Tech Startup
“Blue Apron” 36 เดือนสู่การเป็นบริษัท 2 พันล้าน
ตลาดอาหาร หากศึกษาดีๆ จะมองเห็นช่องทางและโอกาสในการสร้างรายได้ อย่าง Blue Apron ในสหรัฐอเมริกาที่ให้บริการ Meal Kits หรืออาหารพร้อมปรุงส่งตรงถึงบ้านเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ตอบโจทย์ลูกค้าจนทำให้ Startup เจ้านี้ได้รับทุนสนับสนุนจากนักลงทุน 194 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ Blue Apron เป็นบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดบริษัทหนึ่งและขึ้นแท่นระดับยูนิคอร์นหรือบริษัทที่มีมูลค่าในตลาดเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเรียบร้อย
Blue Apron ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2555 ที่นครนิวยอร์กเริ่มต้นจาก แมท ซาลซ์เบิร์ก หนุ่มนักวิเคราะห์การเงินและการลงทุนประจำบริษัท Bessemer Venture Partners ในซิลิคอน วัลเลย์ได้ชักชวนเพื่อนคือ อิลิอา ปาปัส ซึ่งจบวิศวะคอมพิวเตอร์มาร่วมทำธุรกิจด้วยกัน เนื่องจากทั้งคู่ชมชอบอาหาร ชอบลองสูตรและเทคนิคการปรุงใหม่ๆ แต่พบว่าอุปสรรคอยู่ที่การซื้อวัตถุดิบมาปรุงเองมีราคาแพง เสียเวลาเตรียม แถมอาจเจอสูตรอาหารที่ไม่เวิร์ก จึงคิดทำธุรกิจอาหารพร้อมปรุงจัดส่งถึงบ้านใน 24 ชั่วโมง และมีการชักชวน แมททิว วาดิแอค หุ้นส่วนอีกคนที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหารเนื่องจากทำจัดเลี้ยงและค้าส่งพืชผัก เช่น อาโวคาโด และเห็ดทรัฟเฟิลอยู่
เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2555 สามหนุ่มหุ้นส่วนเปิดตัว Blue Apron และเริ่มให้บริการ โดยสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อสั่ง Meal Kits คือกล่องบรรจุวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่จัดเตรียมโดยเชฟมืออาชีพ ทุกอย่างถูกชั่ง ตวง วัดมา แพ็กอย่างดี ติดฉลากระบุน้ำหนักเรียบร้อย แนบมาพร้อมการ์ดสูตรอาหารและขั้นตอนการปรุงอย่างละเอียด เมนูที่นำเสนอมีหลากหลายเพื่อจับกลุ่มลูกค้าให้กว้างที่สุด ทั้งนี้ลูกค้าต้องสมัครสมาชิกโดยเลือกแบบ Two-Person Plan ที่บริการอาหารพร้อมปรุงสัปดาห์ละ 3 เมนู (เมนูละ 2 เสิร์ฟรวม 6 เสิร์ฟ) สำหรับ 2 คนในราคา 59.94 ดอลลาร์ฯ ต่อสัปดาห์ หรือ Family Plan สำหรับ 4 คน ราคา 69.92-139.84 ดอลลาร์ฯ ต่อสัปดาห์ขึ้นอยู่กับจำนวนเมนูที่เลือก ราคาอาหารเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์ฯ ต่อเสิร์ฟซึ่งจัดว่าย่อมเยามาก คือถูกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการต้องไปหาซื้อวัตถุดิบเองตามซูเปอร์มาร์เก็ต
หลังจากที่ให้บริการบนเกาะแมนฮัตตันได้ไม่นาน ผลตอบรับดีเกินคาดเพราะอิทธิพลของการบอกกันปากต่อปาก นอกจากนั้น การผุดธุรกิจแบบนี้ยังมาถูกจังหวะถูกเวลาเพราะเป็นช่วงที่ผู้คนกำลังนิยมกระแสการกินอาหารคลีน และเห่อที่จะปรุงอาหารเองที่บ้าน รวมถึงกระแสการช้อปปิ้งออนไลน์แบบตามสั่ง การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Blue Apron ในช่วงแรกทำให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง เช่น ในแต่ละวันต้องใช้วัตถุดิบที่เป็นของสดจำนวนมากแต่ซัพพลายเออร์ไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอ Blue Apron จึงนำระบบซัพพลายเชนมาใช้ เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดซื้อ จัดหา การผลิต การจัดจำหน่าย การขนส่ง และการจัดเก็บ
ใช้เวลาเพียง 2 ปียอดสั่งอาหารก็ทะลุ 1 ล้านมื้อต่อเดือน เหตุของความนิยมอาจเป็นเพราะธุรกิจอาหารพร้อมปรุง (เน้นดินเนอร์) ตอบโจทย์ลูกค้าอเมริกันหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทำงานยุ่งจนไม่มีเวลาคิดเมนูอาหารหรือออกไปซื้อวัตถุดิบในซูเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มไม่ชอบรับประทานอาหารนอกบ้านและต้องการอาหารดีๆ ปรุงเองที่บ้าน และกลุ่มมือใหม่หัดเข้าครัว Meal Kits จะทำให้การปรุงอาหารเป็นเรื่องสนุกและง่าย ความจริงแล้ว แนวคิดธุรกิจ Meal Kits ที่ทำกันอยู่ในอเมริกามีหลายสิบบริษัท แต่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมาก ได้แก่ Hello Fresh, Plated และ Blue Apron ซึ่งต่างก็เริ่มธุรกิจช่วงไล่เลี่ยกัน แต่สิ่งที่ทำให้ Blue Apron แตกต่างจากเจ้าอื่นจนเติบโตแบบพุ่งทะยานมาจากหลายปัจจัย
อย่างแรกคือ การไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มลูกค้าในเมืองที่มีไลฟ์สไตล์แบบเร่งรีบไม่มีเวลาไปซื้อวัตถุดิบ แต่ยังโฟกัสไปยังกลุ่มผู้อาศัยชานเมืองหรือชนบทที่ห่างไกลร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าต่างๆ Blue Apron ให้บริการครอบคลุมถึงกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ไม่น้อย อย่างที่สองคือ การต่อยอดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน นอกจากบริการอาหารพร้อมปรุง Blue Apron ยังมีบริการจับคู่ไวน์กับอาหารที่ลูกค้าสั่ง โดยจ่ายเพียงเดือนละ 60 ดอลลาร์ฯ บวกค่าส่ง 5.99 ดอลลาร์ฯ ลูกค้าจะได้รับไวน์ขนาด 500 มิลลิลิตร จำนวน 6 ขวด นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจอื่น เช่น จำหน่ายเครื่องครัวและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และยังพิมพ์ตำราอาหารออกจำหน่ายด้วย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ที่ให้บริการ Blue Apron ได้รับทุนจาก Venture Capital รวม 4 รอบ เริ่มจาก 3 ล้านดอลลาร์ฯ ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2555 ก็มีทุนไหลเข้ามารวมแล้วเกือบ 200 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้มูลค่าในตลาดของบริษัทพุ่งทะยานเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์ฯ กลายเป็น Startup หน้าใหม่ที่มีชื่อในกลุ่มยูนิคอร์นหรือกลุ่มบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ ภายในเวลา 36 เดือน
ทุนที่สนับสนุน Blue Apron นำมาขยายครัวกลางและศูนย์ผลิต ปัจจุบัน Blue Apron เติบใหญ่มีศูนย์บรรจุอาหาร 3 แห่ง และพนักงานราว 4,000 คน ให้บริการ Meal Kits ครอบคลุมเกือบครบทุกรัฐในอเมริกายกเว้นฮาวายและอะแลสกา ยอดการส่งสินค้าอยู่ที่ประมาณ 159 ล้านเมนูต่อเดือนจาก 25 ล้านออร์เดอร์ ปีที่ผ่าน Blue Apron ทำรายได้ 795.4 ล้านดอลลาร์ฯ และทีมผู้ก่อตั้งเล็งจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปีนี้
และนี่คือความสำเร็จของผู้ประกอบการที่สามารถให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาด เมื่อบวกกับทีมที่สมาชิกมีจุดแข็งกันคนละด้าน จึงเป็นการเสริมให้แผนธุรกิจนั้นลุล่วงได้ง่ายและเร็ว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี