Starting a Business

Som Ceramic Studio ห้องเรียนเล็กๆ ทว่ายิ่งใหญ่

 

ภรต อุรัสยะนันทน์

เขียน ธีรนาฎ มีนุ่น
ภาพ ชาคริต ยศสุวรรณ์ 


    “Som Ceramic Studio” แม้จะเป็นสตูดิโอเล็กๆ ทว่ายิ่งใหญ่ ด้วยมีการส่งออกนักเรียนไปศึกษาต่อในต่างประเทศหลายต่อหลายคน ขณะเดียวกันก็ผลิตผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าเซรามิกที่ได้คุณภาพอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีภูมิหลังอันยาวนาน จากการก่อตั้งมาแล้วกว่า 30 ปี โดย “รศ. สมถวิล อุรัสยะนันทน์” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2549 สาขาทัศนศิลป์ นักเรียนไทยคนแรก ที่เข้าเรียนในสาขา Ceramics Design ณ Cranbrook Academy of Arts รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับเซรามิกที่สลักชื่อ “Som” จนโด่งดังในหมู่ชาวต่างชาติ และเป็นผู้วางรากฐานวิชาเซรามิกให้กับมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของเมืองไทย 

    ภรต อุรัสยะนันทน์ ทายาทรุ่นที่ 2  และอาจารย์ผู้สอน เล่าถึงที่มาที่ไปว่า สตูดิโอแห่งนี้เกิดขึ้นในช่วงหลังการเกษียณอายุของมารดา ด้วยความใฝ่ฝันอยากมีพื้นที่เล็กๆ ไว้ทดลองงานและต่อยอดไอเดียใหม่ๆ พร้อมเปิดสอนให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 
 



    “แรกเริ่มเราวางเกณฑ์การเรียนออกเป็น 4 หลักสูตร โดยคุณแม่ท่านจะมีบันทึกว่าจุดประสงค์ของนักเรียนแต่ละคนคืออะไร หากคนไหนมาเรียนเพื่อไปสร้างเป็นอาชีพ ท่านก็จะสอนหนักเป็นพิเศษ และท่านจะแนะนำว่าทำอย่างไรได้บ้าง โดยการต่อยอดเป็นอาชีพทำได้หลายอย่าง หากใครคิดจะเป็นแหล่งผลิต เราจะบอกนักเรียนเสมอว่าทำได้ยากมาก เพราะต้องลงทุนสูง ผลิตแล้วก็ต้องมาคิดว่าจะขายใด หากขายในราคาต่ำจะคุ้มทุนหรือไม่ และจะสู้กับสงครามราคาของผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาดอย่างไร สิ่งที่เราแนะนำนักเรียนคือ เขาจะต้องเป็นนิชมาร์เก็ตเท่านั้น ฉะนั้น การสอนการออกแบบสินค้าให้มีดีไซน์เฉพาะตัว คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น” 
 


    หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน แนวการสอนของ Som Ceramic Studio ถือว่าค่อนข้างมีความล้ำหน้า และก้าวทันยุคสมัย ซึ่งภายหลังการจากไปของผู้เป็นแม่ อาจารย์ภรต ผู้ช่วยสอนมือขวาก็ยังคงดำเนินการเปิดสตูดิโอให้ความรู้ต่อไป เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ รศ.สมถวิล อีกทั้งยังมองเห็นว่าสถาบันสอนเซรามิกยังไม่แพร่หลาย ส่วนที่มีอยู่ก็ไม่ได้เน้นคุณภาพเรื่องฝีมือและการดีไซน์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาจึงเริ่มสร้างเว็บไซต์ของสตูดิโออย่างเป็นทางการ 

    “ใครที่อยากมาเรียน ต้องคำนึงว่าอยากทำของคุณภาพ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ต้องมีความตั้งใจและอยากจะเก่งจริงๆ เพราะสถาบันของเราไม่ใช่การสอนเพื่อทำเป็นสินค้าโหล จำนวนหนึ่งร้อยชิ้น หนึ่งพันชิ้น แต่เราเน้นความเป็นยูนีค ในหนึ่งรุ่นอาจมีเพียง 3 ใบ ซึ่งถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก 

 

    ฉะนั้น นักเรียนจะต้องปั้นออกมาไม่ซ้ำแบบใคร ดีไซน์ต้องแปลกใหม่ ไม่ได้ตอบโจทย์ความนิยมของคนทั่วไปในตลาด แต่เป็นที่สนใจของผู้ต้องการประดับประดาบ้านให้สวยด้วยเซรามิก สตูดิโอของเราจึงแหล่งฝึกฝนความคิด การประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียน เพราะเราดูแล้วว่า การทำตลาด จะไปแบบธรรมดาไม่ได้ ส่วนใครที่มีจุดมุ่งหมายไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ ก็ต้องมาคุยมาปรึกษากัน เพราะในการทำผลิตภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีขั้นตอนมากมายซับซ้อน บางส่วนต้องทำก่อน บางส่วนต้องทำทีหลัง บางอย่างต้องทำตอนดินแห้ง และบางอย่างต้องทำขณะดินยังเปียก” 

    ทั้งนี้ นอกจากมุ่งเน้นการดีไซน์ และสินค้าที่ได้คุณภาพ ทายาทรุ่นที่ 2 กล่าวต่อว่า ปัจจัยซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถแข่งขันในตลาดได้ จะต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า และมีฟังชันก์อันเป็นประโยชน์จริงๆ สำคัญคือต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ใช้การเคลือบด้วยสารตะกั่วหรือสารพิษอื่นๆ ในภาชนะเครื่องดื่มและใส่อาหาร เนื่องจากในปัจจุบัน คนไทยหรือผู้บริโภคทั่วไปยังไม่มีความเข้าใจในสินค้าเซรามิกดีนัก นักเรียนจึงควรชูจุดแข็งด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ
 





    “ในการสอน เรามีให้เรียน 4 ระดับ เมื่อจบในระดับหนึ่ง นักเรียนจะต้องทำผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ ฉะนั้น เราจะรู้เลยว่านักเรียนของเราตอนนี้อยู่ในระดับใด โดยการสอนของผมจะสอนตามความเก่ง หมายความว่าถ้านักเรียนเก่งมาก เราก็จะถ่ายทอดความรู้ให้มาก แต่ถ้าเก่งไม่มาก ผมระดมความรู้แล้วสอนให้จนเก่ง

     ดังนั้น แม้แรกเริ่ม ความสามารถและทักษะของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ทว่าเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด ผลที่ออกมาคือคุณต้องเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยชั่วโมงบินของนักเรียนด้วย หากขยันบินก็เก่งมาก บินน้อยก็เก่งน้อย ดังนั้น หลักการของเราคือ you get what you pay for นั่นคือเขาจะได้ในสิ่งที่เขาจ่าย” 

 


    ทั้งนี้ อาจารย์ภรตฉายภาพให้เห็นว่า ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์คือนักเรียนที่ต้องการนำความรู้ไปขยายต่อในเชิงธุรกิจ ซึ่งถึงแม้ว่าบางคนอาจไม่ถนัดในการสร้างสินค้าด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่นักเรียนได้รับคือความรู้ มีพื้นฐานในการทำ จึงสามารถจ้างผลิตแล้วตรวจสอบคุณภาพได้ด้วยตัวเอง และมีบางรายเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีธุรกิจอยู่แล้ว ก็มาเพิ่มเติมทักษะเพื่อนำไปต่อยอดต่อไป 

    โดยเมื่อมองภาพรวมตลาดในประเทศไทย ถือว่าการแข่งขันยังไม่สูง ยังมีช่องว่างให้แก่ผู้สนใจในธุรกิจเซรามิกอยู่มาก อีกทั้ง ความนิยมในการเลือกซื้อเซรามิกมาประดับตกแต่งบ้าน หรือความสนใจเซรามิกดีไซน์น่ารักๆ ของคนไทยเพิ่มมากขึ้น และโอกาสไม่ได้อยู่เฉพาะตลาดในเมืองไทยเท่านั้น เนื่องจากชาวต่างชาติชื่นชอบสินค้าเซรามิกอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ฉะนั้น นอกจากเน้นสร้างสินค้ามีดีไซน์ หน้าที่ของนักเรียนจึงต้องมองหาช่องทางของตนเองไปด้วย   

    อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคงเห็นด้วยกับความคิดว่า Som Ceramic Studio แม้จะเป็นสตูดิโอเล็กๆ ทว่ายิ่งใหญ่!!! 


www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)