Tech Startup

ส่องเส้นทาง StockX สู่ Startup Unicorn รายแรกในวงการรีเซลสนีกเกอร์

Text : วิม วิมาลี


 

Main Idea
 
  • จากนักสะสมรองเท้ากีฬาสู่การก่อตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายสนีกเกอร์ที่ได้รับความนิยมสูง จอช ลูเบอร์ ผู้เป็นซีอีโอสามารถผลักดัน StockX จนขึ้นแท่น Startup มูลค่าพันล้านเหรียญ
 
  • ความสำเร็จของ StockX ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างความแตกต่างโดยใช้โมเดลธุรกิจเลียนแบบตลาดหุ้น นอกจากนั้น ยังสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการตรวจสอบว่าสินค้าที่ส่งมอบให้ผู้ซื้อเป็นของแท้ทุกคู่ 




     หนึ่งในของสะสมที่กำลังมาแรงแบบไม่โฉ่งฉ่างเห็นจะเป็นรองเท้ากีฬาหรือสนีกเกอร์ หลายคนมีความสุขที่ได้ครอบครองรุ่นหายากหรือรุ่นลิมิเต็ด จนเกิดเป็นศัพท์เฉพาะขึ้นมาคือ sneakerhead หมายถึงคนที่รักและสะสมรองเท้ากีฬา เทรนด์นี้มีมานานแล้ว แต่การเดินเข้าช้อปเพื่อหารุ่นที่ต้องการ ไม่ได้ทำให้สมหวังเสมอไป เหล่าสนีกเกอร์เฮดจึงใช้วิธีหารองเท้ารุ่นที่ต้องการจากอีเบย์ เว็บประมูลสินค้าซึ่งเป็นต้นแบบแรกๆ ของการดำเนินธุรกิจ resale ที่มีคนกลางเสาะแสวงหาสินค้าตามใบสั่งลูกค้า  

     อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยอย่างหนึ่งของอีเบย์คือสินค้าที่ลงขายไม่มีการรับประกันว่าเป็นของแท้ จึงทำให้เป็นที่มาในการแจ้งเกิดของแพลตฟอร์มรีเซลที่เน้นสินค้าประเภทสนีกเกอร์โดยเฉพาะและส่วนใหญ่รับประกันความแท้ของสินค้า หนึ่งในนั้นคือ StockX ซึ่งเป็น Startup พันล้านที่เพิ่งระดมทุนรอบล่าสุดได้ไป 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นแท่น Startup Unicorn รายแรกในแวดวงธุรกิจรีเซลสนีกเกอร์ ไปดูกันว่าจอช ลูเบอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง StockX สามารถแปรงานอดิเรกในการสะสมรองเท้ากีฬา (ประเภท trainer) ให้เป็นแพลตฟอร์มธุรกิจมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้อย่างไร ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากคนดังในวงการบันเทิงหลายคนอีกด้วย

     หนุ่มฟิลาเดลเฟียวัย 41 ปี เล่าว่าจุดเริ่มต้นมาจากรองเท้าบาสเก็ตบอล “แอร์จอร์แดน” เพียงคู่เดียวที่เขาปรารถนาจะครอบครองในวัย 11 ขวบ แต่คุณแม่ไม่ยอมซื้อให้ จอชจึงพยายามเก็บเงินซื้อเอง พอได้คู่แรก คู่ต่อๆ มาก็ตามมา เขาสะสมสนีกเกอร์มาเรื่อยๆ จนนับแล้วมากกว่า 350 คู่ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นหายาก หรือไม่ก็ผลิตจำนวนจำกัด แต่จอชก็ไม่เคยคิดทำธุรกิจใดๆ เกี่ยวกับสนีกเกอร์เลย               

     หลังจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากแอตแลนต้า เขาก็เรียนต่อปริญญาโทด้านกฏหมาย ขณะที่เป็นนักศึกษาก็เริ่มธุรกิจหลากหลายอย่าง ธุรกิจแรกที่สร้างขึ้นตอนเรียนปริญญาตรีคือ Tech Experts รับซ่อมคอมพิวเตอร์ตามบ้าน และขายไปก่อนไปเรียนปริญญาโท  หลังจบโท เขาเริ่มทำ Servinity ธุรกิจจัดตารางออนไลน์ให้กับพนักงานร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำก่อนจะมีการเปิดตัวไอโฟน หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ ยังไม่รวม  Turntable.fm ธุรกิจเกี่ยวกับดนตรี  จนกระทั่งปี 2012 ขณะที่ทำงานในตำแหน่งนักวางกลยุทธ์ที่ไอบีเอ็ม จอชก็สร้างเว็บไซต์ Campless  ขึ้นเมาให้บริการข้อมูลเปรียบเทียบราคารองเท้าสนีกเกอร์โดยอิงข้อมูลการซื้อขายในอีเบย์  

     เว็บไซต์นี้ไปเข้าตาแดน กิลเบิร์ต เจ้าของทีมบาสเก็ตบอลคลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ และผู้บริหารบริษัทสินเชื่อ Quicken Loans และ Rock Ventures ซึ่งกำลังสนใจอยากลองทำแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ใช้รูปแบบเดียวกับตลาดหุ้น เขาจึงเรียกจอชมาคุยเกี่ยวกับแนวคิดนี้ ทั้งคู่ตกลงทำธุรกิจด้วยกัน จากนั้น Campless ก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น StockX และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกพ. 2016

     แม้แดน กิลเบิร์ตจะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง แต่คนที่บริหารและดูแล StockX เป็นหลักคือจอช ซึ่งเขาก็ยินดีและไม่คิดว่าเป็นปัญหาอะไร จอชมองว่าการมีมหาเศรษฐีมาร่วมหุ้นด้วย อย่างน้อยก็ไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทุน ทำให้มีเวลาไปทุ่มเรื่องการพัฒนาธุรกิจได้เต็มที่ แม้จะเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสนีกเกอร์เหมือนกัน แต่สิ่งที่ StockX แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นคือ รองเท้าที่ขายต้องเป็นรองเท้าใหม่เท่านั้น นอกจากรองเท้าซึ่งเป็นสินค้าหลักแล้ว ยังมีสินค้าอื่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายจากแบรนด์ชั้นนำ

     ที่สำคัญ โมเดลการซื้อขายสินค้าใน StockX จะเลียนแบบตลาดหุ้น คนขายไม่จำเป็นต้องโพสต์ภาพสินค้าก็ได้ แค่ลงทะเบียนพร้อมรายละเอียดสินค้าไว้รอให้ลูกค้ามาเคาะซื้อ หรือตั้งเป็นราคาประมูลไว้ เมื่อมีลูกค้าผ่านมาเห็นและตกลงซื้อสินค้า ผู้ขายจะต้องส่งสนีกเกอร์ไปยัง authentication center เพื่อให้ทีมงาน StockX ตรวจสอบและรับรองว่าเป็นของแท้ ก่อนที่ทาง StockX จะจัดส่งให้ลูกค้า แล้วโอนเงินให้คนขายโดยหักค่าธรรมเนียมดำเนินการ เริ่มต้นที่ 9.5 เปอร์เซ็นต์ในหมวดสนีกเกอร์ 9.9 เปอร์เซ็นต์ในหมวดนาฬิกา และ 14.5 เปอร์เซ็นต์ในหมวดกระเป๋า

     ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมการชำระเงิน และค่าธรรมเนียมคนขาย และค่าจัดส่ง ซึ่งถือเป็นรายได้ของ StockX เรียกว่าขายสินค้า 1 ชิ้น คนขายอาจโดนหักจากราคาขายรวมแล้ว 20-25 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ถึงกระนั้นก็มีสินค้ามาลงขายใน StockX นับแล้วประมาณ 83,500 รายการ ที่ผ่านมา รองเท้าราคาแพงสุดที่มีการซื้อขายใน StockX คือ Nike MAG รุ่นที่เห็นในภาพยนตร์ Back To The Future ซึ่งขายไปในราคาคู่ละ 40,000 เหรียญหรือราว 1.2 ล้านบาท สาเหตุที่มีราคาแพงเนื่องจากไนกี้ผลิตออกมาเพียง 87 คู่เท่านั้น  

     นอกจากนั้น StockX ยังจับมือกับผู้ผลิตแบรนด์ต่างๆ แนะนำสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดโดยตรง โดยใช้แคมเปญ IPO- initial product offering เลียนแบบ IPO- Initial Public Offering หรือการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก แต่ของ StockX  เป็นการเสนอขายสินค้า ซึ่ง IPO แรกที่เพิ่งผ่านพ้นไปเป็นการร่วมมือกับเบน บอลเลอร์ เจ้าของธุรกิจอัญมณีชื่อดังที่มีลูกค้าเป็นเซเลบในวงการเพลงจำนวนมาก โดยสินค้าที่นำมาเปิดขายเป็นรองเท้าแตะรุ่น Ben Baller Did the Chain สีดำกับสีแดง ผลิตออกมาเพียง 800 คู่เท่านั้น

     ผลคือได้รับการตอบรับเกินคาด มีลูกค้ากว่า 10,000 คนเข้ามาประมูลรองเท้าโดยเสนอราคาตั้งแต่ 50 เหรียญไปจนถึง 1 ล้านเหรียญก็มี ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้จอชมีแผนจะร่วมงานกับแบรนด์อื่นเพื่อนำสินค้ามา IPO อีก มีการคาดการณ์ว่าในปี 2023 ธุรกิจรีเซลรองเท้าและเสื้อผ้าทั่วโลกจะมีมูลค่า 51,000 ล้านเหรียญ โดย stockX จะทำรายได้ 6,000 ล้านเหรียญจากจำนวนดังกล่าว ปัจจุบัน เว็บไซต์ของ StockX มีลูกค้าเข้าชมเฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านคน และทำยอดขายเกือบ 2 ล้านเหรียญต่อวัน 
 
     ที่มา : https://thehundreds.com/blogs/content/how-i-got-here-josh-luber-of-stockx
               www.voguebusiness.com/technology/stockx-sneaker-resale-market-streetwear
               www.thisismoney.co.uk/money/smallbusiness/article-6700085/How-Josh-Luber-StockX-turned-trainer-collecting-hobby-1billion-trading-platform.html
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup