Starting a Business

หยิบธุรกิจเก่าขายน้ำเต้าหู้ มาพลิกโฉมสู่ Beanila คาเฟ่เต้าหู้ใหม่ให้ปังกว่าเดิม 

 

Text : Yosita T. 

     ตลาดคาเฟ่กำลังเป็นที่นิยมมากๆ ในประเทศไทย ซึ่งคำว่าคาเฟ่ก็คือร้านที่ขายกาแฟ ชา เบเกอรี่ แต่ปัจจุบันนี้เทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรง ทำให้ 2 พี่น้อง ใหม่-ธนพนธ์ ม่วงเเดงดี และ มาย-ณัฐชยา ม่วงแดงดี ผุดไอเดียเปิดคาเฟ่ที่มีชื่อว่า Beanila เป็นคาเฟ่ที่ขายเมนูเต้าหู้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนรักสุขภาพ และตั้งเป้าบุกตลาดคนรุ่นใหม่ด้วย เราเลยจะมาร่วมพูดคุยกับทั้ง ใหม่และมาย ถึงจุดเริ่มต้น ไอเดีย และแนวคิดการสร้าง Beanila ยังไงให้เป็นคาเฟ่สุดฮิตของสายเฮลตี้กัน

 หยิบธุรกิจเก่าของครอบครัวมาสร้างใหม่ให้ปังกว่าเดิม

     ใหม่เล่าว่า ย้อนไป 20 ปีที่แล้ว ครอบครัวของใหม่และมายทำธุรกิจขายน้ำเต้าหู้ แต่ด้วยความที่ขายราคาถูกมาก ไม่คุ้มกับค่าแรงจึงเลิกขายไป หลังจากที่ใหม่และมายเรียนจบมา และมองเห็นเทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรงในตลาดโลก ทั้งคู่จึงนำเอาธุรกิจเดิมหรือสิ่งที่มีอยู่แล้วของครอบครัวที่เคยล้มเลิกไป มาสร้างแบรนด์ใหม่ให้ปังว่าเดิม

      “ก่อนหน้านี้คุณพ่อเคยทำน้ำเต้าหู้มาก่อนแต่ขายในราคาถุงละ 2 – 3 บาท ซึ่งมันไม่คุ้มกับค่าเหนื่อยเลยหยุดขายไป จนวันนึงผมกับน้องสาวเรียนจบจากสิงคโปร์มาแล้วเราเห็นว่าเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพกำลังมา เราก็เอาเครื่องทำน้ำเต้าหู้เครื่องเก่าของที่บ้านมาลองทำดู แล้วเอาไปลองขายออนไลน์บ้าง ตามโรงพยาบาลบ้าง ส่งให้กับร้านที่ขายอาหารเพื่อสุขภาพบ้างก็ได้ผลตอบรับที่ดีมากหลังจากนั้นก็มีความคิดว่าอยากทำให้จริงจังขึ้น อยากเอาธุรกิจนี้มาทำใหม่ให้มันดีขึ้นกว่าเดิม”

จากออนไลน์สู่การเปิดร้านช่วยขยายฐานลูกค้าเติบโต

     อย่างที่เล่าไปตอนต้นว่าก่อนจะมาเปิดเป็นคาเฟ่ จุดเริ่มต้นของ Beanila คือการขายออนไลน์และวางขายตามหน้าร้านสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพหลายๆ ที่ แต่สิ่งที่ทำให้ใหม่และมายตัดสินใจเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่พวกเขาไม่ได้เจอกับลูกค้าด้วยตัวเอง ทำให้ไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และถึงแม้จะได้รับฟีตแบ็คที่ดีจากลูกค้าที่ซื้อเป็นประจำ แต่ฐานลูกค้าก็เท่าเดิม ไม่ได้เติบโตขึ้น ซึ่งมายบอกกับเราว่า การเปิดคาเฟ่ของตัวเองทำให้พวกเขาได้สื่อสารกับลูกค้าโดยตรงจนสามารถพัฒนารสชาติและเมนูต่างๆ ให้สมบูรณ์แบบจนกลายเป็นคาเฟ่สุดฮิตของสายเฮลตี้และกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปแล้ว

     “เราเริ่มจากการขายออนไลน์แต่ก็ไม่ได้ขายดีมาก เราไปฝากร้านขายสินค้าและอาหารเพื่อสุขภาพขายประมาณ 20 กว่าสาขา ตื่นตี 3 แล้วก็ขับรถไปส่งกัน 2 คนพี่น้อง แล้วตอนเช้าก็เอาไปส่งต่อยัน 2–3 ทุ่มก็ค่อยนอน ซึ่งการฝากขายเนี่ย เราไม่รู้จักลูกค้าเลย ไม่รู้เลยว่าเค้าชอบของเราไหม เรารู้แค่ไปวางขายแล้วมีคนซื้อไป ส่วนลูกค้าก็รู้แค่ว่าเราเป็นแบรนด์น้ำเต้าหู้ที่ขายอยู่ในร้านนี้เค้าก็ซื้อไป แต่ลูกค้าไม่ได้รู้จักแบรนด์เราจริงๆเลย แล้วก็ไม่ได้ฟีตแบ็คกับเราโดยตรงด้วย ซึ่งมันทำให้ลูกค้าของเรามีอยู่เท่านั้น ไม่ได้มากไปกว่าเดิม เลยคิดว่าถ้าเรามีหน้าร้านมันก็น่าจะดีนะ เพราะเราจะได้สื่อสารกับลูกค้าโดยตรงด้วย ทางพี่ใหม่เองก็จะได้พัฒนาเมนูหรือสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาอีก เราก็ปรับมาเรื่อยๆ ค่ะจากเป็นแบรนด์ที่มีแค่ขวด ก็กลายเป็นคาเฟ่ที่มีโปรดักส์หลายๆอย่าง”

เปิดคาเฟ่เพื่อบุกตลาดคนรุ่นใหม่

     เพราะการทำธุรกิจในยุคนี้นอกจากสินค้าจะต้องดีมีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแล้ว การทำธุรกิจก็ต้องมีเรื่องกระแสหรือเทรนด์เข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกัน ซึ่งนอกจาก Beanila จะตามเทรนด์รักสุขภาพแล้ว ก็ยังตามเทรนด์ยุคสมัยด้วยการเปิดร้านให้เป็นสไตล์คาเฟ่เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยนั่นเอง เพราะตอนนี้คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจกับร้านสวยๆ เข้าไปแล้วต้องไม่ได้แค่ความอร่อยอย่างเดียว แต่ต้องได้คอนเทนต์หรือได้รูปสวยๆกลับมาด้วย ซึ่งการจะเปิดร้านขายน้ำเต้าหู้แบบทั่วไปก็ดูจะธรรมดาไปซะแล้วในยุคนี้ และถึงแม้จะเป็นคาเฟ่เต้าหู้ก็ไม่ได้ขายแค่น้ำเต้าหู้อย่างเดียว พวกเขาใช้วิธีดึงดูดคนด้วยเมนูที่หลากหลาย แต่ยังคงคอนเซปต์ทุกเมนูทำจากเต้าหู้ ได้ทั้งความอร่อย ได้คอนเทนต์ แถมดีต่อสุขภาพอีกด้วย

     “การจะเปิดหน้าร้านในครั้งนี้เราคิดว่าต้องจริงจังมากขึ้น ต้องมีเครื่องจักรมีอุปกรณ์ครบมีหลายๆ โปรดักส์ที่มันจะเป็นคาเฟ่ได้ ส่วนตัวที่คิดว่าอยากเปิดเป็นคาเฟ่ เพราะมองว่าคาเฟ่มันไปได้หลายอย่าง ได้ทั้งของหวาน อาหารคาว ไอศกรีม เครื่องดื่ม เลยคิดว่ามันตอบโจทย์เราตรงที่เราอยากพัฒนาเมนูให้ออกมาหลายๆรูปแบบ ไม่ได้มีแค่น้ำเต้าหู้ธรรมดา ร้านเราทำเป็นเครื่องดื่มเหมือนคาเฟ่ทั่วไปแต่ใช้น้ำเต้าหู้เป็นส่วนผสมหลัก  แล้วก็ไม่ได้มีแค่เครื่องดื่มแต่ยังมีหลายๆ เมนูเลยให้ลูกค้าได้มาลอง โดยปกติแล้วด้วยความที่เป็นน้ำเต้าหู้ก็จะมีผู้สูงอายุเป็นลูกค้าอยู่แล้ว แต่พอเปิดเป็นรูปแบบคาเฟ่ก็จะได้ลูกค้าหลายกลุ่มโดยเฉพาะวัยรุ่นก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆคนวัยทำงานก็เยอะเค้าออกกำลังกายเสร็จก็มา มันตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เปิดร้านมาปีครึ่งก็ฟีตแบ็คดีมาก คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเยอะ เพราะว่าพอเปิดเป็นคาเฟ่พวกเค้าจะรู้สึกเข้าถึงง่ายด้วย” มายเล่าถึงแนวคิดและไอเดียที่ให้เกิดเป็นคาเฟ่ Beanila

     หวังว่าหลายคนที่อยากเปิดคาเฟ่หรืออยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง คงจะได้ไอเดียหรือแนวคิดดีๆ จากทั้งใหม่และมายไปต่อยอดแนวคิดของตัวเองกัน และนอกจากไอเดียดีๆ ที่  ได้เล่าไปแล้ว ใหม่ก็ได้ทิ้งท้ายกับเราว่า “อยากให้กำลังใจคนที่คิดจะทำธุรกิจของตัวเอง เพราะการทำธุรกิจของตัวเองต้องใช้เวลาเยอะ ต้องอดทนและหมกมุ่นอยู่กับมันมากๆกว่าจะเห็นผล เดือนแรกๆ รายได้เข้ามาอาจจะน้อยมากจนท้อ แต่เราต้องเห็นภาพว่าอยากให้มันเป็นยังไงแล้วก็อดทนตั้งใจทำต่อไป เราสองคนตั้งแต่เปิดร้านมาก็ยังไม่เคยหยุดทำเลย เปิดตั้งแต่เช้าปิดร้านตอนดึกๆ ทุกวัน เพื่อพัฒนามันต่อไป มีทะเลาะกันทุกวันเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องมาดูว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับร้านเรา เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน ใครที่กำลังจะทำธุรกิจก็อยากให้อดทนครับ”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup