Tech Startup
Uber Eats โตเร็วด้วยกลยุทธ์ ”virtual restaurant”
หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วและน่าจับตามองในขณะนี้เห็นจะได้แก่ food delivery – บริการสั่งอาหารออนไลน์และจัดส่งถึงบ้าน ในการสำรวจตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ธุรกิจนี้เติบโตต่อเนื่องในอัตรา 20% ต่อปี คาดปี 2022 GMV (gross merchandise volume) หรือยอดซื้อขายสินค้ารวมจะอยู่ที่ 75,900 ล้านเหรียญโดยมี Grubhub ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดที่ร้อยละ 52
ในส่วนของ Uber Eats แม้จะเป็นรองและเพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2015 ซึ่งไม่ถึง 3 ปีเต็ม แต่ก็สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว มอร์แกน สแตนลีย์ และโกลด์แมน แซคส์ สองวาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลกประเมินธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ของ Uber Eats จะมีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญทั้งที่เพิ่งดำเนินได้ไม่กี่ปี คาดว่าจะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ดีกว่าบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นด้วยซ้ำ
นอกจากสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศแผนส่งอาหารให้ลูกค้าด้วยโดรน กลยุทธ์หนึ่งที่มีส่วนทำให้ธุรกิจ Uber Eats โตเร็วคือ virtual restaurant หรือ virtual kitchen ทั้งนี้ เวลาลูกค้าในแต่ละพื้นที่เสิร์ชหาเมนูอาหารที่ต้องการสั่งแล้วไม่ปรากฎว่ามีในแอพ Uber Eats จะมีทีมงานคอยเก็บข้อมูล ทำให้ทราบว่าลูกค้ามองหาอะไร เมนูไหนได้รับความนิยม ทีมงานก็จะติดต่อร้านอาหารในพื้นที่นั้น ๆ แนะนำให้เพิ่มเมนูเพื่อเอาใจลูกค้า โดยที่เมนูเหล่านั้นจะจำหน่ายผ่านร้านอาหารออนไลน์บนแอพเท่านั้น
ยกตัวอย่าง หลังจากเก็บข้อมูลและพบว่าลูกค้าย่านถนนในเขตบรู้คลิน นิวยอร์กมีความต้องการเบอร์เกอร์กูร์เม่ต์ที่เน้นวัตถุดิบคุณภาพดีและพิถีพิถันในการปรุง Uber Eats ได้ติดต่อเจ้าของร้าน Gerizim Café & Icecream ที่บริการอาหารหลายอย่าง แต่ไม่เน้นเบอร์เกอร์และมีให้เลือกแค่ 2 เมนูธรรมดาๆ เท่านั้น โดย Uber Eats ให้เจ้าของร้านผลิตเบอร์เกอร์คุณภาพดีหลากหลายเมนู เช่น เจิร์กเบอร์เกอร์ แซลมอนเบอร์เกอร์ และเบอร์เกอร์มังสวิรัติภายใต้ชื่อ Brooklyn Burger Factory กำหนดไว้ว่าร้านนี้จะจำหน่ายเบอร์เกอร์ที่ออกแบบมาใหม่และจำหน่ายผ่านแอพเท่านั้น
เรียกว่า Gerizim Café & Icecream เป็น physical store ที่ลูกค้าไปใช้บริการ มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งทานในร้าน แต่ Brooklyn Burger Factory เป็นร้านออนไลน์ ไม่มีหน้าร้าน อาศัยครัวของ Gerizim Café & Icecream ในการผลิตเพื่อป้อนออร์เดอร์ออนไลน์ ผลคือ จากที่ Gerizim Café & Icecream ทำยอดขายเบอร์เกอร์วันละ 1-2 ชิ้นเนื่องจากเน้นเมนูอื่นมากกว่า แต่หลังจากเปิดร้าน Brooklyn Burger Factory ยอดขายเบอร์เกอร์เพิ่มขึ้น มีออร์เดอร์เข้ามาเฉลี่ย 75 ชิ้นต่อวัน ส่งผลให้รายได้เพิ่มมากกว่าร้าน physical store ถึง 28 เท่าเลยทีเดียว
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง คาเฟ่ที่หาดไมอามีชื่อ Venezia Pizza & Lounge เมื่อได้รับการติดต่อจาก Uber Eats ก็ได้เปิดร้านออนไลน์ MIA Wings ขึ้นมา จำหน่ายเฉพาะปีกไก่ทอดเป็นเมนูหลัก ทำให้ยอดขายของร้านเพิ่มขึ้นถึง 80% ทั้งร้าน Brooklyn Burger Factory และร้าน MIA Wings เป็นร้านที่ฝังตัวอยู่กับร้านออฟไลน์ ไม่มีหน้าร้าน เมนูที่จำหน่ายก็ไม่เหมือนร้านออฟไลน์ Uber Eats ให้นิยามร้านแบบนี้ว่า virtual restaurant หรือร้านอาหารเสมือนจริง
ปัจจุบัน Uber Eats มีร้านอาหารเสมือนจริงราว 1,600 แห่งใน 300 กว่าเมืองทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐฯ เกือบ 800 แห่ง บริษัทมีแผนเพิ่มร้านอาหารเสมือนจริงในสหรัฐฯให้ถึง 1,000 แห่งในปลายปีนี้ และขยายอีก 400 แห่งในอังกฤษ พร้อมกับเน้นที่ตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ด้วย
การดำเนินกลยุทธ์ร้านอาหารเสมือนจริงหรือ virtual restaurant ดูไปก็คล้ายกลยุทธ์การทำ fighting brand ของหลายบริษัทที่แนะนำผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อเจาะลูกค้าอีกตลาด อย่างในกรณีนี้ เป็นการแบ่งชัดเจนระหว่างลูกค้าร้านอาหารออฟไลน์ กับร้านอาหารออนไลน์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เจ้าของร้านยินดีตอบรับคำเสนอของ Uber Eats เนื่องจากการเปิดร้านอาหารออนไลน์เพิ่มเข้ามาไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพราะใช้สถานที่คือครัว วัตถุดิบ และแรงงานที่มีอยู่แล้ว
นอกจากนั้น ยังทำให้ร้านอาหารได้ขยายไลน์อาหาร เช่น ร้านบุฟเฟต์ซูชิแห่งหนึ่ง แม้จะให้บริการแบบ all you can eat แก่ลูกค้าที่มาทานที่ร้าน แต่ก็มีบริการออนไลน์ที่จำหน่ายชุดอาหารเบนโตะ หรืออาหารเป็นจานๆ แก่ลูกค้าที่สั่งผ่านแอพด้วย กลยุทธ์ร้านอาหารเสมือนจริงนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการที่มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม และ Uber Eats ที่สร้างความพึงพอใจ ตอบโจทย์ลูกค้า มีตัวเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น นักวิคราะห์มองว่า virtual restaurant นี่เองอาจเป็นหมัดเด็ดที่ทำให้ Uber Eats ชิงส่วนแบ่งการตลาดมาครองได้มากถึง 70% ในอนาคต
ที่มา : www.eater.com/2018/10/24/18018334/uber-eats-virtual-restaurants
www.bloomberg.com/news/articles/2018-10-24/uber-s-secret-empire-of-virtual-restaurants
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup