Tech Startup
UAVA สตาร์ทอัพสร้างนวัตกรรมรังวัดที่ดินด้วยโดรน
สืบเนื่องจากเป็นคนที่ชอบเล่นโดรนอยู่แล้ว ประกอบกับมองว่าโดรนน่าจะสามารถนำมาทำประโยชน์ได้มากกว่าแค่เป็นโดรนพ่นยาเพื่อการเกษตรอย่างที่ใช้กันในวันนี้ นพกร ถนอมเสียง พร้อมด้วย พรพิมล พ้องเสียง และ ป้องเกียรติ์ พลกุล จึงเริ่มต้นทำการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีของโดรนว่าสามารถสร้างประโยชน์ด้านใดได้บ้าง และหลังจากมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนที่ทำงานด้านวิศวกรรมจึงได้ข้อสรุปตรงกันว่า โดรนสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับงานรังวัดที่ดินได้
“จากประสบการณ์ของตนเองที่พบเจอ กว่ากระบวนการโอนที่ดินจะแล้วเสร็จนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้เกิดความสงสัยว่า กระบวนการใดที่ทำให้เกิดความล่าช้า เมื่อทำการสำรวจก็พบว่า งานรังวัดที่ดินของกรมที่ดินค่อนข้างมีความล่าช้า โดยที่ดินประมาณ 5 ไร่ต้องใช้เวลารังวัดเฉลี่ย 1 วัน ดังนั้น เราจึงเกิดไอเดียที่จะนำโดรนเข้ามาใช้ในงานรังวัด เพราะเราศึกษาแล้วว่า โดรนช่วยย่นระยะเวลารังวัดที่ดินได้มากทีเดียว โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงในการรังวัดที่ดิน 5 ไร่” นพกรกล่าว
เมื่อมองว่าสามารถนำโดรนมาช่วยในการรังวัดที่ดินได้ เขาและทีมจึงพัฒนาระบบ UAVA ซึ่งเป็นระบบรังวัดที่ดินแบบใหม่ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าในงานรังวัดของกรมที่ดิน ทำให้สามารถเข้าไปรังวัดที่ดินในสถานที่ที่เข้าถึงยากได้ เช่น สถานที่ป่ารกร้าง และภูมิประเทศที่สูงชัน พร้อมทั้งช่วยแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่รังวัดไม่เพียงพอต่ออัตรางาน
ระบบ UAVA ให้บริการในส่วนของ 1.Drone Survey ที่ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ซึ่งควบคุมด้วยเทคโนโลยีวางแผนการบินรังวัดและระบบรับสัญญาณดาวเทียมแบบจนล์ (RTK GNSS NETWORK) ที่สามารถให้ค่าพิกัดของรูปแปลงที่ดินได้อย่างถูกต้องแม่นยำในระดับเซนติเมตร 2.Map Created เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี UAV กับงานรังวัดจากภาพถ่ายอากาศด้วยภาพถ่ายแนวดิ่งและข้อมูลประกอบค่าความเอียง ค่าพิกัดการเปิดถ่าย เพื่อนำมาประมวลผลจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และ 3.Landscape 3D Model การทำแบบจำลองสามมิติเสมือนจริงด้วย UAV ประมวลผลด้วยซอฟแวร์ที่ใช้อัลกอริธึมทางด้าน Computer Vision ที่สามารถประมวณผลได้แบบอัตโนมัติ จึงได้ความละเอียดจุดภาพและมีความถูกต้องสูง
ด้วยระบบ UAVA ซึ่งเป็นระบบรังวัดที่ดินแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพดังกล่าวข้างต้น จึงช่วยสนับสนุนงานของกรมที่ดิน ดังนี้
-Fast Survey รังวัดที่ดิน 5 ไร่ ภายใน 1 ชม. จากเดิมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรังวัดต้องใช้เวลารังวัดเฉลี่ย 1 วัน
-Easy Survey เข้ารังวัดที่ดินได้ แม้สถานที่ที่เข้าถึงได้ยาก เช่น สถานที่ป่ารกร้าง และภูมิประเทศที่สูงชัน เป็นต้น
-Use less people ระบบรังวัดที่ใช้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรังวัดที่ดินเพียง 1-2 คน
-Realtime Data ระบบรับส่งข้อมูลรังวัดที่ดินระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรังวัดกับ เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมกรมที่ดิน ออนไลน์ แบบเรียลไทม์
สำหรับขั้นตอนการทำงานนั้น นพกรอธิบายว่า เริ่มจากศูนย์ควบคุมกรมที่ดินกำหนดแผนการบินให้เจ้าหน้าที่รังวัด จากนั้นเจ้าหน้าที่สั่งโดรนขึ้นรังวัดผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อกับแผนการบินจากศูนย์ควบคุมฯ โดยโดรนจะเก็บพิกัดรังวัดและภาพถ่ายสามมิติส่งมายังศูนย์ควบคุมฯ เพื่อตรวจสอบและออกโฉนดที่ดินต่อไป
“ระบบ UAVA กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาให้ได้ความแม่นยำในการรังวัดที่ดินที่ 98 เปอร์เซ็นต์ตามที่กรมที่ดินกำหนด ซึ่งตอนนี้ระบบของเราให้ความแม่นยำที่ 86 เปอร์เซ็นต์ โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความแม่นยำคาดเคลื่อนคือ กระแสลมที่ส่งผลต่อการบินของโดรน ดังนั้นจึงต้องทำการศึกษากันต่อไปเพื่อหาวิธีการลดความคาดเคลื่อนให้ได้ และเมื่อถึงวันที่ระบบได้มาตรฐาน เราก็พร้อมเปิดให้บริการ” นพกร กล่าวในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup