Tech Startup
ทำความรู้จัก Tellscore แพลตฟอร์มที่ใครๆ ก็เป็น Influencer ได้
Main Idea
- เมื่อผู้บริโภคเชื่อในสิ่งที่คนใกล้ตัวหรือคนอื่นๆพูดมากกว่าแบรนด์ จึงทำให้นักการตลาดหันมาพึ่ง Influence โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Influencer ระดับเล็กๆ อย่าง Micro-Influencer และ Nano-Influence
- ดังนั้น จึงจะพาไปรู้จัก Tellscore เป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางที่ช่วยให้นักการตลาดหรือผู้ประกอบการได้มาเจอกับ Influencer โดยตรง
เนื่องเพราะผู้บริโภคยุคนี้ ไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์พูดถึงตัวเอง แต่เลือกเชื่อหรือฟังในสิ่งที่คนใกล้ตัวหรือคนอื่นๆ พูดถึงสินค้าและแบรนด์มากกว่า นั่นจึงทำให้นักการตลาดหันมาพึ่ง Influence โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Influencer ระดับเล็กๆ อย่าง Micro-Influencer และ Nano-Influence ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และด้วยเหตุผลนี้เราจึงได้เห็นแพลตฟอร์มสำหรับการทำ Micro-Influencer เกิดขึ้น รวมถึง Tellscore ของ สุวิตา จรัญวงศ์ ด้วย
Tellscore เป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางที่ช่วยให้นักการตลาดหรือผู้ประกอบการได้มาเจอกับ Influencer โดยตรง โดยTellscore จะรวบรวมเฟ้นหา Micro-Influencer และ Nano-Influence ที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นคนทั่วไปที่มีสไตล์ของตัวเอง หรือความถนัดในบางสิ่งบางอย่าง โดยที่ Micro-Influencer จะมีคนติดตามต่ำกว่า 50,000 คน ขณะที่ Nano-Influence จะมีคนติดตามต่ำกว่าพันคนลงไป ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มที่มีคนติดตามจำนวนน้อย แต่ก็เป็นกระบอกเสียงชั้นดีและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
“เดิมเมื่อ 4-5 ปีก่อน การทำ Influencer Marketing เราจะใช้ Macro-Influencer ซึ่งเป็นเซเลบริตีหรือคนดังที่มีชื่อเสียงมีคนติดตามเป็นแสนเป็นล้านคน แต่ในวันนี้เวลาทำ Influencer Marketing เราจะแนะนำให้ใช้ร่วมกัน เพราะแม้ Marco- Influencer จะมีคนติดตามจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วมีอัตราการเข้าถึงบนโซเชียลออนไลน์ หรือ Organic Reach ต่ำ จึงจะทำได้แค่การสร้างการรับรู้ต่อสินค้าหรือบริการในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะที่ Micro-Influencer และ Nano-Influence จะได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคที่มากกว่า ในฐานะที่เป็นเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิด หรือคนรู้จัก ทำให้ผู้บริโภคเชื่อข้อมูลที่คนกลุ่มนี้พูดมากกว่า ซึ่งกลุ่ม Nano-Influence นี้จะมีค่าบริการต่อการโพสต์ต่ำมาก แต่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสูง เพราะผู้บริโภคจะมองว่าถ้าเพื่อนเราใช้จริงเราจะเชื่อ เพียงแต่การใช้ Nano-Influence จะต้องใช้จำนวนมาก จึงจะสามารถใช้เงินได้อย่างคุ้มค่า”
ในปัจจุบัน Tellscore มี Influencer กว่า 30,000 คนใน 12 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มไลฟ์สไตล์ การเงิน ท่องเที่ยว กีฬา สุขภาพ ความงาม การศึกษา เป็นต้น ซึ่งลูกค้าที่ต้องการใช้บริการสามารถดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหา Influencer ที่ลูกค้าต้องการจากความถนัด จำนวนผู้ติดตาม ซึ่ง Tellscore จะมีการเก็บข้อมูลของแต่ละคนเอาไว้ และมีการประเมินผลสถิติต่างๆ คาดคะเนจำนวนคนเห็นโพสต์ เพื่อทำให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการทำตลาดผ่าน Influencer ได้รับข้อมูลและวางแผนในการทำตลาดได้ โดย Tellscore จะมีระบบที่สามารถวัดผลได้แม่นยำหลังจบแคมเปญ จึงทำให้การทำการตลาดผ่าน Influencer ได้ผลและมีประสิทธิภาพ
“ในการเลือก Influencer เราจะมีการทดสอบทางข้อมูลก่อนว่าเพื่อนเขาเป็นใคร มีบอตไหม ถ้าบอตเยอะเกิน 5 เปอร์เซ็นต์จะสมัครไม่ผ่าน สิ่งที่โพสต์ต้องมีคนสนใจไม่ต่ำกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ของคนติดตาม แต่คนติดตามน้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะลดหลั่นลงไป เราจะมีรายละเอียดข้อมูล ค่าบริการ คะแนนให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจเลือก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และเริ่มมี SME มาใช้บริการ ซึ่งเรามีแพ็กเกจราคา 5,000 บาทที่สามารถจ้าง Influence ได้ 3 คน สำหรับ SME ที่จะใช้บริการหรืออยากจะทดลองเพื่อดูผลตอบรับก่อนว่าเป็นอย่างไร”
แม้จะเพิ่งเริ่มต้นทำแพลตฟอร์ม Tellscore ได้ปีกว่า แต่ด้วยความมั่นใจในเทคโนโลยีและศักยภาพของตลาด ในปีนี้สุวิตาจึงตัดสินใจขยายธุรกิจไปเปิดบริษัทใหม่ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งแม้จะมีคู่แข่งที่ครองตลาดอยู่แล้ว แต่ผลตอบรับกลับดีเกินคาดทีเดียว
“อินโดนีเซียมีประชากร 260 ล้านคน ในด้านดิจิทัลเขาไปไกลกว่าเรามาก ตอนที่เราไปที่นั่นเราได้ Influencer 6,000 คน โดยใช้เวลาแค่ 1 ใน 5 ของที่ทำในเมืองไทย และตอนนี้เรามี Influencer ที่อินโดนีเซียกว่า 20,000 คน ก่อนไปเราตั้งเป้าหมายว่าจะเริ่มมีลูกค้าปีหน้า แต่ตอนนี้เราก็มีลูกค้าแล้ว ถือว่าเราเป็นธุรกิจที่มีรายได้แล้ว”
สำหรับเป้าหมายต่อไปของ Tellscore นั้น สุวิตาบอกว่า Tellscore จะเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ยึดติดกับการรีวิวคอนเทนต์อย่างเดียว แต่เป็นการสร้างแวลูในการทำการตลาดด้วยเครื่องมือต่างๆ และมีความสนใจที่จะขยายตลาดไปประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าปีหน้าจะออกตลาดประเทศที่ 3 ซึ่งประเทศที่ไปจะเลือกจากขนาดตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใกล้เคียงกัน มากไปกว่านั้นในปีหน้า Tellscore จะระดมทุนรอบ Series A ซึ่งด้วยที่ผ่านมาเนื่องจาก Tellscore เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเองและมีอัตราการเติบโตที่เร็ว ดังนั้น การเลือกนักลงทุนที่จะมาร่วมงานกันจึงจะเลือกนักลงทุนที่สามารถช่วยสนับสนุนด้านกลยุทธ์ มากกว่าการดูที่ตัวเงินอย่างเดียว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup