Starting a Business

“Ce’Halo” Ceramic lover should know





Text : กฤษณา สังข์วงค์
Photo : Otto


    
    เพราะเทรนด์งานแฮนด์เมดกำลังมา ทำให้ทั้งกระเป๋าทำมือ สมุดทำมือ หรือแม้กระทั่งเซรามิกปั้นด้วยมือล้วนอยู่ในความสนใจของผู้คนสมัยนี้ และแน่นอนหากคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลงานเซรามิกที่เน้นการปั้นและเพ้นท์ลวดลายด้วยมือ ควรรีบกดติดตามเพจ Ce’ Halo ของสองสาวติส มิว – กมลรัตน์ อิงคตานุวัฒน์ และ ฟอง – ธันย์ชนก มั่นพิริยะ โดยไว!


    ทุกครั้งที่เข้าไปยังหน้าเพจ Ce’ Halo เป็นต้องอมยิ้มไปกับความน่ารักของชิ้นงานเซรามิกสีพลาสเทลที่มีรูปทรงโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งไอเดียในการสร้างสรรค์ชิ้นงานแต่ละชิ้นนั้นเกิดจากการนำความชอบที่ต่างกันมาปรับเปลี่ยนให้ออกมามีดีไซน์และลวดลายที่ถูกใจสาวทั้งสอง 


    “เราสองคนเรียนมัณฑนศิลป์ สาขาเครื่องปั้นดินเผามาด้วยกัน แต่รูปแบบการสร้างงานนั้นต่างกัน ฟองชอบปั้นรูปสัตว์ในจินตนาการ ส่วนมิวถนัดสร้างงานที่สมจริง สำหรับจุดเริ่มที่ทำให้อยากปั้นเซรามิคขายจริงจังมาจากการที่เรามีโอกาสนำงานเข้าไปขายในงาน Coconut Party และด้วยเงินทุนที่มีไม่มากพอจะเปิดหน้าร้าน เราจึงใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า โดยช่วงแรกที่เปิดเพจนั้น เพจนิ่งมาก ขายงานได้เพียง 2 ชิ้น ดังนั้น เราจึงเลือกที่จะออกบู๊ธควบคู่ไปด้วย ซึ่งการออกบู๊ธที่งาน Nap นี่เองที่ทำให้ Ce’ Halo เป็นที่รู้จัก เพราะงาน Nap เป็นงานที่รวบรวมงานแฮนด์เมดและงานศิลปะไว้ให้กลุ่มคนที่รักงานทำมือได้ช้อปกัน” ฟอง เล่า

 





    Ce’ Halo แม้จะโดดเด่น สะดุดตาด้วยเซรามิกสีพลาสเทล แต่เพราะเป็นงานที่ปั้นด้วยมือ และไม่มีเตาอบที่ใหญ่เหมือนในโรงงานจึงทำให้สองสาวต้องใช้ระยะเวลาหลายวันในการผลิตชิ้นงาน ซึ่งหากชิ้นงานไหนมีการเพ้นท์ลวดลายก็ต้องเพิ่มจำนวนครั้งในการอบ เมื่อคำนวณต้นทุนต่างๆ แล้ว จึงไม่แปลกที่สินค้าของ Ce’ Halo จะมีราคาสูงกว่าเซรามิคที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม



    “กลุ่มลูกค้าของเราค่อนข้างแคบ โดยมากเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบงานเซรามิกอยู่แล้ว รองลงมาคือกลุ่มคนที่ชอบงานแฮนด์เมด และเพราะพวกเขาเห็นคุณค่าในการงานประเภทนี้ จึงเข้าใจเหตุผลของการตั้งราคา แต่ด้วยการตั้งราคาที่สูงจึงทำให้งานขายยาก เราจึงต้องลดขนาดชิ้นงานลงให้กลายเป็นงานเซรามิกชิ้นเล็กๆ ซึ่งเมื่อลดขนาด ราคาสินค้าก็ถูกลดลงตามไปด้วย ทำให้งานขายง่ายขึ้น


    ทั้งนี้ จากการออกบู๊ธตามงานต่างๆ ทำให้เรารู้ว่า โดยมากแล้วกลุ่มลูกค้าต่างชาตินั้นให้ความสนใจสินค้าของเรามากกว่าลูกค้าชาวไทย นั่นเพราะชาวต่างชาติไม่มองว่างานเซรามิกคือของฟุ่มเฟือย เมื่อพวกเขาเห็นงานของเราแล้วชอบก็ตัดสินใจซื้อทันที โดยไม่ถามราคาก่อนด้วยซ้ำ ซึ่งต่างกับคนไทยที่จะหยิบๆ จับๆ แล้วถามราคา เมื่อทราบราคาแล้วก็เดินเลี่ยงไปบู๊ธอื่น” มิว กล่าว


 






    นอกจากปัญหาเรื่องราคาที่แก้ไขด้วยวิธีการลดขนาดสินค้า ปัญหาสินค้าแตกระหว่างการจัดส่งก็เคยสร้างความกังวลใจให้สองสาวไม่น้อย นั่นเพราะ Ce’ Halo ทำการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ สินค้าส่วนใหญ่จึงต้องส่งทางไปรษณีย์ ในช่วงแรกทั้งสองพบปัญหาสินค้าแตกที่แม้จะห่อด้วยตัวกันกระแทกแต่ก็ไม่ช่วยอะไร จนเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้แนะวิธีการแพ็กสินค้าที่ถูกต้องเพื่อป้องกันสินค้าแตกระหว่างการขนส่งว่า ต้องอัดกระดาษให้แน่นทั้งกล่องโดยไม่ให้เหลือช่องว่างให้ของกลิ้งไปมาได้ รวมทั้งภายในตัวสินค้าก็ต้องอัดกระดาษให้แน่นเช่นกัน



    Ce’ Halo นอกจากจะสร้างสรรค์งานเซรามิกออกมาได้โดนใจกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่หลงใหลในงานเซรามิกแล้ว เว็บไซต์ Pinkoi ของประเทศไต้หวัน ยังติดต่อให้พวกเธอนำ Ce’ Halo ไปวางขายในเว็บไซต์ด้วย ซึ่งฟองบอกว่า Pinkoi เป็นเว็บไซต์ซื้อ-ขายงานดีไซน์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งเหตุผลที่เธอทั้งสองตัดสินใจนำ Ce’ Halo เข้าไปทักทายตลาดไต้หวันนั้นเป็นเพราะประชากรไต้หวันค่อนข้างเปิดกว้างในการบริโภคสินค้า ซึ่งต่างจากชาวญี่ปุ่นที่แม้จะชื่นชอบของน่ารักๆ แต่ก็ยังมีความเป็นชาตินิยม เน้นบริโภคสินค้าของประเทศตัวเอง 



 




    แม้ในต่างประเทศ งานเซรามิกจะเป็นที่นิยมมานาน ต่างจากเมืองไทยที่เพิ่งบูมในช่วงนี้ที่ผู้คนหันมาสนใจงานแฮนด์เมด แต่มิวกลับเปรียบกระแสนิยมงานแฮนด์เมดในไทยเสมือนการเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจงานแฮนด์เมดและอยากรู้จักงานเซรามิกกันมากขึ้น ซึ่งทั้งมิวและฟองต่างหวังเล็กๆ ว่ากระแสที่ทำให้คนอยากทำความรู้จักงานเซรามิกนั้น จะทำให้พวกเขาหันมาชื่นชอบมันอย่างจริงจัง


Facebook : Cehalo
Instagram : ce_halo 
Line : kamolmu     
Email : cehalo55@gmail.com 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)