Tech Startup

9 ข้อต้องรู้ เมื่อคิดเป็น Startup มือใหม่





 

     หลายคนมีความฝันที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองซึ่งการทำ Startup ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มาแรงในยุคปัจจุบัน และสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยชิมลางดำเนินกิจการมาก่อนอาจไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง ลองมาดู 9 ข้อเรียนรู้แบบง่ายๆ ที่จะช่วยให้การเป็นเจ้านายตัวเองไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
 
     1. มีไอเดียและสิ่งที่จะทำ
     ประโยคที่ว่า “ทำในสิ่งที่คุณอยากทำ” ยังใช้ได้อยู่เสมอโดยเฉพาะกับการทำธุรกิจ Startup ที่ต้องอาศัยการทำงานหนักเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากไม่รู้สึกสนุกหรือเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แรงบันดาลใจและไอเดียที่มีมาตั้งแต่ต้นอาจสูญหายไป นอกจากนี้การจะทำโปรดักต์ขึ้นมาสักอย่างควรคำนึงถึง Pain Point หรือปัญหาที่ผู้บริโภคต้องเจอเพื่อทำการคิดค้นโซลูชั่นเข้าไปแก้ไขและตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาเหล่านั้น โดยเฉพาะหากเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ต้องเจอก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้นและชี้ให้เห็นถึงขนาดของตลาดได้   
 
     2. ตั้งทีม
     การลงมือทำธุรกิจ Startup เพียงคนเดียวไม่ใช่เรื่องที่ดีและถือเป็นการฆ่าตัวตายอย่างหนึ่ง ดังนั้นการมีผู้ร่วมก่อตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะมาเป็นผู้ร่วมแชร์ความทุกข์ ค่าใช้จ่าย ปัญหาต่างๆ และปริมาณงานที่ต้องทำ โดยทั่วไปเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้งที่ดีที่สุด ซึ่งทีมของผู้ก่อตั้งควรมีเพียง 2 – 3 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ทีมที่มีขนาดใหญ่เกินไปมักจะต้องแยกกันในภายหลังและแตกออกเป็นบริษัท 2-3 ที่ นอกจากเพื่อนแล้วคนในครอบครัวอย่างพี่น้องและคู่ครองก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีในการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง แต่ต้องแน่ใจว่าพวกเขาจะมีส่วนรับผิดชอบในการทำงานอย่างแท้จริง โดยการสร้างทีมหลักขึ้นมาควรดูจากคาแรคเตอร์ไม่ใช่ทักษะ เพราะทักษะสามารถฝึกฝนกันได้แต่กับบุคลิกนั้นไม่ใช่ ซึ่งต้องแน่ใจว่าชอบคนพวกนี้และรู้สึกสนุกที่ได้ทำงานร่วมกันเพราะต้องใช้เวลาถึงครึ่งหนึ่งไปกับคนเหล่านี้นั่นเอง
 
     3. คิดอย่างเป็นระบบ
     ในช่วงของการเริ่มต้นควรใช้เวลาและทรัพยากรทั้งหมดที่มีในการสร้างธุรกิจและทำการขาย อย่าเพิ่งไปคิดถึงการมีออฟฟิศสวยหรู เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเขียน ยูนิฟอร์มและการจดทะเบียนบริษัท เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถทำในตอนหลังได้ ทางที่ดีควรใช้เงินอย่างชาญฉลาดและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงควรมีการเก็บเงินในบัญชีเพื่อใช้สำหรับการทำธุรกิจโดยเฉพาะซึ่งจะทำให้ไม่ต้องควักเงินจากกระเป๋าส่วนตัวอยู่ตลอดและง่ายต่อการเก็บข้อมูลการทำรายรับรายจ่ายอีกด้วย     
 
     4. เรียนรู้เทคโนโลยี
     ปัจจุบันเรื่องของเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้ หลายต่อหลาย Startup ที่เจอกับความล้มเหลวก็เนื่องมาจากมีการตัดสินใจในเรื่องของเทคโนโลยีที่ไม่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าเทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือ ซึ่งผู้ที่เข้ามาจับธุรกิจต้องเปิดใจและพร้อมที่จะเรียนรู้และศึกษาให้เกิดประโยชน์ อย่ารีบร้อนที่จะซื้อเซิร์ฟเวอร์ราคาสูงหรือขยับขยายไปใช้เทคโนโลยีล้ำๆ ก่อนเวลาอันควร
 
      5. จ้างคนที่ “ใช่”   
      สิ่งสำคัญในการคัดกรองคนคือต้องทำการพูดคุยและพิจารณาว่าคนๆ นั้นสามารถทำอะไรได้บ้างและจะต่อยอดในอนาคตได้ยังไง อย่าลืมว่าควรเลือกคนจากบุคลิกก่อนทักษะอยู่เสมอ เพราะทักษะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้กันได้ในภายหลัง การจ้างคนผิดเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่ทำให้เสียทั้งเวลา เงินทองและการลงทุนในทรัพยากรต่างๆ หากเลือกคนที่ไม่ควรเข้ามาแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขอให้ลาออก ดังนั้นควรมีช่วงทดลองงานประมาณ 3 – 6 เดือน เพื่อทำการคัดกรองคนที่ “ใช่” เข้ามาจริงๆ
 
      6. ทำความเข้าใจการระดมทุน
      หากเอ่ยถึงการทำ Startup แล้วจะไม่นึกถึงเรื่องของการระดมทุนก็คงจะไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรเข้าใจคือการระดมทุนจากนักลงทุนต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องหลักเท่ากับการสร้างธุรกิจให้ดีและมีโปรดักต์ที่โดน และเมื่อการระดมทุนเป็นไปในลักษณะของตลาดที่แบ่งออกเป็น 2 ข้าง (two-sided market) ซึ่งฝั่งหนึ่งเป็น Startup ที่วิ่งเข้าหาแหล่งเงินทุนและอีกฝั่งคือนักลงทุนที่คอยมองหาโปรดักต์ที่น่าสนใจ ดังนั้นหาก Startup ไหนมีผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพก็เท่ากับเพิ่มแรงดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาหาเอง นอกจากนี้บริษัทใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จบางแห่งนั้นเริ่มต้นธุรกิจ Startup ด้วยเงินทุนของตัวเองหรือเงินลงทุนจากคนใกล้ชิดและมีการดำเนินกิจการโดยคนในครอบครัวอีกด้วย
 
     7. จัดการการเงิน
     เมื่อเงินเป็นเรื่องสำคัญและเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการเป็นอย่างดี โดยเส้นทางการเงินและข้อมูลที่เกี่ยวข้องควรใสสะอาด มีการยื่นภาษีตามกฎหมาย นอกจากนี้ควรทำการจ้างผู้สอบบัญชีให้เข้ามาดูแลตรวจสอบและให้คำแนะนำ ตามหลักแล้วหนึ่งในสมาชิกของผู้จัดตั้งธุรกิจควรมีความสามารถในการจัดการเรื่องการเงินที่ถือเป็นออกซิเจนสำหรับการทำ Startup และจะสำคัญมากยิ่งขึ้นหากต้องทำการระดมทุนในอนาคตด้วย
 
     8. ศึกษาเรื่องการขายและการตลาด
     ในช่วงแรกธุรกิจควรเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติจากการตลาดแบบปากต่อปากก่อน ซึ่งข้อดีก็คือไม่ต้องเปลืองงบไปกับการจ้างทีมเซลล์และการตลาด หรือหากจะทำการจ้างควรหลีกเลี่ยงการรับคนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะการมีทีมที่ใหญ่เกินไปก่อนถึงเวลาอันควรจะเป็นตัวเผาผลาญเงินให้หมดไปอย่างรวดเร็ว หากไม่มีความชำนาญในเรื่องนี้ควรทำการศึกษาและลองทำการขายและการตลาดด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อยแต่ถือว่าคุ้มค่าเพราะเรื่องของการขายและการตลาดมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการเติบโตของธุรกิจ  
 
     9. บาลานซ์งานและชีวิตส่วนตัว
     เมื่อความฝันและความต้องการที่จะประสบความสำเร็จมีอยู่ในตัวของคนที่เข้ามาทำ Startup ทุกคน จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่คนเหล่านี้จะทุ่มเททั้งชีวิตและเวลาให้กับการทำในสิ่งที่รักซึ่งก็ต้องแลกกับการสูญเสียและขาดหายไปของบางสิ่งบางอย่างโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง คนรักหรือเพื่อน รวมไปถึงสุขภาพ ชีวิตส่วนตัวและความสนุกสนาน ดังนั้นการจัดการและสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะอย่าลืมว่าสิ่งเหล่านั้นที่คุณอาจจะต้องสูญเสียไปไม่สามารถหาซื้อใหม่ได้ด้วยเงินทอง ความสำเร็จหรือชื่อเสียงที่มี   
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup