Tech Startup
กรุงศรี ฟินโนเวต VC ของ FinTech
กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทในเครือกรุงศรี เน้น 3 กิจกรรมหลักด้านเทคโนโลยีทางการเงิน คือ การสร้างนวัตกรรม การบริหารจัดการ Startup และการลงทุนพัฒนา FinTech ด้วยงบลงทุน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 3 ปีแรก
“มีคำพูดหนึ่งมาจากแบงก์ชาติสิงคโปร์บอกไว้ว่า แบงเกอร์ไม่มีเวลาที่จะคิดอะไรใหม่ๆ เพราะเรายุ่งกับงานเดิม วันหนึ่งๆ เรามีงาน 6-7 อย่างบนโต๊ะทำงาน FinTech นี่แหละที่จะเป็น Innovator ให้กับธนาคาร เหตุผลเพราะว่าเขาทำอยู่แค่อย่างเดียว โฟกัสเรื่องเดียว ถ้าทำไม่รอดเขาก็เจ๊ง แล้วก็มีรีเซิร์ชมาเชื่อมกันอีกว่า ธนาคารในยุโรปที่เชื่อมกับ FinTech ROI (Return on Investment) จะสูงขึ้น แต่ธนาคารที่เป็น Traditional แบบเดิมๆ ROI จะตกลง ดังนั้น ธนาคารจึงต้องมีแผนก FinTech เพื่อที่จะไปหา FinTech แล้วเราจะได้นวัตกรรมดีๆ จริงๆ ในตอนแรกเราก็คิดว่า จะเป็นแค่เทรนด์หรือเปล่า แต่ตอนนี้มันเป็นเทรนด์ภาคบังคับไปแล้ว เพราะถ้าไม่ทำเราจะไม่สามารถเป็นลีดเดอร์ในดิจิตอลแบงกิ้งได้เลย” แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เล่าถึงแนวคิดของการเปิด กรุงศรี ฟินโนเวต
ทั้งนี้ แซมขยายความภารกิจหลักของกรุงศรี ฟินโนเวต ด้วยว่าจะเน้น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การส่งเสริมและพัฒนาการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Krungsri RISE และ Krungsri Uni Startup ในการพัฒนาทั้งในเชิงความรู้ เงินทุน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Startup 2.การบริหารจัดการ Startup โดยจะร่วมมือกับ Startup จากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และ 3.การลงทุน (Venture Capital) โดยจะใช้งบลงทุนเริ่มต้นที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรก
“หลักๆ เราลงทุนในระดับ Series A ขึ้นไป เราจึงต้องใช้เงินเยอะ เราไม่ลงระดับ Seed Fund เนื่องจากธนาคารก็ยังไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ขนาดนั้น ขณะที่ถ้าอยู่ในระดับ Series A เราจะเห็นโปรดักต์แล้วมาต่อยอดกับธนาคารได้ แต่เราจะเป็นพันธมิตรกับ 500 TukTuks ดีแทค แอคเซเลอเรท เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้กับเขาตั้งแต่ยังเป็นประถม และเมื่อขึ้นมัธยมเราจะลงทุนกับเขาได้เลย อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ซึ่งทีแรกเราตั้งเป้าหมายว่าลงทุน 10 โครงการ ยอมเจ๊ง 4 โครงการเลย แต่ท่านประธานธนาคารบอกว่า ที่เราทำกรุงศรี ฟินโนเวต เพราะเรา
ต้องการเข้าไปอยู่ใน Startup Ecosystem เรื่องของตัวเลขไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เรื่องเอา FinTech มาต่อยอดกับนวัตกรรมให้ธนาคารต่างหากเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง”
สำหรับเป้าหมายการลงทุนในปีนี้ แซมเผยว่าจะลงทุนกับ Startup 4-5 โครงการ รวมประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ฯ
“ใน 2 ปีแรกเราคงลงทุนกับ FinTech เป็นหลัก ส่วนหลักเกณฑ์ก็ง่ายๆ ถ้าผ่านกรุงศรี ไรส์ก็จะได้สิทธิพิเศษ หรือมีโปรเจกต์กับกรุงศรีแล้ว หรือกำลังจะมีโปรเจกต์ซึ่งเราเห็นแล้วว่ามันมีความเป็นไปได้ ขณะที่ทีมงานก็เป็นอีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญ เพราะเราไม่ได้ลงทุนในโปรดักต์อย่างเดียวเราลงทุนในคนด้วย โดยเราให้ความสำคัญเรื่องทีมประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการที่บริษัทมันเล็กถ้าทีมงานไม่แข็งแกร่ง หัวไม่ดีก็ไปยาก แต่ถ้าหัวดี แข็งแกร่งก็ไปได้เร็ว”
แต่กระนั้นต้องยอมรับว่า FinTech ในไทยยังมีจำนวนไม่มาก และนั่นจึงทำให้ต้องมีโครงการกรุงศรี ไรส์ ขึ้นมาเพื่อเร่งสปีดนวัตกรรม และ Startup ซึ่งในปีนี้โครงการกรุงศรี ไรส์ จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยมีการวางคอนเซปต์เอาไว้ว่า 2 เท่า กล่าวคือ มีการขยายระยะเวลาการติวเข้มไปกับ Intensive Bootcamp จาก 8 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 16 สัปดาห์เต็ม และจำนวนเมนเทอร์จาก 50 เป็น 100 คน เป็นต้น
“สำหรับ กรุงศรี ไรส์ ปีนี้เราไม่ได้เน้นว่าต้องเป็น FinTech ทั้งหมด เราเรียกว่า FinTech Plus หมายถึงว่านอกจาก FinTech แล้ว ยังสนใจในเทคโนโลยีที่เราอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่มาช่วยลูกค้าธนาคารได้ เช่น Big Data, Blockchain, AI (Artificial Intelligence) ฯลฯ ซึ่งถ้าในอนาคตอีกปีสองปีเทคโนโลยีเปิดตัวมาเจ๋งมากเราก็สนใจจะลงทุน แต่ไม่ใช่ปีนี้”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี