Tech Startup
เจาะกลยุทธ์การตลาด Daily Harvest เปลี่ยนอาหารแช่แข็งให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ
Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
เมื่อพูดถึงอาหารแช่แข็ง ผู้บริโภคสายรักสุขภาพจะไม่ปลื้มปริ่มนักเพราะมองว่าไม่ใช่อาหารสด เป็นอาหารผ่านกระบวนการ คุณค่าทางโภชนาการอาจไม่ได้เต็มร้อย อาหารแช่แข็งจึงถูกกันออกไปจากหมวดหมู่ healthy food มานาน แต่วิธีการใดที่สตาร์ทอัพรายหนึ่งในอเมริกานำมาใช้จนสามารถโน้มน้าวผู้บริโภคให้เชื่อว่าอาหารแช่แข็งก็ “คลีน” ได้เหมือนกัน และยิ่งทำให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นเมื่อดำเนินธุรกิจไประยะหนึ่ง เกว็นเน็ธ พัลโทรว์ นักแสดงฮอลลีวูดผู้ผันมาเป็นกูรูแนะนำข้อมูลด้านสุขภาพ และเซเรน่า วิลเลียมส์ นักเทนนิสดังสนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ
เรากำลังพูดถึง Daily Harvest ธุรกิจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในนิวยอร์กที่ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยสาวอเมริกันชื่อเรเชล ดีรอรี Daily Harvest เป็นธุรกิจเกี่ยวกับอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานใน 30 วินาที สินค้ามีไม่กี่อย่างและปลอดเนื้อสัตว์ ประกอบด้วย สมูทตี้รสชาติต่างๆ ซุป และขนมหวานสไตล์พาเฟต์ โดยปกติในการเก็บเกี่ยวผักผลไม้บางชนิดเพื่อส่งจำหน่าย เกษตรกรจะกะเวลา เลือกเก็บเกี่ยวตอนที่ยังไม่สุกจัดเพื่อปล่อยให้ผักผลไม้นั้นสุกระหว่างการเดินทางไปบรรจุบนชั้นจำหน่าย ซึ่งจะทำให้รสชาติด้อยลงและคุณค่าทางอาหารไม่เต็มร้อย แต่ Daily Harvest สร้างความแตกต่างโดยการคัดสรรผักผลไม้ออร์แกนิกที่สุกได้ที่ณ แหล่งปลูก ล้างทำความสะอาดและใช้เทคนิคการแช่แข็งอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาคุณค่าทางอาหารของวัตถุดิบเหล่านั้นให้มากที่สุด
Daily Harvest ชูจุดขายการเป็นซุปเปอร์ฟู้ด ภายใต้สโลแกน Superfoods. Super fast ที่มาในรูปอาหารแช่แข็งและพร้อมทานใน 30 วินาที อย่างสมูทตี้ก็จะเป็นการผสมระหว่างผลไม้แช่แข็งต่าง ๆ หลากหลายรส บรรจุเป็นแก้วๆ ลูกค้าแค่เทใส่โถปั่นก็รับประทานได้ทันที หรือขนมหวานและซุปที่เชฟออกแบบมาให้ปรุงแต่งน้อย คงรสชาติเดิมมากที่สุด ก็เป็นอาหารที่เพียงแค่อุ่นก็วางในอุณหภูมิปกติจนคลายความเย็นก็พร้อมทานได้เช่นกัน Daily Harvest ใช้วิธีประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่าอาหารแช่แข็งไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เข้าใจผิดเสมอมา ยังมีอาหารแช่แข็งเพื่อสุขภาพเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคอยู่
หนึ่งปีหลังความพยายามในการทำการตลาดก็เริ่มเห็นผลเมื่อเริ่มมีเม็ดเงินจากนักลงทุนจำนวนหนึ่งไหลเข้ามา แต่ที่สร้างแรงกระเพื่อมได้มากที่สุดคือการได้บุคคลมีชื่อเสียงอย่างเกว็นเน็ธ พัลโทรว์ และเซเรน่า วิลเลียมส์ร่วมสนับสนุนด้วย จนทำให้มูลค่าบริษัทเล็กๆ ที่ก่อตั้งได้ไม่ถึง 2 ปีพุ่งไปอยู่ที่ 20 ล้านเหรียญทันที ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายนอกจากจะเป็นบรรดาผู้ปกครองที่งานยุ่งเหยิง ยังรวมถึงกลุ่มผู้สูงวัยทีเกษียณอายุ และบรรดา health-conscious หรือคนรักสุขภาพ โดยลักษณะการบริการจะเป็นระบบสมาชิก จัดเป็นสัปดาห์ละ 6 เสิร์ฟ 12 เสิร์ฟ และ 24 เสิร์ฟตามแต่ลูกค้าเลือก สินค้าจะถูกนำส่งถึงประตูบ้าน จากการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ส่งผลให้ภายในปีเดียว ยอดขายสมูทตี้ของ Daily Harvest ขยับมาอยู่ที่ 1 ล้านแก้ว
เอริน แลช นักวิเคราะห์ธุรกิจอาหารบริษัทการเงินมอร์นิ่งสตาร์กล่าวว่าสิ่งที่ประทับไว้ในความคิดของผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพคืออาหารที่แปะฉลากมีข้อความเช่น พร่องไขมัน ปลอดไขมัน แคลอรีต่ำ น้ำตาลน้อย ไร้น้ำตาล ได้เปลี่ยนมาสู่เทรนด์ใหม่ที่ดึงดูดได้มากกว่าคือข้อความอันระบุถึงที่มาของวัตถุดิบ เช่น จากธรรมชาติ ออร์แกนิก ปลอดสาร ไร้สาร ไม่ใช่แค่ Daily Harvest สตาร์ทอัพอีกหลายเจ้าในอเมริกาก็สามารถเปลี่ยนความคิดของผู้บริโภคที่เคยต่อต้านอาหารแช่แข็งว่าไม่ดีต่อสุขภาพให้สามารถอ้าแขนรับอย่างเต็มใจได้
หลายรายธุรกิจส่อแววสดใสจนดึงดูดบริษัทอาหารใหญ่กว่าเข้ามาซื้อกิจการไปเรียบร้อย อาทิ บริษัท Annie’s Homegrown ที่ปรับภาพลักษณ์มักกะโรนีชีส และขนมเจลลี่ให้กลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ จนท้ายที่สุดก็ถูกบริษัทเจเนอรัล มิลล์ซื้อกิจการไปในราคา 820 ล้านเหรียญ หรือบริษัท Applegate ผู้คิดค้นสูตรนักเก็ตไก่ และอาหารกลางวันแบบเฮลตี้ก็ถูกซื้อกิจการเช่นกันที่ดีล 775 ล้านเหรียญ การลงทุนของ venture capital ในกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งของสตาร์ทอัพเกิดขึ้นระยะหนึ่งแล้ว แต่ครึ่งแรกของปี 2017 กระแสมาแรง จนยอดลงทุนพุ่งแซงเมื่อหลายปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นผลจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มสตาร์ทอัพจะคล่องตัว รวดเร็วและใช้เวลาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ เมื่อผลิตภัณฑ์ใดขึ้นชั้นวางจำหน่ายแล้วมีแนวโน้มดี บริษัทใหญ่จึงใช้วีธีลัด เข้ามาซื้อกิจการเข้าไปบริหารต่อนั่นเอง
ที่มา:www.cnbc.com/2017/07/06/daily-harvests-healthy-shakeup-of-the-grocery-store-frozen-food-aisle.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี