Tech Startup
ไอเดียใหม่! กระดูกเทียมแบบ Customize จาก Meticuly
หาก Pain Point ทำให้เกิดธุรกิจ Meticuly ก็เกิดจาก Pain Point ที่มากมายทีเดียว เริ่มตั้งแต่การไม่สามารถหาวัสดุมาใส่ทดแทนกระดูกส่วนที่เสียหายได้อย่างเหมาะสม ทำให้ต้องผ่าตัดนำกระดูกบางส่วนของผู้ป่วยมาใช้แทน ตามมาด้วยปัญหาที่ว่าแม้จะมีวัสดุทดแทนแต่ก็มีขนาดตามมาตรฐานสากลซึ่งไม่ได้ตรงกับสรีระของคนไทยซะทีเดียว แถมบางทีถ้าต้องการใช้วัสดุทดแทนกระดูกส่วนอื่นที่ไม่ได้มีความต้องการมากอย่างข้อเข่า อาจต้องรอนาน 3-4 อาทิตย์ และสุดท้ายอย่างที่รู้กันคือ ราคาเกินเอื้อมสำหรับหลายคน
เมื่อไม่ต้องการให้งานวิจัยดีๆ อยู่บนหิ้ง และเพื่อช่วยแก้ปัญหากระดูกทดแทนของคนไทยได้ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชิ้นส่วนกระดูกทดแทนเพื่อความต้องการเฉพาะบุคคลในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเกิดขึ้น เพื่อนำงานวิจัยมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาของ Meticuly อธิบายถึงงานของเมติคูลี่ว่า เป็นการผลิตชิ้นส่วนกระดูกทดแทนเพื่อความต้องการเฉพาะบุคคลและง่ายต่อแพทย์ในการผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing มาใช้ในการออกแบบและขึ้นรูปวัสดุให้ตรงกับรูปร่าง หรือใกล้เคียงกับอวัยวะในส่วนเดิมของผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด เพื่อนำไปใส่ในผู้ป่วยเพื่อทดแทนกระดูกที่เสียหายในระยะเวลาที่รวดเร็ว
“ในปัจจุบันอวัยวะเทียมที่เป็นกระดูกมีไม่กี่ชิ้น เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก กลุ่มที่เป็นตัวดามกระดูก และส่วนเล็กๆ น้อยๆ ในร่างกาย แต่ว่าในกรณี เช่น นิ้วหาย ข้อมือแตก หน้าผากยุบ ไม่มีโซลูชันชัดเจนจริงๆ ขณะเดียวกันวัสดุที่แทนกระดูกที่มีจะเป็นขนาดสำเร็จรูป พอมาใส่ให้คนไทยก็ไม่เหมาะไม่พอดี เราจึงพัฒนาชิ้นส่วนกระดูกทดแทนที่เป็นลักษณะเฉพาะส่วนบุคคล ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเวลานานในการรอชิ้นส่วนกระดูกทดแทน และปรับแต่งชิ้นส่วนกระดูกให้เข้ากับสรีระผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการผ่าตัดของผู้ป่วยลง”
บุญรัตน์บอกว่า ตอนนี้ในการผลิตชิ้นส่วนกระดูกทดแทนของเมติคูลี่มี 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย กลุ่มแรกเป็นการผลิตกระดูกทดแทนโดยใช้วัสดุไทเทเนียมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไข้เนื้องอก มะเร็งในกระดูก กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ต้องใช้แผ่นโลหะดามกระดูก เช่น กระดูกหัก กระดูกแตก โดยเมติคูลี่จะผลิตชิ้นส่วนดามกระดูกในส่วนที่ยากที่ในปัจจุบันสิ่งที่มีอยู่ยังตอบโจทย์ไม่ได้ และกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มชิ้นส่วนทดแทนที่ใช้พลาสติกเป็นวัสดุในการผลิตเพื่อเป็นไกด์ในการผ่าตัดช่วยให้การผ่าตัดเร็วขึ้น
“กระบวนการผลิตชิ้นส่วนทดแทนกระดูกเป็น Mass Production แต่ถ้าจะทำชิ้นส่วนทดแทนกระดูกให้คนไข้หนึ่งคนก็ต้องทำให้ใหม่เขียนโปรแกรมใหม่คนต่อคน ซึ่งไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย สิ่งที่เราทำตรงนี้คือ Mass Customize Production เป็นการปรับรูปแบบการผลิตใหม่ คือทุกชิ้นส่วนจะสร้างตามสรีระคนไข้ เพียงแต่ว่าด้วยกระบวนการในการผลิตการออกแบบ ถ้าเป็นในส่วนที่เราพัฒนาไว้แล้วจะเร็วมาก จะสามารถผลิตได้เลย ในช่วงข้ามคืนเราผลิตให้คนป่วย 10 คนได้” บุญรัตน์กล่าวในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup