Starting a Business

Masota คราฟต์ช็อกโกแลต จ.ตาก ที่เริ่มต้นเพราะอยากช่วยเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้

 

     Masota เป็นแบรนด์คราฟท์ช็อกโกแลต แห่งแม่สอด จ.ตาก โดยไอซ์-อรรถกร หมูนวล ที่เริ่มต้นทำคราฟท์ช็อคโกแลตจากการเรียนรู้และทดลองด้วยตัวเอง มากไปกว่านั้น เขาเริ่มต้นธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เพราะมีใจอยากจะช่วยเหลือเกษตรผู้ปลูกโกโก้ จ.ตาก ซึ่งด้วยความตั้งใจดีและตั้งใจทำนี้เอง ทำให้เมื่อย่างเข้าปีที่ 2 Masota ก็เติบโตถึง 400% ทีเดียว

จุดเริ่มต้น Masota คราฟต์ช็อกโกแลต จ.ตาก

     ไอซ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Masota ว่ามาจากการที่คุณพ่อเอาต้นโกโก้มาปลูกที่บริเวณโรงงานน้ำพริกจันทร์สุดาของครอบครัว และเมื่อต้นโกโก้เริ่มออกผลเขานึกสนุกเลยเอาผลมาทดลองทำเอาช็อกโกแลตกินกันเอง ซึ่งในตอนแรกๆ ก็ไม่ได้ทำออกมาแล้วเป็นช็อกโกแลตเลย เพราะเป็นการเรียนรู้วิธีการทำเอาเองจากอินเทอร์เน็ต ลองผิดลองถูกไปหลายๆ รอบจนวันหนึ่งก็สามารถทำแล้วออกมาเป็นช็อกโกแลตที่กินอร่อยได้

     “พอทำออกมาได้สำเร็จก็เลยโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เพื่อนๆ คนรู้จักมาคอมเมนต์ตื่นเต้นกันใหญ่ว่าทำได้ด้วยเหรอ จนมีวันหนึ่งพี่ที่รู้จักโทรมาบอกว่าคุณไอซ์รับซื้อผลโกโก้ไหมพอดีมีญาติที่ปลูกอยู่แต่ไม่มีคนรับซื้อ ผมก็เลยบอกว่าลองไปดูก่อน พอไปถึงสิ่งที่เจอก็คือเขามีผลโกโก้ที่ขายไม่ได้อยู่บนต้นประมาณถึง 4 ตัน แล้วเราจะไปซื้อมาใช้ยังไง เพราะปกติเราทำแค่ประมาณ 100 กิโลกรัมเอง คือปัญหานี้มันเกิดจากมีคนเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกต้นโกโก้ ที่นี่อาจจะเป็นด้วยปัญหาเศรษฐกิจหรือการหลอกขายต้นกล้า พอถึงเวลาไม่มีการซื้อจริง เกษตรกรเลยลำบาก เราก็มองว่าถ้าสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรเหล่านี้ได้ก็น่าจะลองดู”  

     นอกจากนี้ ไอซ์ยังมองอีกด้วยว่า ต้นโกโก้กว่าจะออกผลใช้เวลาถึง 3 ปี เกษตรกรผู้ปลูกจะต้องลงแรงลงเงินในช่วง 2-3 ปีนั้นไปมาก อีกอย่างโกโก้เป็นไม้ยืนต้น การปลูกโกโก้ก็เหมือนการปลูกป่า ซึ่งถ้าไม่มีคนมารับซื้อผลโกโก้ เกษตรกรก็ต้องตัดต้นโกโก้ทิ้งแล้วหันไปปลูกข้าวโพดหรือมันซึ่งเป็นพืชเลื่อนลอยแทน ดังนั้นถ้าเราสามารถช่วยรักษาต้นโกโก้ไว้ได้ก็เหมือนช่วยรักษาพื้นที่ป่าสีเขียวได้ด้วย

     “คิดว่าเราน่าจะทำธุรกิจในด้านนี้ได้เพื่อที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดที่เขาไม่สามารถที่จะทำผลผลิตได้”

      นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Masota คราฟท์ช็อกโกแลต แห่งจ.ตาก โดยชื่อ Masota นี้ ไอซ์บอกว่าไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษ เพียงแต่มาจากการออกเสียง แม่สอดตากๆ แบบรัวๆ ก็จะฟังออกมาเป็น Masota นั่นเอง    

     ปัจจุบัน ไอซ์ จะส่งขายโกโก้เป็นวัตถุดิบคือขายเป็นเมล็ดแห้งและขายช็อกโกแลตส่งคาเฟ่เป็นหลัก นอกจากนี้ยังรับทำ OEM และถ้าได้มีโอกาสออกบูธตามงานต่างๆ ก็จะมีเครื่องดื่มช็อกโกแลตบาร์ และเบอเกอรี่จากช็อกโกแลตด้วย  

Masota แห่งจ.ตาก มีดีอะไร

     ถามว่าแล้ว Masota คราฟท์ช็อคโกแลต แห่งจ.ตากมีดีอะไร

     ไอซ์ บอกว่าจริงๆ ช็อกโกแลตของแต่ละที่จะมีความโดดเด่นเฉพาะตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าช็อกโกแลต Masota รสชาติจะออกไปในทางผลไม้สดคือมีความเปรี้ยวเบอร์รี่อ่อนๆ แล้วก็มีความหวานคล้ายสตรอว์เบอรี่ปลายๆ ซึ่งเกิดจากกระบวนการหมักเมล็ดและกระบวนการคั่ว

     “เราเป็นช็อกโกแลต Specialty มีความเฉพาะของเราเอง การแปรรูปจากโกโก้มาเป็นช็อกโกแลตจะมีกระบวนการหมักเมล็ด ซึ่งจะส่งผลต่อรสชาติของช็อกโกแลต จะมีเรื่องของยีสต์กับจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่ใช้ในกระบวนการหมัก ซึ่งยีสต์แต่ละพื้นที่จะให้รสชาติที่แตกต่างกัน นอกจากยีสต์แล้วเรื่องสภาพภูมิประเทศภูมิอากาศแต่ละที่ ความชื้น ความร้อนความหนาวที่แตกต่างกันก็จะส่งผลให้ตัวเมล็ดมีลักษณะเฉพาะของแต่ละที่แตกต่างกันอีกด้วย อีกอย่างก็คือของเราเป็นช็อกโกแลตที่เรียกว่า Natural Process คือเป็นกระบวนการผลิตตามธรรมชาติไม่มีการใส่สารเคมีเข้าไปปรับความเป็นกรดเป็นด่างของเมล็ดโกโก้”

     จริงๆ ที่จ.ตากจะมีคราฟท์ช็อกโกแลตอีก 2-3 แบรนด์ที่เริ่มเติบโตขึ้นมา ซึ่งไอซ์บอกว่าถือเป็นเรื่องดี เขาไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่งขัน แต่กลายเป็นว่าเกิดการจับกลุ่มกันแล้วช่วยเหลือเกษตรกรมากกว่า

     “บางทีเราก็ไปงานด้วยกัน คนละบูธแต่อยู่ใกล้ๆ กันแต่เราจะอธิบายลูกค้าว่าช็อกโกแลตแต่ละที่จะมีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละตัว แล้วรสชาติของแต่ละแบรนด์ก็ขึ้นอยู่กับการที่เชฟปรุงแต่งว่าให้มีลักษณะเป็นตัวของตัวเองยังไง เราจะไม่ได้บอกว่าของใครดีกว่าใคร คิดว่าการที่เราอยู่ร่วมกันเหมือนช่วยส่งเสริมให้เราไปได้ไกลขึ้นมากกว่า”

     ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไอซ์ ยังได้การคว้าแชมป์​นักชงคราฟท์ช็อกโกแลตระดับภูมิภาค​ เวทีแรกของภาคเหนือ Petchabun Chocolate Brewer Championship 2023 อีกด้วย

     “เราทำ Masota เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว เปอร์เซ็นต์การเติบโตมันดีมาก ไม่อยากใช้คำว่าโตขึ้นทุกปีแต่มันโตขึ้นทุกเดือนเลย คือคนไทยเริ่มหันมาบริโภคช็อกโกแลตกันเยอะมากขึ้น ตลาดช็อกโกแลตกำลังโตขึ้นคล้ายๆ กับกาแฟเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่สมัยก่อนคนจะไม่รู้จักว่าทำไมกาแฟจึงเปรี้ยว คือคนไทยเริ่มรู้จักเริ่มเรียนรู้เริ่มปรับพฤติกรรมการกินช็อกโกแลต อีกอย่างก็คือคาเฟ่ต่างๆ ที่เป็น Specialty ก็เริ่มมีเมนูเป็นคราฟท์ช็อกโกแลตเข้าไปในร้าน คิดว่าอีก 2 ปีช็อกโกแลตจะโตขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะเป็นการโตในลักษณะที่เป็น Specialty”

เป้าหมายคือช่วยเกษตรกร ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียว  

     “เมื่อ 3- 4 เดือนที่แล้ว ได้ปลูกโกโก้ใหม่ประมาณ 1 ไร่ เราตั้งใจจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงาน ทั้งในแง่ของการปลูกต้นโก้โก้และในการแปรรูป ให้เกษตรกรมาเรียนรู้ว่าปลูกต้นโกโก้ยังไงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี คือเรารับซื้อโกโก้จากเกษตรกรเราก็ส่งเสริมเรื่องการปลูกให้ความรู้ด้วย ผมมองว่าการที่ช็อกโกแลตในประเทศโตนั่นหมายความว่าเกษตรกรมีแหล่งขายวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการที่ประเทศตลาดโกโก้โตขึ้นได้มันไม่ใช่หมายความแค่ Masota ต้องเติบโต แต่หมายถึงคนจำนวนมากทั้งเกษตรกรผู้ปลูก คนทำช็อกโกแลตโต แล้วถ้าทุกคนมาช่วยกันพัฒนาช็อกโกแลตให้เยอะขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น ตลาดช็อกโกแลตในประเทศก็จะเติบโตขึ้น ซื้อช็อกโกแลตใครก็ได้ที่ผลิตจากผลโกโก้ที่ปลูกในประเทศไทยก็เหมือนช่วยเหลือเกษตรกรไทยแล้ว”

     ทั้งนี้ ด้วยเป้าหมายจริงๆ คืออยากช่วยเหลือให้เกษตรกรได้มากกว่านี้ ไอซ์บอกว่า จากการไปสำรวจข้อมูลจากเกษตรอำเภอจังหวัดตาก พบว่ามีเกษตรกรที่ลงทะเบียนว่าปลูกโกโก้ประมาณ 1,800 ไร่ ซึ่งหมายความว่าจะได้ผลผลิตโกโก้ประมาณ  900 ตันต่อเดือน แต่ทุกวันนี้ตัวเขารับซื้อได้ประมาณ 4-5 ตันเท่านั้น ซึ่งที่เหลือก็ไม่รู้ว่าหายไปที่ไหน

     “เราก็ไม่รู้ว่าเกษตรกรมีการตัดทิ้งหรือทำอะไรเปล่า ซึ่งมองว่าถ้าเราช่วยส่วนนี้ได้เพิ่มมากขึ้นมันก็น่าจะช่วยในเรื่องของพื้นที่สีเขียวเยอะขึ้น เราไม่ได้อยากให้เขาปลูกโกโก้ในลักษณะเชิงเดี่ยวเราอยากเหมือนว่าเขาปลูกเป็นระบบนิเวศในสวนนอกจากจะมีโกโก้ไม้ยืนต้นแล้ว ยังมีพืชที่ระดับล่างอย่างสมุนไพรเพื่อให้เกิดความหลากหลายขึ้นด้วย”   

     จากการเริ่มต้นแบบไม่ตั้งใจแต่แรก แต่เมื่อทำแล้วรู้สึกว่าสนุกมีความสุขจึงเกิดเป็น Masota และยิ่งเมื่อมีแรงจูงใจที่ไม่ใช่แค่หวังผลทางธุรกิจเท่านั้น แต่คือความอยากจะช่วยเหลือเกษตรกร อยากเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียว ก็ยิ่งทำให้ต้องเดินหน้าต่อเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup