'ไซรัปพะโล้' Summer please แบรนด์ไซรัปที่ตั้งใจสร้างรสชาติแปลกใหม่ จนขายได้หลักแสนต่อเดือน
Text : flymetothemoon
ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มก็ต้องพูดถึงไซรัปเพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับเมนูเครื่องดื่ม แต่ไซรัปส่วนใหญ่ที่มีในท้องตลาดจะมีรสชาติเดิมๆ คล้ายๆ กัน ตอง-อธิภัทร ชาญพนา และ แอล-มนรดา ชาญพนา จึงได้ไอเดีย ต่อยอดขายไซรัปที่คิดค้นสูตรขึ้นมาเอง มีรสชาติแปลกใหม่ ใช้วัตถุดิบเครื่องเทศไทย ผลไม้ไทย สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน
ต่อยอดสิ่งที่มี เริ่มต้นจากคาเฟ่ขยายสู่ไซรัป
ด้วยความชอบในศาสตร์การชงเครื่องดื่มของตอง ทำให้คู่รักที่ย้ายภูมิลำเนากลับบ้านเกิดที่จังหวัดจันทบุรี ตัดสินใจเปิดคาเฟ่ Summer please ด้วยกัน โดยต้องการให้ความสดชื่นกับลูกค้าที่มาคาเฟ่และมีเมนูใหม่ที่ไม่เหมือนคาเฟ่อื่นๆ ทำให้ตองที่จบหลักสูตรการผสมเครื่องดื่มค็อกเทลจาก เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ได้ไอเดียคิดค้นไซรัปของตัวเองเพื่อผสมในเมนูเครื่องดื่มของทางคาเฟ่เพื่อสร้างความโดดเด่น และต่อยอดนำไซรัปมาวางจำหน่ายสำหรับเจ้าของคาเฟ่คนอื่นๆ รวมถึงลูกค้าที่อยากชงเครื่องดื่มเอง
“หลังจากคาเฟ่ได้เสียงตอบรับที่ดี มีคนชอบเมนูเครื่องดื่มของทางคาเฟ่ เราก็มองว่าไซรัปสามารถนำมาต่อยอดได้ ทำให้ตัดสินใจขายไซรัปโดยเฉพาะ จากตอนแรกที่มีแต่ผสมในเครื่องดื่ม ก็ขยายมาขายไซรัปใส่ขวด ฝากวางขายไว้ในคาเฟ่และตามจุดสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดจันทบุรี รวมถึงตามบูธเทศกาลกาแฟ” แอลเล่าถึงที่มาการตัดสินใจขายไซรัป
พะโล้ เปียกปูน ทับทิมสยาม ไซรัปที่ปรุงด้วยเครื่องเทศ ผลไม้ไทย
ถ้าคิดถึงไซรัป รสที่เราจะนึกถึงส่วนใหญ่คือลิ้นจี่ สตรอว์เบอร์รี่และมิ้นต์ แต่ตองต้องการสร้างความแปลกใหม่ จึงพัฒนาไซรัปสูตรใหม่ให้กับเครื่องดื่ม โดยเน้นใช้เครื่องเทศไทย ผลไม้ไทย เพื่อให้เป็นสินค้า OTOP สื่อถึงความเป็นไทย
“เรารู้สึกเบื่อกับรสชาติเครื่องดื่มที่มีในปัจจุบัน เลยคิดไซรัปใหม่ขึ้นและตั้งชื่อว่าพะโล้เพราะอยากสร้างจุดเด่นให้กับไซรัปและต้องการสื่อถึงความเป็นไทย เพราะเราใช้วัตถุดิบเครื่องเทศไทยอย่างอบเชยและผักชีผสมกับคาราเมลเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย รวมถึงไซรัปตัวอื่นอย่างทับทิมสยามที่ใช้ขิงและตะไคร้เป็นวัตถุดิบซึ่งชาวต่างชาติจะชอบรสชาตินี้มากที่สุด เปียกปูนที่รสชาติไซรัปจะเหมือนขนมเปียกปูนเลยและไซรัปพริกเกลือที่เราเอาพริกเกลือมาเคี้ยวทำให้ได้รสชาติเผ็ดและหอม” ตองเล่าถึงจุดเด่นของไซรัป Summer please
การตลาดที่แบรนด์เดินหาลูกค้าและลูกค้าเดินหาแบรนด์
ในหลายแบรนด์อาจเน้นการตลาดทางใดทางหนึ่ง แต่สำหรับ Summer please ได้เน้นการตลาดทั้งแบบเข้าหาลูกค้าและให้ลูกค้าเดินเข้าหา โดยตองและแอลได้เดินทางไปแนะนำตัวกับเจ้าของคาเฟ่ในจังหวัดจันทบุรี รวมถึงได้ออกบูธเพื่อให้คนที่สนใจได้เดินมาลองชิมไซรัปด้วยตัวเองและได้ขายออนไลน์สำหรับคนที่อยู่บ้านและอยากชงเครื่องดื่มด้วยตัวเอง
“เริ่มแรกที่ตัดสินใจขายไซรัป เราได้เดินทางไปแนะนำตัวกับเจ้าของคาเฟ่ที่อยู่ในจังหวัดจันทบุรี แจกตัวอย่างไซรัปด้วยตัวเอง แต่ด้วยความที่ยังไม่เป็นที่รู้จักทำให้เจ้าของคาเฟ่หลายคนยังไม่ค่อยมั่นใจในตัวเรา ทำให้เราเริ่มจริงจังกับการทำโซเชียลมีเดียเพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น รวมถึงออกบูธเพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าเรามีตัวตนอยู่จริง โดยเวลาออกบูธ เราจะเน้นชูไซรัปเป็นพิเศษด้วยอยากทำให้เจ้าของคาเฟ่ที่มาเดินอีเวนต์รู้จักกับไซรัปของเรา หากสนใจสามารถเดินเข้ามาชิมฟรีได้ แต่ก็มีขาย กาแฟ Cold Brew ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูยอดฮิตและไม่เหมือนใครของคาเฟ่เสริมอยู่ด้วย เวลาออกบูธแต่ละที่เสียงตอบรับออกมาดี มีเจ้าของคาเฟ่สั่งไซรัปเพื่อนำไปชงเป็นเมนูเครื่องดื่มพิเศษให้ลูกค้าจำนวนมาก ออร์เดอร์ส่วนใหญ่ที่ได้จากการออกบูธแต่ละครั้งหลักร้อยขึ้น ไซรัปที่เอาไปออกบูธมีจำนวนไม่พอ เราได้ขอจัดส่งตามไปให้ทีหลังโดยมีส่วนลดพิเศษให้” ตองเล่าถึงการทำให้ไซรัปเป็นที่รู้จัก
สำหรับไซรัป Summer please ตองและแอลกำลังยื่นจดทะเบียน อย. เพื่อให้ไซรัปมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงสำหรับการวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำและส่งออกต่างประเทศ ตองและแอลยังได้แนะนำสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยว่าการทำธุรกิจการสร้างจุดเด่นเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่าลืมในเรื่องของการตอบโจทย์ลูกค้าด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup