Tech Startup
ถอดบทเรียน Hungry Hub เมื่อเจอทางตันก็ต้องพลิกหาโมเดลใหม่
Hungry Hub เป็นแพลตฟอร์มจองร้านอาหารในรูปแบบบุฟเฟต์ จึงตอบโจทย์คนที่ต้องการจำกัดงบประมาณ แต่เชื่อหรือไม่ ก่อนหน้าที่จะเป็น Startup ที่โดดเด่นน่าจับตามอง Hungry Hub ก็เคยล้มเหลวมาก่อนกับโมเดลธุรกิจแรกจองร้านอาหาร 24 ชั่วโมง ที่เจอทางตันไปต่อได้ยาก จึงต้องกลับมาทบทวนและเริ่มทดสอบโมเดลธุรกิจใหม่กันอีกรอบ จนกระทั่งสามารถพลิกหาโมเดลใหม่ เป็นการจองร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ที่กำหนดราคาแน่นอน โดย สุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Hungry Hub เล่าถึงแนวคิดการพลิกโฉมโมเดลธุรกิจนี้ว่า
“คือเราเปลี่ยนค่อนข้างเยอะ แต่อยู่ในวงการอาหาร ยังคงใช้ระบบการจอง ใช้แบรนด์เดิม แต่ลูกค้ากลุ่มใหม่ ร้านอาหารก็กลุ่มใหม่ จากร้านอาหารที่เป็นแบบสแตนด์อโลน เราก็มาจับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เพราะเป็นร้านอาหารที่มีสาขา ทำให้เราได้ทีเดียวหลายสาขา ซึ่งในตอนเปลี่ยนเราก็ต้องมีการทดสอบก่อนไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะเปลี่ยนเลย เราทดสอบโมเดลใหม่ 3 เดือน แล้วการที่จะแจ้งร้านอาหารว่าจะตัดคุณออกเลิกโมเดลเดิมก็เป็นการตัดสินใจที่ใช้เวลานาน เพราะถ้าตัดไปเลยเงินที่มีอยู่ก็จะสูญทันที แต่เราก็เห็นแล้วว่าภายในเดือนสองเดือนเราสามารถทำได้”
ทั้งนี้ สุรสิทธิ์คิดว่า ข้อได้เปรียบของการเป็น Startup ทำให้สามารถทดสอบโมเดลใหม่ได้คือ การที่ไม่มีคนจับตามองมาก จึงมีช่องทางในการทดสอบตัวเองแบบเงียบๆ
“อยากให้ Startup ลองทดสอบดูเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ได้ บางคนคิดว่าจะทดสอบอะไรต้องทำเทคโนโลยีให้เสร็จก่อนแล้วค่อยทดสอบ แต่เราใช้ระบบเดิมแล้วใช้ Manual ช่วย ทำในเว็บง่ายๆ แล้วทดลอง ไม่ใช่ว่าสร้างเสร็จแล้วค่อยไปขาย อันนี้คือสิ่งที่เราเรียนรู้มาจากครั้งแรกที่ลงทุนทั้งเวลาและเงินพอเปิดมาไม่เวิร์ก แต่ถ้าช่วงแรกทำแค่เฟซบุ๊กเพจแล้วดูผลตอบรับลูกค้าแล้วค่อยมาสร้างเว็บ แอพฯ ตามโจทย์โซลูชันจะทำได้ดีกว่าเยอะ”
ขณะที่ มลพร เทศรัตนวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวเสริมว่า “ตอนเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เราไม่ได้ทำแอพฯ เว็บใหม่ เราใช้ตัวเดิม แค่ปรับเปลี่ยน 10-15 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นปีหนึ่งเราเพิ่งเริ่มทำแอพฯ ใหม่ เว็บใหม่ เพื่อทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เราไม่ได้นำด้วยเทคโนโลยีแต่นำด้วยความต้องการของลูกค้า”
นี่คือแนวทางของ Startup ที่เมื่อเจอทางตันก็ต้องเปลี่ยนหาโมเดลใหม่
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี