Tech Startup

Ricult จะ Disrupt เกษตรแบบดั้งเดิมได้อย่างไร




 
     จากความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากจะทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคม ขณะเดียวกันการเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา แต่มีโอกาสไปร่ำเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีถึง  Massachusetts Institute of Technology (MIT)  ทำให้ อุกฤษ อุณหเลขกะ ขอเป็น Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคม ในชื่อ Ricult โดยหยิบจับเทคโนโลยี Big Data และ Machine Learning มาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

     “Social Enterprise ด้านเกษตรเป็นสายหนึ่งที่น่าสนใจเพราะว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ  ซึ่งในตอนแรกที่เราคิดจะทำ Ricult ก็เริ่มจากไปดูก่อนว่าปัญหาของเกษตรกรที่ทำให้ไม่หลุดพ้นจากความยากจนคืออะไร โดยการไปคลุกคลีสัมภาษณ์เกษตรกรประมาณ 150 คน  พบว่าปัญหาหลักๆ มี 3 ส่วนคือ 1. ผลผลิตน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ผลผลิตข้าวอ้อยของเกษตรไทยน้อยกว่าประเทศอเมริกาและออสเตรเลียเกือบ 3 เท่า สาเหตุก็มาจากการขาดความรู้ และเทคโนโลยี 2. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพราะเกษตรกรไม่สามารถขอสินเชื่อธนาคารต่างๆ ได้ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบซึ่งก็จะเจอดอกเบี้ยที่โหดมาก และ 3. การขายผลผลิตสู่ตลาด การมีพ่อค้าคนกลางมากดราคาถึงที่ เมื่อรู้ปัญหาเราก็มาดูต่อว่าเทคโนโลยีอะไรจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งขณะที่เรียนอยู่ MIT ที่นั่นเริ่มใช้ Machine Learning และ Big Data ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาแก้ปัญหาหลายอย่างแล้ว จึงคิดว่าเราน่าจะเอาเทคโนโลยีนี้มาช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรไทยบ้าง”

     อุกฤษ แจงต่อว่า หลักการของ Ricult คือการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์สภาพพื้นที่ และปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ โดยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากสามารถช่วยลดต้นทุนลงได้กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันก็เพิ่มผลผลิตกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ 

     “พอเรารู้พิกัดของแปลงเกษตรกร ก็ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมวิเคราะห์สภาพดินที่เหมาะสมในการเพาะปลูก และถ้ามีปัญหาในไร่เราจะส่งแจ้งเตือนไปให้  ซึ่งถ้าดูในภาพถ่ายก็จะเห็นว่ามีจุดแดงๆ นั่นคือจุดที่มีปัญหา ปัญหาที่ว่าก็เช่น ปุ๋ยไม่เพียงพอ น้ำท่วม มีแมลงเข้ามา เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาไปเดินตรวจที่อื่น ลองคิดดูถ้ามีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 20-30 ไร่ เกษตรกรต้องเสียเวลาวันละ 3-4 ชั่วโมงถึงจะเดินตรวจได้หมด แต่พอมีเทคโนโลยีนี้เขาจะรู้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปตรวจที่อื่น นอกจากนี้เรายังมีข้อมูลอากาศที่แม่นยำ ทั้งความเร็วลม ฝน อุณหภูมิ  โดยซื้อสัญญาณจากสถานีอากาศจากทั่วประเทศไทย แล้วสร้างโมเดลในการวิเคราะห์ขึ้นมาเอง ซึ่งข้อมูลอากาศนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจทั้งการเก็บเกี่ยว การลงเมล็ด  เช่น ข้าวโพดจะขายได้ราคาสูงถ้าความชื้นต่ำ พอมีตัวนี้ก็สามารถบอกเกษตรกรได้เลยว่าในอาทิตย์หน้าวันไหนความชื้นต่ำที่สุด เกษตรกรก็จะได้ตัดขายวันนั้น ซึ่งทำให้ได้ราคาสูงที่สุด”

     ในส่วนของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น อุกฤษ อธิบายว่า ปกติการที่ธนาคารจะให้สินเชื่อเกษตรกรก็ต้องส่งคนลงไปดูพื้นที่ ใช้เวลาในการอนุมัติสินเชื่อเป็นเวลานาน แต่ด้วยเทคโนโลยีของ Ricult สามารถโหลดภาพดูได้ ว่าพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ โดยมีข้อมูลย้อนหลังให้ดูถึง 5 ปี สำหรับการขายสู่ตลาดจะเป็นการซื้อตรงจากโรงรับซื้อโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง  
     
     “คือโรงรับซื้อต้องการรู้ว่าแปลงไหนผลผลิตจะออกวันไหน เขาจะได้วางแผนไปรับซื้อได้ถูก ซึ่งปกติเขาต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางในการไปรับซื้อ ที่นี่พอมี Ricult เขาสามารถรับซื้อตรงได้เอง โดยดูผ่านแอพฯ”

     ทั้งหมดนี้ อุกฤษ บอกว่า ข้อมูลมีความแม่นยำเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ โดยในปีนี้ซึ่งเป็นปีแรกเขาได้เริ่มทดลองกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในจังหวัดสระบุรี  200 กว่าคน แต่ตอนนี้เกษตรกรตื่นตัวมาก เพราะมีเกษตรกรติดต่อเข้ามาและรอใช้บริการอีกประมาณ 5 พันคน ดังนั้น ในปีหน้าเขาตั้งใจจะขยายไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง รวมถึงขยายสู่จังหวัดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย  

     “เกษตรกรบอกเองเลยว่าเมื่อก่อนเขาต้องพึ่งไสยศาสตร์ในการทำการเกษตร แต่ในวันนี้เขามีวิทยาศาสตร์มาช่วยเขาตัดสินใจแล้ว ตื่นมาตอนเช้าไม่ต้องเดาแล้วว่าฝนจะตกหรือเปล่า เปิดแอพฯ ดูได้เลยว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร แล้วตอนนี้นอกจากแอพฯ และเว็บไซต์แล้วทาง Ricult ยังเพิ่มช่องทางในการคุยกับเกษตรกรผ่านทางไลน์ด้วย โดยเราจะส่งไลน์คุยข้อมูลสำคัญกับเกษตรกรทุกวัน”

     ทั้งนี้ เมื่อต้นปี Ricult ได้รับเงินทุนจากมูลนิธิ บิลล์ เกตส์ จำนวนแสนเดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา Ricult และยังเป็นหนึ่งใน Startup ที่ร่วมโครงการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท ได้รับรางวัล TechCrunch Disrupt ที่เมืองซานฟรานซิสโก จากบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยได้รับเงินทุนจาก ดีแทค และ 500 TukTuks  แต่กระนั้น  อุกฤษ บอกว่าในเวลานี้เขากำลังจะระดมทุนในจำนวนที่ใหญ่ขึ้น  ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนที่เข้ามาลงทุนกับ Ricult จะต้องเข้าใจ Startup ที่เป็น Social Enterprise ที่อาจไม่ได้ผลตอบแทนมหาศาล แต่ที่แน่ๆ สิ่งนี้จะส่งผลต่อเกษตรกรไทยในอันที่จะหลุดจากกับดักความยากจนได้ในที่สุด
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี