LILUNA Food Hero แอปฯ ทางเลือกใหม่ให้ขายอาหารฟรี!

Text : เฉลิมพล ไชยรัตนชัชวาลย์
 



Main Idea
 
  • ถึงจะเคยโดนกระหน่ำว่าทำแอปฯ โลกสวย LILUNA (ลิลูน่า)– share2go การเดินทางแบบคาร์พูลทางเดียวกันไปด้วยกัน ผ่านไปสามปีมียอดดาวน์โหลดกว่า 4 แสนดาวน์โหลด แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงพีคของการดาวน์โหลดไม่เป็นอย่างที่คิด 
 
  • Startup หนุ่มไทยผู้คิดแอปฯ นี้จึงได้ต่อยอดคอนเซปต์พัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ LILUNA Food Hero เป็นสื่อกลางให้ผู้ที่ตกงานมีรายได้จากการทำอาหารจากครัวที่บ้าน 



     พิษโควิด-19 ที่สงผลกระทบไปทุกย่อมหญ้า บางคนเลือกที่จะถอยมาตั้งหลัก อีกหลายคนก็ยังปักหลักสู้เช่นเดียวกับ นัฐพงษ์ จารวิจิต กรรมการบริษัท Systemetric Innovations (Thailand) Ltd. ที่เคยทำเรื่องแปลกให้คนไม่รู้จักกันแต่สามารถเดินทางไปด้วยกันด้วยการคิดค้นแอปพลิเคชัน LILUNA – share2go คอนเซปต์ก็คือ สำหรับผู้ที่ต้องการแชร์ค่าเดินทางกับคนที่ไปทางเดียวกัน วิธีการคือ เจ้าของรถยนต์ที่สนใจสมัครใช้งาน แสดงหลักฐานใบขับขี่ ทะเบียนรถ เพื่อยืนยันตัวตน จากนั้นแจ้งจุดเริ่มต้นการเดินทางและจุดหมายปลายทาง พร้อมค่าเดินทาง


     จากสถิติตลอดสามปีที่ผ่านมาจะมีผู้มาใช้บริการแอปฯ นี้จำนวนมากในช่วงในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่โปรแกรมเมอร์หนุ่มวัย 36 ปีรายนี้ต้องอดตาหลับขับตานอนเพื่อคอยตรวจสอบและอนุมัติผู้ที่มีรถยนต์และผู้ที่ไม่มีรถยนต์ที่มาขอใช้บริการแอปฯ นี้ แต่ด้วยพิษของโควิด-19 ผู้คนไม่สามารถใช้ชีวิตการเดินทางได้อย่างปกติ ทำให้แผนการตลาดที่เขาวางไว้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ต้องถูกระงับไปโดยปริยาย แต่แทนที่จะมานั่งท้อกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับแอปฯ ที่ปลุกปั้นมาสามปีและกำลังไปได้ดี เขาก็พลิกวิกฤตและใช้จังหวะนี้ทำในสิ่งที่อยากทำและได้ช่วยเหลือสังคมภายใต้คอนเซปต์เดียวกันคือการแบ่งปันต่อยอดมาเป็น แอปพลิเคชัน LILUNA Food Hero ให้ผู้ที่ตกงานอยู่กับบ้านสามารถทำอาหารขายได้และคนทั่วไปได้ทานอาหารดีในราคาที่คุ้มค่า


     “ผมเป็นคนจังหวัดชลบุรีมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็มักนึกถึงอาหารแถวบ้าน นึกถึงบรรยากาศคนออกทะเลหาปลากลับขึ้นฝั่งก็มานั่งย่างปลากินริมทะเล เรามีไอเดียมาสักพักแล้วว่าอยากจะสร้างรายได้ให้กับชุมชน ให้คนเหล่านี้สามารถทำอาหารขาย โดยทำเมนูที่เขาทานกันประจำอยู่แล้วในเวลาที่เขาสะดวก เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ นี่คือไอเดียเริ่มแรก แต่พอมาเจอโควิด-19 คนไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน แล้วก็เห็นเพื่อนเราที่มีอาชีพเป็นแอร์ เป็นไกด์ เป็นนักบิน ฯลฯ ที่ตกงานมาโพสต์ทำอาหารในเฟซบุ๊ก จึงอยากช่วยเหลือคนกลุ่มนี้จึงปรับคอนเซปต์นิดหน่อยจากไปทานที่ชุมชนก็เป็นแบบเดลิเวอรีก็เลยเกิดเป็นแอปพลิเคชัน Liluna Food Table” นัฐพงษ์ เล่าถึงที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชันล่าสุดของเขา





     ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน LILUNA Food Table ได้ถือกำเนิดขึ้นและทดลองให้เปิดดาวน์โหลดได้ในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยมีคอนเซ็ปต์คือเป็นแอปฯ ที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ระหว่างคนชอบทำอาหารที่อาจจะไม่มืออาชีพ แต่มีความสามารถแล้วก็ทำจากครัวในบ้านกับคนกินที่ให้มาเจอกัน ซึ่งเมนูส่วนใหญ่ก็จะอาหารที่ทำกินเองในบ้าน  ดังนั้นคนที่ทำอาหารกินเองอยู่แล้ว ก็มีรายได้เพิ่ม พร้อมกับใช้วิธีประชาสัมพันธ์แอปฯ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของนัฐพงษ์ ทำแคมเปญเชิญชวนให้คนอยู่บ้านก็เป็นฮีโร่ได้เช่นกัน ถ้าใครเห็นชอบด้วยก็ถือป้ายกระดาษขาวหยุดอยู่บ้านเพื่อชาติ ถ่ายรูปและโฆษณาอาหาร พร้อมกับติดแฮชแท็ก LILUNAFoodHero


     ช่วงแรกก็มีเพียงกลุ่มเพื่อนๆ ที่สนใจช่วยกันแชร์จากนั้นก็ได้รับความนิยมไปในวงกว้าง มีผู้สนใจมาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละคนที่มาร่วมกิจกรรมนอกจากจะมีเมนูเด็ดแล้วยังมีเรื่องเล่าที่มาของอาหารที่น่าสนใจต่างกันไป อาทิ เป็นไข่เจียวสูตรประจำบ้าน หรือเป็นอาหารที่หาทานที่ไหนไม่ได้เพราะมาจากพ่อครัวที่ตกงานหาค่านมลูก เป็นต้น ทำให้ระยะเวลาแค่เพียงอาทิตย์กว่าก็มีผู้สนใจกดดาวน์โหลดเป็นร้อยคนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
“การที่มีคนสนใจเยอะอาจด้วยคอนเซปต์ และจังหวะพอดีกับช่วงนี้คนอยู่บ้านเยอะ และเป็นจังหวะที่หลายคนตกงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถสั่งอาหารเดลิเวอรีมาทานได้ด้วยราคาต่อมื้อค่อนข้างแพงเกือบ 200 บาท ส่วนคนที่ว่างงานอยู่บ้านต้องทำอาหารกินเองอยู่แล้ว เขาเพิ่มวัตถุดิบอีกนิดหน่อยก็สามารถทำพรีออเดอร์เพื่อให้คนสั่งจองอาหารได้ เอาจริงมันก็เหมือน Facebook Group ส่วนหนึ่ง ให้คนมาฝากร้านขายของ”
 

ทำอาหารอยู่บ้านก็เป็น Hero ได้

     ในช่วงโควิด-19 ระบาดนอกจากหมอพยาบาลที่เป็นฮีโร่แล้ว การอยู่กับบ้านก็เท่ากับเป็นการช่วยชาติ และการทำอาหารที่ดีเพื่อให้คนทานอาหารดีๆ ก็เหมือนกับเป็นฮีโร่ได้เช่นกัน นั่นคือความแตกต่างของของแอป LILUNA Food Hero กับแอปฯ สั่งอาหารที่มีอยู่ในท้องตลาดทั่วไป เพราะหนึ่งผู้ที่ต้องการขายอาหารรสามารถนำอาหารมาขายเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะไม่ใช่การทำตามออเดอร์แต่จะเป็นการรับพรีออเดอร์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน สองช่วยให้แม่ค้าจัดเตรียมวัตถุดิบได้ไม่ต้องสต๊อกของ และไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนั้น ส่วนการจัดส่งก็เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เช่น คนซื้ออาจมารับที่บ้านก็ย่อมได้


     หนุ่มชลบุรีเผยถึงแผนการพัฒนาแอปฯ ของเขาว่า ตอนนี้เหมือนอยู่ใน Step แรก จึงต้องมีการพัฒนาต่อไปให้มันดีขึ้น อาทิ ให้สามารถค้นหาประเภทอาหาร ชื่อเมนู หรือตำแหน่งที่ตั้งร้านค้าได้ เพื่อให้บริการประชาชนได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ทำให้เกิดการค้าขายขึ้นจริง จึงถือว่าแอปฯ นี้สมบูรณ์





     “ด้วยระยะเวลาเพียงเดือนเศษ จำนวนคนที่โหลดอาจยังไม่มากนัก ถ้าคนอยู่รามอินทราแล้วสั่งซื้อจากบางนาอาจไม่คุ้มค่าขนส่ง ฉะนั้นถ้ามีจำนวนคนขายเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะทำให้รองรับความต้องการได้มากขึ้น”


     แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ยังห่างไกลความสำเร็จ แต่นัฐพงษ์ บอกว่า ส่วนตัวเขาไม่ได้รู้สึกท้อและมีภูมิคุ้มกันมาตั้งแต่สมัยทำแอปฯ LILUNA – share2go ที่มีคนตามมาวิจารณ์ถึงเพจว่าเป็นแอปฯ โลกสวย ถ้าหากคนโดนข่มขืนหรือ มีการใช้ขนยาเสพติดจะทำอย่างไร


     “ผมไม่ได้โกรธนะ แต่ช่วงแรกๆ ก็ยอมรับว่ามือสั่นเลย เพราะเป็นคอมเมนต์ในเพจ คิดว่าจะตอบอย่างไร ก็พยามตั้งสติอธิบายไปว่าเรามีขั้นตอนการตรวจสอบทั้งใบขับขี่ บัตรประชาชน ถ้าคนไม่บริสุทธิ์ใจจะนำหลักฐานเหล่านี้ทิ้งให้กับเราไหม เราแค่พยายามทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มันดีขึ้น ก็เลือกอ่านคอมเมนต์ประเภทติเพื่อก่อแล้วก็นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็ใช้ทั้งความคิดที่ได้ร่ำเรียนมาทางด้าน Computer Science จากมหาวิทยาลัย Mannheim University of Applied Sciences พร้อมกับประสบการณ์ในการทำงานบริษัท TeamWare Gmbh เมือง munich - Adrodev Gmbh เมือง Stuttgar เป็นบริษัททางด้านซอฟต์แวร์เยอรมันมา 15 ปี เพื่อมาพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น อย่างสามปีมานี้แอปฯ นี้มีจำนวนรถกว่า 8 พันคัน และสามารถช่วยหน่วยงานใหญ่ๆ ที่ปีหนึ่งต้องเสียค่าเดินทางให้พนักงานประชุมปีหนึ่ง 60 ล้านบาท พอให้เราช่วยก็ลดค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 20%”
 

     นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้าตราบใดที่ยังไม่ยอมแพ้


     Facebook : lilunaFoodHero
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup