Tech Startup
เจาะเคล็ดลับ โอมิเซะ ว่าที่ Unicorn แรกของไทย
Main Idea
- โอมิเซะ ผู้ให้บริการ Payment Gateway ที่ผ่านมามีการระดมทุนไปแล้วกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงอยู่ในสถานะใกล้เคียงกับการเป็น Unicorn รายแรกของเมืองไทยมากที่สุด
- มาดูกันว่า อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของ Startup รายนี้
หนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงที่น่าจับตามองของวงการ Startup บ้านเราในนาทีนี้คงหนีไม่พ้น โอมิเซะ ผู้ให้บริการ Payment Gateway ที่อยู่ในสถานะใกล้เคียงกับการเป็น Unicorn รายแรกของเมืองไทยมากที่สุด โดยมีการระดมทุนไปแล้วกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท และมีการดำเนินการทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้นต้องอาศัยอะไรบ้าง อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอมิเซะ จำกัด เปิดเผยดังนี้
1. หยิบ Pain Point มาตอบโจทย์ให้ตรง
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของบ้านเรากำลังเติบโต ร้านขายของออนไลน์ก็มีการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่คนส่วนใหญ่กลับต้องชำระเงินแบบออฟไลน์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเปลี่ยนใจไม่ซื้อของนั้นๆ เมื่อมองเห็นถึง Pain Point ตรงนี้ ทางโอมิเซะจึงสร้างบริการรับชำระเงินออนไลน์ หรือ Payment Gateway ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและช่วยให้การจ่ายเงินบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
2. ก้าวข้ามคำว่า “ยาก” แล้วลงมือทำ
หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องยากในการเข้ามาทำ FinTech เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยและต้องได้รับการรับรองที่เป็นมาตรฐาน รวมไปถึงการป้องกันว่าจะไม่เกิดการรั่วไหลของข้อมูล โอมิเซะให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยเข้าไปศึกษา รวมถึงหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ และเนื่องจากทุกๆ วันของการทำ Startup เป็น Learning Curve จึงต้องอาศัยความกล้าที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนที่มีความรู้เพื่อที่จะนำสิ่งที่พวกเขาได้แชร์นั้นมาพัฒนาตัวโปรดักต์ให้ได้มาตรฐาน
3. เปิดรับสิ่งใหม่ ไม่ปิดกั้นตัวเอง
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โอมิเซะเป็นบริษัทไทยที่สามารถเข้าไปสู่ตลาดต่างประเทศและสู้กับรายใหญ่ๆ ได้ก็คือ การมีวิสัยทัศน์ของการเป็น Early Adopter เปิดรับนวัตกรรมและเทรนด์ใหม่ๆ อยู่เสมอ อีกทั้งยังวางมาตรฐานไว้ที่การเป็น Global Standard ไม่ใช่แค่ Local Standard
4. รักษาวัฒนธรรมองค์กร เคารพความคิดซึ่งกันและกัน
วัฒนธรรมองค์กรของโอมิเซะคือ การเป็น Flat Organisation หรือโครงสร้างองค์กรแบบราบ ซึ่งสามารถทำงานร่วมกันได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านบุคคลหลายระดับ รวมถึงการเคารพในไอเดียของกันและกัน อีกทั้งยังใช้เรื่องของ Small Talk หรือการคุยสัพเพเหระเข้ามาสร้างความคุ้นเคยและทำให้คนในองค์กรรู้สึกว่าไม่มีช่องว่างระหว่างคนทำงานด้วยกันอีกด้วย
5. ปรับตัวให้เป็น มองโลกให้กว้าง
หากจะเปรียบโอมิเซะเป็นสัตว์อะไรสักอย่างก็คงเป็นกิ้งก่าคาริบเบียน ที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีตาที่สามารถกรอกได้ 360 องศา และพร้อมจู่โจมแมลงแบบทันที ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นของการเป็นอี-คอมเมิร์ซ แล้วปรับเปลี่ยนมาทำ Payment Gateway จนถึงตอนนี้ที่มีการศึกษาว่าจะนำเอาเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้กับ Payment Gateway ได้ยังไงบ้าง นี่คือความไม่หยุดนิ่งและมองหาวิธีใหม่ๆ มาต่อยอดธุรกิจอยู่เสมอ
6. อย่ามองข้าม Innovation
ต้องมีการปรับตัวและรับมือกับ Innovation ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด การใช้ Innovation และ Tool ต่างๆ เข้ามาช่วยทำให้มีเวลามากขึ้นเพื่อไปโฟกัสสิ่งที่สำคัญกว่า และนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมโอมิเซะที่มีพนักงานแค่ร้อยกว่าคนถึงสามารถให้บริการและแข่งขันกับผู้เล่นอื่นๆ ที่มีบุคลากรเยอะได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup