Tech Startup

Startup ไทย ในมุมมองของ ไคลี่ อึ้ง

Text : กองบรรณาธิการ

    ในปี พ.ศ.2554 นั้น 4 ใน 5 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกเป็นบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใดๆ เลย แต่ในปัจจุบัน ปรากฏว่า 5 บริษัทใหญ่ของโลกล้วนเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งสิ้น อันได้แก่ เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ แอปเปิล อะเมซอน และ อัลฟาเบ็ต (Alphabet) ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงการเติบโตด้านเทคโนโลยีที่ยากจะปฏิเสธ 

    มร.ไคลี่ อึ้ง ผู้ร่วมก่อตั้ง 500 Startups ชี้ให้เห็นว่า Startup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไม่แตกต่างหรือด้อยกว่า Startup ระดับโลกที่ตั้งอยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ โดยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของ Startup ในซิลิคอน วัลเลย์มาจากนักพัฒนาประเทศอื่นที่ไม่ใช่นักพัฒนาชาวสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป  



    ในมุมมองของไคลี่ที่มีต่อสถานการณ์ Startup ในประเทศไทยนั้น เขาบอกว่า Startup สามารถเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น เพราะมีความพร้อมทางด้านองค์ความรู้ เงินทุน และโอกาสมากขึ้นกว่าเดิม แต่การเริ่มต้นที่ง่ายก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน นั่นคือความลังเลในการโฟกัสธุรกิจ เช่น การที่ได้เห็นไอเดียของผู้อื่น แล้วทำให้เกิดความลังเลในการพัฒนาธุรกิจตนเอง เขาจึงแนะนำว่า 

    “ให้เริ่มต้นด้วยการคิดค้นเพียงหนึ่งไอเดียที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคหนึ่งคนและทำการปิดการขายให้สำเร็จ จากนั้นจึงเริ่มหาพาร์ตเนอร์ พัฒนาโปรดักต์ และพยายามขายให้ได้ครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อให้ได้รับความคิดเห็นของลูกค้ากลับมา เพื่อขยายการขายไปยังเป้าหมายอื่นๆ เพิ่มเติม”

     อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจผิดอีกมากว่า Startup ต้องเป็นวิศวกร หรือโปรแกรมเมอร์เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วหนึ่งในปัจจัยสำคัญของ Startup คือ นักออกแบบ หรือดีไซเนอร์ ซึ่งจะเห็นได้จากหลากหลายตัวอย่างความสำเร็จ เช่น พินเทอเรส (Pinterest) ฟลิกเกอร์ (Flickr) ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่มีการออกแบบเป็นหัวใจหลัก ทั้งนี้ก็เพราะว่าการออกแบบธุรกิจไม่ได้แตกต่างกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นการออกแบบที่ให้คนภายนอกหรือผู้บริโภคประทับใจ แต่การออกแบบธุรกิจ ต้องออกแบบทั้งภายนอกและภายใน 

    ไคลี่กล่าวด้วยว่า การที่จะทำให้ Startup ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติคือ ความเป็นแพลตฟอร์มระดับโลก (Global Platform) โดยธุรกิจต้องได้รับการออกแบบให้สามารถประยุกต์ใช้เข้ากับบริบทของประเทศต่างๆ ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม  

    เมื่ออ่านความคิดของไคลี่ อึ้ง สรุปได้ว่า Startup ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่จะโตอย่างไรนั้น ฝั่ง Startup เองก็ต้องเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการ และฝันให้ไกล 
    
    ที่สำคัญถ้าเจาะแค่ประเทศไทย ช่องว่างที่ Startup จะส่งบริการใหม่มาตอบโจทย์ก็ยังมี เพียงแต่ต้องจับจุดพฤติกรรมผู้บริโภคให้ได้ และต้องอาศัยทีมงานที่แข็งแกร่งในการสร้างธุรกิจให้เติบโต และก้าวสู่ Unicorn ได้