Tech Startup
ร้านค้าอัจฉริยะมาแรง ห้างอิออนญี่ปุ่นจีบสตาร์ทอัพจีนหวังดูด know -how
เป็นกระแสมาพักใหญ่แล้วเกี่ยวกับร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีพนักงานคอยบริการ ภาพที่เห็นคือลูกค้าเดินเข้าร้านและเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องการโดยไม่ใช้เงินสดหรือจ่ายกับแคชเชียร์ แต่จ่ายผ่านสมาร์ทโฟน ผ่านการสแกนนิ้วมือ ม่านตา ใบหน้า หรือหรืออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ร้านค้าไร้แคชเชียร์นอกจากเป็นเทรนด์ของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ยังเป็นการปฏิวัติวงการค้าปลีกในยุคดิจิทัลที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ผู้ประกอบการที่เพิกเฉยต่อกระแสนี้ มีแนวโน้มจะถูกทิ้งในตกขบวน ด้วยเหตุนี้ บริษัทอิออน ผู้ค้าปลีกรายใหญ่จากญี่ปุ่นซึ่งดำเนินธุรกิจที่เราคุ้นกันดีได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ตแม็กซ์แวลู และห้างสรรพสินค้าอิออนก็ไม่พลาดจะร่วมกระบวนด้วย
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ อิออนได้ร่วมมือกับบรรดาเทคสตาร์ทอัพในจีนเปิดศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในเซี่ยงไฮ้เพื่อหวังเรียนรู้เทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (artificial intelligence) และระบบชำระค่าสินค้าและบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์จากสตาร์ทอัพเหล่านั้น จะได้นำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมค้าปลีกในอนาคต ศูนย์วิจัยดังกล่าวดำเนินการโดย “อิออนดีไลท์ ดีพบลู เทคโนโลยี” บริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างอิออนกับดีพบลู เทคโนโลยี สตาร์ทอัพในเซี่ยงไฮ้ที่เชี่ยวชาญด้าน AI ระดับสูง รวมถึงการจัดตั้งร้านค้าไร้แคชเชียร์ และการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมค้าปลีก นอกจากนั้น อิออนยังร่วมทุนกับบริษัทเทคโก สตาร์ทอัพอีกรายที่พัฒนาระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลโดยการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ซึ่งโกเทคเป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซของจีน
ที่ศูนย์วิจัยอันเกิดจากความร่วมมือระหว่างอิออนกับสตาร์ทอัพจีนได้มีการจำลองร้านค้าอัจฉริยะขึ้นมา เมื่อลูกค้าเดินเข้าร้านจะมีหุ่นยนต์คอยทักทายเป็นภาษาจีนกลาง “หนีห่าว-สวัสดี” ลูกค้าเพียงแค่ใช้ฝ่ามือแตะที่เซ็นเซอร์บนตัวหุ่นยนต์ ประตู้ร้านด้านในจะเปิดออกให้ลูกค้าเข้าไปเลือกสินค้า ได้แก่ ขนมและเครื่องดื่ม และเมื่อจะเปิดประตูตู้แช่ ก็สามารถปลดล็อคด้วยฝ่ามือเช่นกัน หลังจากได้ของที่ต้องการแล้ว ระบบจะทำการชำระเงินผ่าน Alipay ทั้งนี้ ลูกค้าจำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อใช้บริการชำระค่าสินค้าแบบไร้เงินสดกับผู้ให้บริการ เช่น อาลีบาลาก่อน
ขณะเดียวกัน “อิออนดีไลท์ ดีพบลู เทคโนโลยี” ยังพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย และหุ่นยนต์ทำความสะอาดเพื่อนำไปใช้ที่ศูนย์การค้าอิออนที่กำลังจะเปิดบริการในมณฑลเจียงซูในปีหน้า และจะขยายการใช้งานไปยังห้างอิออนอีกราว 80 สาขาทั่วจีน ไม่เพียงพัฒนาเพื่อใช้งานเอง “อิออนดีไลท์ ดีพบลู เทคโนโลยี” จะนำนวัตกรรมที่กล่าวมาไปขายให้ผู้ค้าปลีกรายอื่นด้วย
แม้ยอดขายในจีนของอิออนจะเพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 262,000 ล้านเยนในปีการเงินที่สิ้นสุดเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา แต่การดำเนินการกลับขาดทุนถึง 1,500 ล้านเยน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่อิออนต้องฟื้นผลกำไรให้ได้เพราะนอกจากเป็นศูนย์กลางการดำเนินกลยุทธ์ในตลาดต่างประเทศของอิออนแล้ว จีนยังฐานทดลองกลยุทธ์ด้านดิจิทัลซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ จีนได้ขึ้นแท่นผู้นำระดับโลกในการพัฒนาร้านค้าอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี AI และอิออนก็หวังจะถ่ายโอนเทคโนโลยีเหล่านี้มาเพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น
เทคโนโลยีที่อิออนกระหายใคร่ครอบครองสุดคือระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ บริการชำระเงินผ่านมือถือ เช่น Alipay และ WeChat ของจีนกำลังแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ในจีนเอง ร้านค้าอัจฉริยะเริ่มผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเมื่อบริษัทต่างๆ พร้อมใจติดตั้งระบบและขยายการใช้งาน เมื่อเทียบกันแล้ว อุตสาหกรรมค้าปลีกญี่ปุ่นยังช้าในเรื่องนี้มากเนื่องจากมัวเน้นแค่การพัฒนาตัวสินค้ากับการบริการ อิออนเล็งเห็นแล้วว่าหากต้องการให้ธุรกิจเติบใหญ่ก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันต่อกระแส ด้วยเหตุนี้ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่จากญี่ปุ่นจึงเตรียมทุ่มงบ 500,000 ล้านเยนในปี 2020 พัฒนาระบบไอทีและโลจิสติกส์ โดยสร้างระบบกระจายสินค้าแบบอัตโนมัติ และเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์มากขึ้น
ที่มา : www.asia.nikkei.com
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี