Tech Startup
Codekit คว้ารางวัลชนะเลิศเวที Education Disruption Hackathon 2018
ธนาคารกสิกรไทย บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ร่วมกับ ดีแทค แอคเซอเลอเรท จัดงาน Hackathon การประกวดแผนธุรกิจสตาร์ตอัพด้านการศึกษา ภายใต้ชื่องาน "Education Disruption Hackathon 2018" โดยงาน Hackathon ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อจุดประกายนวัตกรรมทางการศึกษา ผ่าน EdTech Startup ที่จะมาแข่งขันกันเพื่อสร้างเทคโนโลยีหรือ Product/Service ใหม่ๆ ทางด้านการศึกษา นับเป็น Hackathon ครั้งแรกที่รวบรวม EdTech startup หรือ EdTech Social Enterprise หรือบุคคลทั่วไปที่เพิ่งเริ่มต้น แต่มีทีมมีความพร้อมอยากเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้กับการศึกษาไทย เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่ออนาคตของประเทศ
งานนี้มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยมีทีมที่สมัครเข้ามากว่า 114 ทีม/ 500 กว่าคน คัดเลือกจนเหลือ 29 ทีม ผ่านเข้ารอบมาร่วม Hackathon 2 วัน 1 คืน ที่ดีแทคเฮาส์ จามจุรีสแควร์ แต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับการ Coaching จากคุณ Michael Staton ซึ่งเป็น Partner จากกองทุน Learn Capital กองทุน VC ที่ลงทุนในเทคโนโลยีการศึกษากว่าหมื่นล้านบาท รวมถึง Mark Pavlyukovskyy CEO of Piper และเมนทอร์ ชั้นนำระดับประเทศ อย่างกระทิง พูนผล จาก 500 TukTuks หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ จาก Ookbee อริยะ พนมยงค์ MD of Line Thailand สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ MD ของ dtac accelerate ไผท ผดุงถิ่น จาก Builk ตะวัน เทวอักษร จาก อักษรเอ็ดดูเคชั่น และหน่วยงานชั้นนำอย่างทีม TDRI รวมถึง mentors ชั้นนำอีกมากมาย
สำหรับทีมที่ชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท พร้อมกับได้ fast track เข้าโครงการ dtac accelerate Final Pitch และ Fast Track ในการรับสิทธิ์เข้าร่วมลงทุนจากกองทุน 500 TukTuks กองทุน Venture Capital ที่ลงทุนใน Startup ไทยไปแล้วกว่า 48 บริษัท ได้แก่ ทีม “Codekit” Learning Programing in a Better way หรือแพลตฟอร์มสอนเขียนโปรแกรมรูปแบบใหม่สำหรับเด็ก CodeKit คือ platform การเรียน programming ในรูปแบบของเกม เข้าใจง่าย เรียนรู้ได้เร็ว สร้างให้โรงเรียนปรับใช้ง่าย และสามารถสร้างตารางเรียน programming ในแบบของตัวเองได้ ครูอาจารย์สามารถใช้เป็นสื่อการสอน โดยมีเนื้อหาที่ update ตลอด และสามารถติดตามการเรียนรู้ของเด็กได้ โดย CodeKit เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเรียนฟรีในคลาส Basic HTML ได้เร็วๆ นี้
ทีมชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ ทีม Inskru : Online Community for Sharing Teaching Ideas and Material ซึ่งเป็น Online Learning Community ใหม่ ให้ครูทั่วทุกมุมในประเทศได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียการสอนเจ๋งๆ กัน เพื่อเปิดมุมมองในการสอน และขยายไอเดียการสอนดีๆ สู่ห้องเรียนทั่วประเทศ ภาพห้องเรียนที่เราวาดฝันอยากให้เป็น คงเป็นห้องเรียนที่เด็กๆ เรียนรู้กันอย่าง active ซึ่งในความเป็นจริงคุณครูมีภาระงานอื่นที่โหลดมาก ไม่มีไอเดีย แล้วก็ไม่มีแรงกระตุ้นในการคิดค้นการสอนใหม่ ๆ ทำให้ห้องเรียนของครูยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อน ทีม insKru มีความเชื่อว่าครูที่มีไอเดียดี กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไอเดียที่ดีในมุมนึงของประเทศ สามารถส่งต่อไปให้ครูอีกมุมนึงของประเทศที่มีบริบทเดียวกัน สร้างห้องเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้นได้ ทางทีมจึงสร้าง online learning community เพื่อให้ครูกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียการสอนเจ๋ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแลปทดลองวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์ เพื่อเปิดมุมองในการสอน และขยายไอเดียการสอนดี ๆ สู่ห้องเรียนทั้งประเทศ เพื่อว่าวันหนึ่งเด็กไทยกว่า 10 ล้านคน จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันผ่านคุณครูของพวกเขาเอง
ทีมที่ได้อันดับที่ 3 มี 2 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท ได้แก่ ทีม Vonder : Chatbot for Personalized Learning โดย Vonder (วอนเดอร์) แชทบอทจะปรับเนื้อหาตามระดับความรู้ของนักเรียน เพราะนักเรียนแต่ละคนมีพื้นฐานและใช้เวลาในการทำความเข้าใจต่างกัน Vonder จึงอยากสร้างเครื่องมือสนุกๆ ที่ช่วยให้นักเรียนไทย ปรับพื้นฐานการเรียนของตัวเองผ่านการมาคุยกับ “แชทบอท” ของวอนเดอร์ ที่นอกจากจะปรับเนื้อหาและควิซคำถามขึ้นมาตามระดับความรู้ของเด็กแต่ละคน เพื่อไต่ระดับการเรียนที่เหมาะสมแล้ว นักเรียนยังสามารถเลือกบุคลิกของบอทที่เราอยากเรียนด้วยได้
และ ทีม Kidslet : IoT of STEM Learning for Equality หรือ Apple ของนิวตันแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นอุปกรณ์ให้เด็กได้ทดลอง ได้สงสัย ได้เข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และประยุกต์สร้างสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปได้ไม่สิ้นสุด เปลี่ยนโลกวิทยาศาสตร์ยาก ๆ ให้กลายเป็นเรื่องสนุก เปลี่ยน Lab ที่ครูต้องใช้เวลาเตรียมนานจนไม่อยากเตรียม เด็กต้องจดบันทึกสิ่งต่างๆ เอง จนไม่อยากทำให้เป็นการทดลองที่สนุกสนาน ข้อมูลถูกส่งไปยัง Cloud เพื่อวิเคราะห์และแสดงผลเป็นกราฟ หรือตาราง ช่วยให้เกิดความสงสัย ความเข้าใจในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ Kidslet ยังถูกออกแบบให้สอดคล้องกับบทเรียนทางวิทยาศาสตร์ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคณิตศาสตร์ ผ่านอุปกรณ์ IoT ที่เด็กสามารถ Hack และดัดแปลง หรือประยุกต์ไปใช้ทำของเล่น หรืออุปกรณ์ที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน สำหรับโรงเรียนที่สนใจการสาธิตเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการศึกษาตามหลักสูตรใหม่ปี 2560
หลับจบงาน Education Disruption Hackathon 2018 เรียกได้ว่างานนี้ มีผู้ชนะที่แท้จริงคือประเทศไทยของเรา หรือ Team Thailand เพราะทุกทีมได้สร้างการเปลี่ยนแปลง และได้สร้างนวัตกรรมกรรมการศึกษาที่จะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างและช่วยยกระดับการศึกษาของประเทศไทย และ Startup ที่มาร่วมงานนี้ ทุกทีมคือผู้ชนะ และทุกทีมคืออนาคตของประเทศไทย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี