Tech Startup
“Credit OK” Fintech ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน
Main Idea
- Pain Point ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หลายคนมีความต้องการใช้เงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพทำธุรกิจ แต่กลับไม่มีแหล่งเงินทุน
- Credit OK เป็น Startup ด้าน Financial Inclusion ด้วยการทำ Deep Credit Scoring เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยนับว่าเป็น Pain Point ของประเทศมายาวนาน คนจำนวนมากในประเทศมีความต้องการใช้เงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพทำธุรกิจ แต่กลับไม่มีแหล่งเงินทุน และหากหวังจะพึ่งแหล่งเงินนอกระบบ แทนที่จะช่วยกลับเพิ่มปัญหาให้ไปอีก ด้วยความเข้าใจในปัญหานี้ทำให้ ยิ่งยง ตันธนพงศ์พันธุ์ ตั้งคำถามกับตัวเองขึ้นมาว่า ทำไมไม่ทำ Fintech ที่ตอบโจทย์คนต้องการเงินจำนวนไม่มากเพื่อนำไปทำงาน และนั่นจึงเป็นที่มาของ Credit OK ซึ่งเป็น Financial Inclusion ด้วยการทำ Deep Credit Scoring เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
“มีคนเป็นจำนวนมากที่ไม่มีหลักทรัพย์ ทำไมเราต้องไปจำกัดแค่คนกลุ่มนี้ในการได้เงินทุน คนทั่วไปที่ทำมาหากิน มีหลักฐานการทำธุรกิจที่ชัดเจน มีความซื่อสัตย์ และมีข้อมูลอะไรบางอย่างที่เรามองเห็น ทำไมเราไม่ช่วยเขาโดยใช้ข้อมูลเหล่านั้น”
Credit OK จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินความเสี่ยงทางการเงินของผู้ต้องการเครดิตด้วยเทคโนโลยี Machine Learning จากข้อมูลหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายสินค้า ข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลจากการใช้โซเชียลมีเดีย และแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อสร้าง “เครดิตสกอร์” ที่มีความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินให้มีโอกาสได้รับการพิจารณาการกู้ยืมเงินในการขยายธุรกิจที่เหมาะสม รวดเร็ว และด้วยความเสี่ยงที่ประเมินได้
ยิ่งยงบอกว่า แนวคิด Credit OK นี้จะประเดิมเริ่มนำมาใช้กับร้านโฮมมาร์ทในการช่วยผู้รับเหมารายย่อยให้สามารถเดินเข้ามาที่ร้านแล้วได้วัสดุก่อสร้างไปใช้ได้ด้วยระบบเครดิตแล้วค่อยมาจ่ายคืนทีหลัง โดยตอนนี้มีร้านโฮมมาร์ทเข้าร่วม 70 ร้าน มีจำนวนลูกค้าหรือช่างประมาณ 40,000 คน และจะขยายให้ครอบคลุมทั่วทุกร้านต่อไป
“ตอนนี้เราใช้ข้อมูลซื้อ-ขายของผู้รับเหมารายย่อยที่ร้านโฮมมาร์ทในการวิเคราะห์ นอกจากนี้ เรายังใช้ข้อมูลประกอบอื่นๆ โดยตัวหนึ่งที่เราเอามาใช้คือ แบบทดสอบเชิงจิตวิทยาที่จะให้ผู้รับเหมารายย่อยที่ต้องการขอเครดิตกับร้านโฮมมาร์ททำเพื่อประเมินความเสี่ยงของคนคนนั้น หลังจากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด เจ้าของร้านก็จะเห็นเครดิตสกอร์ของผู้รับเหมารายย่อยคนนั้น ถ้าคนไหนได้คะแนนผ่านก็ปล่อยเครดิตให้ ซึ่งเชื่อว่าถ้าไม่ต้องใช้เงินสดจ่ายซื้อของตลอดเวลาผู้รับเหมารายย่อยก็จะมีเวลาหายใจ สามารถเอาของไปทำงานก่อนได้ ไม่ต้องพะวงว่าต้องเอาเงินสดไปจ่าย แล้วพอเขาได้เงินจากเจ้าของบ้านค่อยเอาเงินมาจ่าย ทำให้เขารับงานได้มากขึ้น”
ทั้งนี้ถ้าโมเดลนี้เดินหน้าด้วยดี ยิ่งยงหวังว่าจะขยับไปในธุรกิจอื่น ซึ่งเขาให้ความสนใจธุรกิจบริการอาหาร และกลุ่มโชห่วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่มากแต่ไม่เคยมีเครดิตมาก่อน ดังนั้น ความท้าทายคือทำอย่างไรจึงจะได้เห็นดาต้าเพื่อนำมาทำ Credit Scoring ซึ่งหากสามารถทำได้ก็จะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นเป็นจำนวนมาก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup