Tech Startup

เจาะตลาด food delivery ในจีน ไขปริศนาเหตุใดฉงชิ่งจึงเป็นเมืองปราบเซียน


 

Main Idea
 
  • ธุรกิจส่งอาหารในจีนเป็นตลาดที่โตเร็วและมีมูลค่าถึง 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว  1.12 ล้านล้านบาท)โดย 1 ใน 4 ของประชากรหรือประมาณ 355 ล้านคนใช้บริการ และกว่า 80 เปอร์เซนต์ของลูกค้าเป็นพนักงานทำงานในออฟฟิศ
 
  • อย่างไรก็ตาม ในบรรดามหานครขนาดใหญ่ของจีน ฉงชิ่งเป็นเมืองเดียวที่ food delivery เป็นธุรกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยภูเขาทุกด้าน ทำให้กำหนดโลเคชั่นยาก การจัดส่งอาหารให้ลูกค้าจึงต้องอาศัยความชำนาญทางมากกว่าแผนที่ในแอปพลิเคชั่น 




     ในบรรดาสินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์ในจีน อาหารเป็นหมวดหมู่หนึ่งที่เติบโตเร็วสุด โดยเฉพาะธุรกิจบริการส่งอาหารที่มีมูลค่า 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว  1.12 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลูกค้าสั่งผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 355 ล้านคนหรือ 1 ใน 4 ของประชากรประเทศ เฉพาะในมหานครปักกิ่งเมืองเดียว ในแต่ละวัน มีคำสั่งซื้ออาหารเพื่อนำส่งวันละกว่า 1.8 ล้านออร์เดอร์ ลูกค้าที่สั่งอาหารทางมือถือส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83 รองลงมาคือนักศึกษาประมาณร้อยละ 10 ที่เหลือคืนลูกค้ากลุ่มอื่น

     ข้อมูลยังระบุอีกว่าเมืองและมณฑลที่มีการสั่งอาหารออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู และกรุงปักกิ่ง สำหรับฉงชิ่ง หนึ่งในสี่มหานครของจีน และเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ แม้ไม่ติดอันดับท้อป 5 แต่ก็เป็นเมืองที่เลื่องชื่อในการปราบเซียนสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาทำธุรกิจส่งอาหาร

     เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาลดหลั่น และเป็นมหานครที่ตึกระฟ้าขึ้นแบบกระจัดกระจายไร้ระเบียบนี้ เป็นปัญหาสำหรับพนักงานส่งอาหารเป็นอย่างมากหากไม่ใช้คนในพื้นที่ที่ชำนาญทางจริง ๆ ฉงชิ่งจึงเป็นเมืองอุตสาหกรรมไม่กี่เมืองที่ระบบนำทางจีพีเอสใช้การไม่ได้ ต้องอาศัยความคุ้นเคยในพื้นที่มากกว่า

     หลี่ หลิว พนักงานส่งอาหารสังกัดแอปสั่งอาหาร Meituan Dianping เล่าว่าตัวเขาแม้จะเป็นคนฉงชิ่ง อาศัยอยู่ในย่านชนบท แต่เพิ่งเข้าเมืองมาทำงานส่งอาหารได้เพียง 6 เดือน ครั้งหนึ่งเขาเคยใช้เวลานานกว่าชั่วโมงในการหาที่อยู่ลูกค้า “ถ้าดูในแผนที่จะเหมือนว่าใกล้นิดเดียว แต่เอาเข้าจริงต้องเดินไกลมาก แถมลูกค้าก็อยู่ที่ชั้นที่ 22 ของตึก แผนที่อาจใช้นำทางได้ แต่ที่เป็นประโยชน์จริง ๆ คือความคุ้นเคยสถานที่”

     ด้านซิน เสี่ยวหย่ง ซึ่งมาจากมณฑลกุ้ยโจวและทำหน้าที่ส่งอาหารให้กับ Ele.me บริษัทในเครืออาลีบาบาเล่าถึงวันแรกที่ทำงานว่า “ผมไปตามจีพีเอส แต่กลับเจอทางตัน เลยต้องถามทางจากคนแถวนั้นถึง 4-5 คน จนในที่สุดก็ไปถึงที่หมายจนได้ แต่ก็ใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่าเจอลูกค้า” เช่นเดียวกับพนักงานส่งอาหารอีกหลายคนที่ยืนยันว่าพวกเขาพึ่งระบบจีพีเอสไม่ได้ ต้องอาศัยจดจำเส้นทางเอง

     หลิน ฮุ่ย นักวิชาการด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geoinformation Science) แห่ง Chinese University of Hong Kong อธิบายว่าฉงชิ่งเป็นเมืองสามมิติ และระบบการแจ้งที่อยู่ก็ซับซ้อนไปด้วย ยกตัวอย่างอาคารหลังหนึ่งอาจมี 2 ที่อยู่ที่ชื่อถนนไม่เหมือนกัน โดยผู้คนสามารถเดินเข้าไปชั้น 1 ของตึกจากฝั่งถนนหนึ่ง แต่พอไปออกชั้น 7 จะกลายเป็นอีกถนนอีกสายเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขาลดหลั่น ชาวเน็ตบางคนถึงกับขนานนามเมืองฉงชิ่งที่โอบล้อมด้วยภูเขาทั้ง 4 ด้านว่าเป็นเมืองแฟนตาซี 8 มิติ

     ยกตัวอย่างเขตหยูจง มีตึก 24 ชั้นหลังหนึ่งที่สร้างโดยไม่มีลิฟต์โดยสาร แถมประตูตึกทั้ง 3 ทางก็เปิดออกไปยังถนนคนละสาย ที่ฉงชิ่ง สัญญาณดาวเทียมไม่สามารถกำหนดโลเคชั่นทั้งแนวราบ และแนวตั้งอย่างแม่นยำได้เนื่องจากผลกระทบจากภูเขาที่รายล้อม การทำแผนที่แบบสามมิติด้วยระบบอัลกอริทึมอาจทำได้แต่จะไม่ตรงกับโลเคชั่นจริง เมื่อเทียบกับพื้นที่ราบอย่างในปักกิ่ง จะมีความแม่นยำกว่า 

     ด้วยเหตุนี้ บริการส่งอาหารในฉงชิ่งจะประสบปัญหามากในการหาที่อยู่ไม่เจอ หรือหายาก ทำให้ส่งช้า ตามมาด้วยเสียงร้องเรียนของลูกค้า บรรดาผู้บริการสั่งอาหารออนไลน์จึงต้องพยายามแก้ไขปัญหา โฆษกแอป Meituan Dianping เผยเนื่องจากถนนในเมืองฉงชิ่งจะสูงต่ำสลับกันเป็นคลื่น ทำให้วางแผนเส้นทางค่อนข้างยาก ดังนั้น ทางบริษัทจะทำการรวบรวมข้อมูลและปรับปรุงแผนที่ใหม่ ด้าน Ele.me ระบุจะร่วมมือกับผู้จัดทำแผนที่เพื่อปรับปรุงจีพีเอส และเชิญผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าที่มีประสบการณ์ในเมืองฉงชิ่งมาฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้กับพนักงานส่งอาหารของบริษัท 
 
     ที่มา : www.techinasia.com/food-delivery-match-chinese-city
               https://daxueconsulting.com/o2o-food-delivery-market-in-china/
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup