Tech Startup
DITP ดัน Startup ไทยเข้าสู่ตลาดอาเซียน จับมือ NIA ติวเข้มการ Pitching
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เร่งผลักดัน Startup ไทยในรายสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การบริการและการท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ให้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมชี้ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย และกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เนื่องจากมีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน และพฤติกรรมผู้บริโภคมีความคล้ายคลึงกับไทย แต่อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งที่พบในการก้าวสู่ตลาดต่างชาติของ Startup ไทยคือการ Pitching ดังนั้น สถาบันฯ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ดำเนินโครงการ “Pitch2Success : สานฝันสตาร์ทอัพไทยสู่สากล” เพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว พร้อมผลักดันผู้ที่เข้าร่วมโครงการไปสู่เวทีพิชชิ่งระดับนานาชาติ “สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2019” ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ได้เข้าถึงแหล่งทุนในการขยายธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
วิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริม Startup ไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนน้อยที่สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ กรมฯ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันกลุ่มดังกล่าวให้สามารถเติบโตได้เช่นเดียวกับธุรกิจ SME และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในรายสาขาที่ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การบริการและการท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ เทคโนโลยีการเกษตร อาหาร ฯลฯ ซึ่งจะต้องผลักดันให้มีการลงทุนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ได้เข้าถึงแหล่งทุนในการขยายธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมฯ ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีโอกาสขยายช่องทางการค้าไปยังต่างประเทศอยู่แล้วนั้น จึงมีนโยบายการสร้างกลไกการพัฒนา Startup ไทยให้สามารถเติบโตในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากมีประชากรสูงถึง 600 ล้านราย โดยตลาดที่น่าสนใจในการขยายธุรกิจ Startup คือ ประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรสูงถึง 250 ล้านคน รวมถึงกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สามารถผลักดันให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยการอาศัยความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคล้ายคลึงกับไทย โดยเฉพาะในด้านการบริการและการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น บริการด้านการขนส่งและการเดินทาง บริการด้านการเงิน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจบันเทิง บริการด้านการแพทย์ รวมถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อตอบสนองการทำเกษตรกรรมที่ถือเป็นอาชีพพื้นฐานของภูมิภาคอาเซียน
วิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมการพัฒนา Startup ไทยให้สามารถเติบโตในต่างประเทศ ได้แก่
1.กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ด้วยหลักสูตร การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ในบริบทการค้ายุคดิจิทัล ทั้งด้วยองค์ความรู้ในการจัดทำแผนธุรกิจ การทำพรีเซนเทชั่น (Pitch Deck) เทคนิคในการนำเสนอที่จะดึงดูดนักลงทุน (Pitching) เป็นต้น
2.การเข้าร่วมกิจกรรมงานแฟร์ : สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ (สพบ.) จะเป็นหน่วยงานของกรมที่จะต่อยอดและนำพาผู้ประกอบการStartupเข้าสู่เวทีโลก อาทิ งานแฟร์ในต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการ Startup จะสามารถขอรับเงินทุนสนับสนุนได้รายละไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านโครงการ SME Pro-active สำหรับ Startup
นันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่าภายใต้นโยบายส่งเสริม Startup ของรัฐบาล NEA ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ และการฝึกปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเติบโตได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้วยการสนับสนุนเรื่องการระดมทุน การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรม งานวิจัย และเทคโนโลยี การต่อยอดสู่เวทีต่างๆ ที่สามารถผลักดันให้ Startup ก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้น โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจ Startup เป็นต้น
นันทพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ทักษะด้านหนึ่งที่ผู้ประกอบการ Startup ไทยยังขาดก็คือการ Pitching ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดใจนักลงทุน ให้เข้ามาร่วมลงทุนและให้ความช่วยเหลือต่างๆสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่มีทั้งการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร ทักษะการนำเสนอ การตั้งคำถาม – คำตอบระหว่างผู้นำเสนอและผู้รับฟัง การสร้างเนื้อหา (Content) ที่จำเป็นสำหรับการพิชชิ่ง ดังนั้น สถาบันฯ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งเป็นองค์กรหลักเจ้าภาพหลักด้านการพัฒนา Startup ของประเทศ ดำเนินโครงการ “Pitch2Success : สานฝันStartupไทยสู่สากล” เพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว พร้อมมุ่งให้ความรู้ในการนำเสนอแนวคิดและแผนธุรกิจ Startup (Pitching) ในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่เวทีการค้านานาชาติได้ง่ายขึ้น
โครงการดังกล่าวได้มีการเชิญวิทยากรที่มากด้วยความสามารถและประสบการณ์มาให้ความรู้แก่ Startup ทั้งรายเก่าและรายใหม่จำนวน 40 ราย อย่างใกล้ชิด เช่น สุรวัฒน์ พรหมโยธิน ผู้มากประสบการณ์จาก Silicon Valley พงศธร ธนบดีภัทร ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Refinn สิทธิกิตติ์ รวิวีรวรรณ ผู้พัฒนาระบบจองคิว QueQ ฯลฯ ซึ่งภายหลังจากการเรียนและเวิร์คช็อป จะมีการให้ Pitching จริงกับคณะกรรมการ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 10 ราย จะได้ไปแข่งขันการ Pitching เพื่อรับการระดมทุนจากนักลงทุนในเวที สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2019 ซึ่งถือเป็น Startup อีเวนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ทั้ง 40 รายที่เข้าร่วมโครงการ Pitch2Success ยังจะได้รับสิทธิ์ไปออกบูธในงานเดียวกัน เพื่อแสดงศักยภาพและความน่าสนใจของธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนและต่อยอดด้านต่างๆ ในลำดับต่อไป
ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การพัฒนา Startup ไทยในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีสัดส่วนที่เยอะมากขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบัน NIA มีจำนวน Startup ที่ร่วมพัฒนาภายใต้โปรแกรม Startup Thailand ประมาณเกือบ 2,000 ราย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าStartupไทยยังมีจำนวนน้อยที่มีโมเดลธุรกิจที่มีความเป็นนานาชาติและความเป็นสากล สวนทางกับนักลงทุนที่เป็น Corporate Venture ที่มีทั้งปริมาณและเม็ดเงินจำนวนมาก จึงทำให้ไม่สามารถร่วมลงทุนกันได้ ทั้งนี้ จึงจำเป็นจะต้องสนับสนุนความเป็นสากลกับStartupไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับบริบทการค้าและผู้บริโภคในระดับโลก พร้อมทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป
สำหรับการส่งเสริมด้านดังกล่าวของ NIA นั้น ในระยะแรกจะมีการเชิญชวน Startup ที่เป็นต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน และทำธุรกิจในไทย ซึ่ง NIA จะอำนวยความสะดวกทั้งด้านการจัดตั้งบริษัทและพื้นที่การดำเนินธุรกิจ (landing pad) สมาร์ทวีซ่า ศูนย์บริการที่เป็น One Stop Service ที่ทรูดิจิทัล พาร์ค ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี และ Global Hub ที่ Chiang Mai & CO จ.เชียงใหม่ โดยการสนับสนุนตามแนวทางข้างต้นมั่นใจว่าจะทำให้ Startup ไทยเข้าใจมาตรฐานการทำ Startup ระดับนานาชาติ รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยี และแนวคิดที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละสินค้าและบริการที่มีอยู่ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดการแข่งขัน Startup ในระดับอาเซียนปี 2019 คาดว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนและการระดมทุนในกลุ่มธุรกิจที่เติบโตแล้ว ตัวอย่าง เช่น Grab (แกร็บ) และ Gojek (โกเจ็ก) หรือ ที่รู้จักกันในนาม Get (เก็ท) จากประเทศอินโดนีเซีย ส่วนของประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ในกลุ่ม Deep Technology เช่น เอไอ บล็อกเชน บิ๊กดาต้า ไอโอที Startupด้านเกษตรกรรม อาหาร การท่องเที่ยว เทคโนโลยีการแพทย์ รวมทั้งสมาร์ทซิตี้ หรือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ถือว่ามีความได้เปรียบในการแข่งขันและโอกาสเติบโตสูง ส่วน Startup ที่การแข่งขันเริ่มมีปริมาณมากและคาดว่าจะล้นตลาดคือกลุ่มโมบายล์แอปพลิเคชั่น ซึ่งทางรอดคือจะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และเน้นให้เกิดความเร็วทันใจมากที่สุด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup