Tech Startup
6 ปัจจัยดึงดูด VC ต่างชาติเพื่อลงทุน ในมุมมองเจฟฟรี เพย์น กองทุน Golden Gate Ventures
สตาร์ทอัพไทยเป็นนักรบเศรษฐกิจที่จะช่วยผลักดันประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่อัตราการอยู่รอดของสตาร์ทอัพยังไปไม่ถึงไหน สตาร์ทอัพในปัจจุบันยังคงย่ำอยู่กับที่หรือล้มหายไปตามกระแส ซึ่งเหลือเพียง 1% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้เพราะมีเงินลงทุนจาก VC ที่จะทำธุรกิจอย่างเพียงพอในแต่ละรอบของการหาเงินทุน ดังนั้นการเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าVC ต่างชาติมองหาอะไรในตัวสตาร์ทอัพไทยเป็นสิ่งสำคัญ นับเป็นโอกาสอันดีที่สุดยอดนักลงทุนระดับเอเชีย
เจฟฟรี เพย์น ผู้ร่วมก่อตั้งและนักลงทุนชื่อดังของ Golden Gate Ventures ที่มีประสบการณ์ในการทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทสตาร์ทอัพมาก่อน และเป็นหนึ่งในเทรนเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนจากโครงการ ดีแทค เอคเซอเลอเลท batch 5 ได้มาเผยถึง 6 ปัจจัยที่ VC ต่างชาติมองหาสตาร์ทอัพเพื่อลงทุน คือ
1. Team (การทำงานเป็นทีม) – การมีทีมงานที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเปิดใจพร้อมที่จะถูกเทรนหรือโค้ชตลอดเวลา และมีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจและมีความโฟกัสในการทำธุรกิจของตัวเอง
2. Market Opportunity (โอกาสการทำธุรกิจหรือตลาดใหม่) – เงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงและต้องดู Revenue หรือยอดขายของธุรกิจว่ามีอัตราการเติบโตมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเข้าใจมูลค่าทางธุรกิจของตนเอง
3. Defensibility (การป้องกันธุรกิจของตน) – ต้องตรวจสอบว่าธุรกิจของเราง่ายที่จะถูกคัดลอกไหม เพื่อป้องกันคู่แข่งไม่ให้ลอกเลียนแบบธุรกิจและต้องสร้างความแตกต่าง
4. Capital / Margins (เงินทุน) – ความคุ้มค่าของการลงทุนในธุรกิจและต้องคำนวณเรื่องการใช้เงินว่าต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหนกว่าจะคืนทุน
5. Country For Follow On (ประเทศหรือผู้ลงทุนต่อเนื่อง) – มีผู้ลงทุนในตลาดเพียงพอหรือไม่เพื่อที่จะให้สตาร์ตอัพไต่ไประดับที่สูงกว่า
6. Exit Potential (จุดหมายสำคัญของธุรกิจ) – เป้าหมายของสตาร์ตอัพว่า ในที่สุดแล้วจะขายกิจการ หรือเอากิจการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้เจฟฟรี เพย์นยังได้เล่าถึงความแตกต่างของการทำสตาร์ทอัพในประเทศไทยและต่างประเทศอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงยังได้แชร์ทิปมัดใจ VC สั้นๆ และทิศทางการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
1. Be Yourself (เป็นตัวของตัวเอง) – โชว์ศักยภาพของสตาร์ทอัพให้เยอะที่สุด บอกจุดแข็งของตัวเองและความจริงใจต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ
2. Family Oriented (ความเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน) - เป็นจุดแข็งที่สตาร์ทอัพควรรักษาเอาไว้ ความเป็นครอบครัวเดียวกัน ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสตาร์ทอัพกันเอง ซึ่ง ดีแทค แอคเซอเลอเรท คือตัวอย่างที่ดีในการสร้างคอมมูนิตี้ของสตาร์ทอัพไทยที่แข็งแรงที่สุดแห่งหนึ่ง
3. Understanding Cultural Differences (ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม) – สตาร์ทอัพจะไปไกลได้ถ้าพัฒนาในเรื่องของภาษาและเดินทางออกไปต่างประเทศ เพื่อหามุมมองในการทำธุรกิจที่กว้างมากขึ้นหรือมองเห็นภาพใหญ่มากขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้าในระดับสากลหรือในภูมิภาค
นอกจากนี้ กิตตินันท์ อนุพันธ์ ผู้ก่อตั้ง Claim Di ซอฟต์แวร์ที่ปฏิวัติวงการประกันภัย รายแรกของโลก บริการเคลมประกันภัยรถยนต์ได้ทุกประเภท และเป็นสตาร์ตอัพที่ Golden Gate Venture ลงทุนในระดับ Seed และ Series A อย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติต้องการในตัวสตาร์ทอัพไทย คือ Visibility หรือ การทำให้นักลงทุนต่างชาติมองเห็นศักยภาพของสตาร์ตอัพ เช่น การไป pitch บนเวทีต่างๆ ทำตัวให้นักลงทุนมองเห็น ทำให้นักลงทุนสนใจและอยากร่วมลงทุนด้วย ข้อสองคือ Growth หรือ ความเติบโตทางธุรกิจ ที่สามารถวัดได้ในระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือน เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะมัดใจ VC และทำให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่ง และสุดท้ายคือ Evaluation หรือ การประเมินมูลค่าบริษัทตนเองได้ตรงตามที่ VC ต่างชาติมองหาและต้องการในทิศทางเดียวกันและทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และเข้าใจในมูลค่าของบริษัทที่ตรงกัน”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี