Starting a Business

ปั้นนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการได้อย่างไร คุยกับอธิการบดี ม.หอการค้าไทย

 

     “ที่ผ่านมาเราปั้นเด็กที่จบออกไปแล้วไปทำธุรกิจอาจจะมียอดขาย 10 ล้าน 100 ล้าน จนจบไป 5 ปีแล้วมียอดขาย 1,000 ล้านบาทก็มี” นี่คือคำกล่าวของ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งสะท้อนเป้าหมายของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

      อธิการบดี ยังบอกอีกว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นเหมือนนกฟีนิกซ์ ที่เคยผ่านช่วงนักศึกษาขาลงมาแล้ว และในเวลานี้คือช่วงเวลาการรีบอร์น กับเป้าหมายเดิมคือการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจ และการสร้างผู้ประกอบการสู่โลกธุรกิจ

     วันนี้เราเลยจะมาพูดคุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงวิธีการปั้นนักศึกษาอย่างไรให้เป็นผู้ประกอบการกัน

อาจารย์มองการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่อย่างไร

     แนวคิดของคนรุ่นใหม่คืออยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากเกษียณตอนอายุ 45 ปี อยากจะให้เงินทำงาน อยากไปเที่ยวรอบโลก แต่คำถามคือการทำธุรกิจต้องเป็นตัวตนจริงๆ ที่ไม่ใช่แฟชั่น แพชชั่นกับแฟชั่นมันต่างกัน บางคนทำธุรกิจเพราะมีแพชชั่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าแฟชั่นทำให้เกิดแพชชั่นได้ หากย้อนดูประวัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจะพบว่าส่วนใหญ่ตอนเด็กๆ เคยขายของแล้วกลายเป็นแพชชั่น แต่ทุกวันนี้ทุกคนชอบถ่ายรูปเซลฟี่ ทุกคนต้องไปเช็คอินตามสถานที่ต่างๆ ต้องอัพเดตในอินสตาแกรม มันเป็นแฟชั่น แต่ท้ายที่สุดก็มีคนอยากลองทำธุรกิจแล้วก็มีทั้งที่ไปได้กับไปไม่ได้ ฉะนั้น การจะทำธุรกิจหรือไม่จึงเริ่มต้นที่ว่าคุณเหมาะกับการทำธุรกิจหรือเปล่า

     มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นเวทีที่เปิดให้ค้นหาความเป็นตัวตนว่าอยากทำธุรกิจหรือไม่ เพราะนักศึกษาปี 1 เราจะสอนวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE 101) เพื่อจะแหย่ว่าคุณอยากทำธุรกิจหรือไม่ แล้วถ้าคิดจะทำธุรกิจ เราก็มีเวทีต่างๆ ให้ไขว่คว้า บางคนอาจจะอยากให้ช่วยแนะนำดูแล แต่บางคนไม่ต้องการบอกว่าทำธุรกิจเลยดีกว่ามันเสียเวลา แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหนเราก็ช่วยให้เขาได้ไปตามความฝันนั้น

ม.หอการค้า กับเป้าหมายการปั้นเด็กหัวการค้า

     เราพยายามสร้างผู้ประกอบการในรอบรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเราเข้าใจธุรกิจตั้งแต่แสนบาทไปจนถึงยอดขายแสนล้านบาทต่อปี เพราะเรามีสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ฉะนั้นเวลาสภามหาวิทยาลัยกำหนดทิศทางมันคือการกำหนดทิศทางของธุรกิจการศึกษา ไม่ได้กำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย ซึ่งหอการค้าไทยไม่ได้ตั้งใจหากำไรจากมหาวิทยาลัย เขามีโจทย์เดียวคือพัฒนาประเทศพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงทำให้เราหาสิ่งใหม่ๆ และมี innovation เสมอ

     เราไม่รู้ว่าเราสร้างสตาร์ทอัพหรือเปล่า เพราะคำว่าสตาร์ทอัพบางคนบอกว่าต้องเป็น Unicorn แต่เราสร้างผู้ประกอบการ ผมคิดว่าทุกคนที่ทำธุรกิจก็จะเริ่มต้นที่คำว่าสตาร์ทอัพกันหมด ดังนั้นคำว่าสตาร์ทอัพที่เราใช้ก็คือคนทำธุรกิจ เพียงแต่เส้นทางของเขาจะไปจบที่มีความเป็น Super Startup คือเป็น Unicorn หรือจบลงที่เป็นเอสเอ็มอีก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราปั้นเด็กที่จบออกไปแล้วไปทำธุรกิจอาจจะมียอดขาย 10 ล้าน 100 ล้าน จนจบไป 5 ปีแล้วมียอดขาย 1,000 ล้านบาทก็มี

     มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีสโลแกนว่า Follow your dream เพราะเราคิดว่าทุกคนมีความฝัน นอกจากนี้เรายังบอกว่า Ignite your passion  คือเราจะจุดประกายให้เส้นทางที่คุณตั้งใจจะเดินมันส่องสว่างขึ้น เป็นสิ่งที่เราจะบอกกับนักศึกษาทุกคนว่าคุณทำตามความฝันของคุณได้ไม่ต้องรอจบ คุณจะทำธุรกิจก็ตั้งได้เลย เป็นพื้นที่ที่ใครจะทำธุรกิจก็ได้ เพราะว่าเราสร้างโอกาส ผมได้มีโอกาสดูคลิปหนึ่งที่ชอบมากคือมีคนชมว่าเด็กมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความอดทน ซึ่งมันคือคุณสมบัติที่ดีของการเป็นผู้ประกอบการ

     ไม่เพียงแต่วิทยาลัยผู้ประกอบการ (College of Entrepreneurship) ที่สอนการทำธุรกิจเท่านั้น คณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยหอการค้าทุกคณะก็จะมีความเป็นธุรกิจ เช่น ถ้าเป็นสาขาศิลปะการแสดงเราจะสอนในเรื่องการใช้ภาษาเพื่อธุรกิจด้วย สาขาท่องเที่ยวเราเอาคณะบริหารธุรกิจมาสอนคู่ ไม่ได้สอนให้เป็นแค่มัคคุเทศก์แต่เราสอนให้เป็นเจ้าของบริษัททัวร์ หรืออย่างสาขาเศรษฐศาสตร์ก็เป็นเศรษฐศาสตร์ที่ไปเชื่อมกับโลกของธุรกิจ 

ช่วงที่ผ่านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก

     ตอนที่ผมมาเป็นอธิการบดีเป็นช่วงที่เราเจอโควิด 19 พอดี มันเป็นขาลง คำถามแล้วเราจะทำยังไงให้มันขึ้น ก็ต้องรีแบรนด์ เรารีแบรนด์ด้วยการใช้กระบวนการ Design Thinking ซึ่งเป็นกลไกในการสร้างสตาร์ทอัพ เมื่อก่อนคนบอกว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแต่นักธุรกิจระดับสูงๆ เข้ามาเรียนทำให้ภาพลักษณ์ดูมีความเป็นวัยรุ่นน้อย แต่ตอนนี้เราทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตอนรีแบรนด์เราทำ Design Thinking แล้วมีการถามว่าเขาอยากดูโฆษณามหาวิทยาลัยแบบไหนเพื่อเข้าถึงลูกค้า เขาบอกอยากดูโฆษณาเรื่องซอมบี้ แต่กลัวอธิการบดีไม่ยอม ประโยคแรกที่ผมตอบคือทำเลย เพราะว่า innovation จะเกิดไม่ได้ถ้าเราไปขวางจินตนาการ แต่ขอว่าถ้าลงในยูทูป เราต้องการยอดวิว 1 ล้านวิว ปรากฏว่าเขาทำได้ 4 ล้านวิว ที่สำคัญคือมีคนบอกว่าเจ๋ง

     ที่สำคัญคือ ปีนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1,000 คน เพราะฉะนั้นเราอยู่ในทิศทางขาขึ้น เราก็เหมือนนกฟีนิกซ์ ที่เคยผ่านช่วงนักศึกษาลงมาแล้ว แล้วก็มาเป็นยุคของการรีบอร์น เรากำลังสร้างความเข้มแข็งภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง เราเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจอยู่แล้ว เราเลยจะไปในแนวทางของการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจที่เป็น Practice Business University เราสอนแบบ Practice แบบวิธีปฏิบัติ วิธีการแก้ไขธุรกิจ  

ม.หอการค้าไทย สร้างผู้ประกอบการอย่างไร

     มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเรามีภาพของการสร้างสตาร์ทอัพผ่านการอบรมกับ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีและบริหารจัดการของสหรัฐฯ โดยเราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในเมืองไทยที่ได้มีการร่วมมือกับ MIT ซึ่งสตาร์ทอัพเป็นคำที่ใช้ในแวดวงทั่วไป แต่ MIT จะใช้คำว่า IDE คือ Innovation-Driven Entrepreneurship แล้วเราก็ตั้ง IDE Center ให้ทำงานคู่กับวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (College of Entrepreneurship) เพราะมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเองรากเหง้ามีหอการค้าไทยเป็นเจ้าของ 100% และมีเป้าหมายต้องการสร้างผู้ประกอบการ

     นอกจากนี้ ยังร่วมกับมูลนิธิสิริวัฒนภักดี เปิดโครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม  Beta Young Entrepreneur โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนเงินจำนวนกว่า 99 ล้านบาท เน้นสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ ซึ่งมูลนิธิฯ ก็จะมาร่วมคัดเลือกนักศึกษากับเรา โดยนักศึกษาจะได้รับเงิน 20,000 บาทไปทำธุรกิจ สิ่งที่ได้คือเขาเรียนรู้วิธีเจ็บตัว มีนักศึกษาอยู่คนหนึ่งขายเสื้อตัวละ 2,000 บาท เริ่มต้นด้วยเงิน 20,000 บาท แต่จบด้วยยอดขาย 700,000 บาท  

     หลังจากนั้นเราก็ไปจับมือกับ Stanford University ร่วมเวิร์กช้อปการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยบิล เบอร์เนตต์และทีมจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งกระบวนการ Design Thinking นี้จะทำให้นักศึกษาเกิดการค้นหาโอกาสใหม่ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการ

     ขณะเดียวกัน เราก็มีความร่วมมือกับ ฮาร์เบอร์สเปซ (HARBOUR.SPACE) มหาวิทยาลัยแถวหน้าทางด้านการบริหารธุรกิจเทคโนโลยี และการออกแบบ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน จัดตั้ง “HARBOUR.SPACE@UTCC” นอกบาร์เซโลน่าเป็นครั้งแรกของเอเชีย เพื่อเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับการเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด  

     นอกจากนี้ เรามีโครงการหนึ่งที่เราเรียกว่า Running Project เป็นโครงการ Pitch ไอเดียธุรกิจ แล้วถ้าผ่านการคัดเลือกก็จะเข้าไปสู่กระบวนการ incubate ท้ายที่สุดถ้าผ่านไปอีกสเตปถ้าโครงการไหนเด่นๆ ก็ไป Pitching กับผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน ก็จะได้รับเงินลงทุนลักษณะ Angel Investor  อีกด้วย

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup