Midsummer Cafe คาเฟ่ที่เจ้าของจริงจังอยากให้ทุกคนได้ดื่มกาแฟที่ดี จึงดูแลไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ
Text : flymetothemoon
ย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน ร้านกาแฟยังไม่เยอะเท่าในปัจจุบันโดยเฉพาะในย่านวงศ์สว่างทำให้ จูน-จูฬ ประสาทบัณฑิตย์ ที่เรียนจบคณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ น้องสาว เจน-ประสาทบัณฑิตย์ ที่เรียนจบคณะวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความชื่นชอบในการดื่มกาแฟเหมือนกัน ตัดสินใจเปิดร้านกาแฟแถวบ้านเพราะอยากให้ครอบครัวและทุกคนที่อยู่ในย่านวงศ์สว่างได้ดื่มกาแฟที่ดี โดยเริ่มจากเปิดหน้าร้านเพื่อหวังให้คนที่เดินผ่านและสนใจได้ลองซื้อก่อน จากนั้นจึงขยับมาเปิดขายเดลิเวอรี่ ปัจจุบันเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมี 2 สาขา วงศ์สว่างและหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่าพระ สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน
วงการกาแฟเข้าและออกไม่ได้ คาเฟ่สีเหลืองในย่านวงศ์สว่างจึงเกิดขึ้น
คาเฟ่สีเหลืองเป็นหนึ่งในจุดเด่นของร้านโดยที่มาของสีเหลืองมาจากที่จูนอยากทำคาเฟ่ที่แสดงถึงความสดใส อบอุ่น เป็นมิตรและมีพลังงานที่ดี รวมถึงสาขาแรกที่ตั้งอยู่ในย่านวงศ์สว่างทำให้ตัวคาเฟ่สอดคล้องกับชื่อย่าน หลังจากได้ไอเดียเกี่ยวกับสีประจำของร้านแล้ว จูนได้คิดตั้งชื่อร้านโดยนึกถึงชื่อหนังสือของเชกสเปียร์ A Midsummer Night's Dream ที่เจนน้องสาวอ่าน จูนได้เห็นหนังสือแล้วรู้สึกชอบคำว่า Midsummer เพราะคำว่า Midsummer เป็นชื่อเทศกาลแห่งความสุข การเฉลิมฉลองในช่วงหน้าร้อนของชาวสวีเดนและตรงกับความตั้งใจของจูนและเจนที่อยากให้คาเฟ่เป็นพื้นที่ที่มอบความสุข ต่อมาเมื่อทางมหาลัยศิลปากร วังท่าพระ ได้เปิดหาร้านกาแฟมาตั้งตรงบริเวณหอศิลป์ จูนจึงตัดสินใจที่จะรับโอกาสเปิดสาขา 2 ด้วยรู้สึกถูกชะตาที่ตัวตึกหอศิลป์เป็นสีเหลืองตรงกับคอนเซ็ปต์ของร้าน
จูนเล่าว่าเริ่มแรก จูนและครอบครัวไม่ได้รู้สึกรักกาแฟมากเหมือนในปัจจุบันเเต่เพราะหลังที่เจนและจูนเรียนปริญญาตรีจบ ครอบครัวมีความคิดที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง พอดีกับที่ญาติมีตึกใจกลางเมืองและเมื่อ 8 ปีก่อนร้านกาแฟยังไม่มีจำนวนมาก ทำให้ตัดสินใจตกลงกับญาติร่วมกันเปิดร้านกาแฟแต่ด้วยระยะทางจากบ้านไปร้านกาแฟไกลกัน ทำให้ไม่สามารถดูแลร้านได้เต็มที่จึงตัดสินใจยกให้ญาติดูแล ต่อมาจูนได้ตัดสินใจไปเรียนภาษาต่อที่นิวซีแลนด์ แต่ในระหว่างที่เรียนภาษาก็ได้ดื่มกาแฟและนึกถึงการทำกาแฟตลอดเวลา ส่วนเจนได้ไป Work and Holiday ทำงานในร้านกาแฟที่ออสเตรเลีย พอจูนและเจนได้กลับมาประเทศไทยและแยกย้ายกันไปทำงานประจำได้สักพัก ทั้งสองได้พูดคุยกันและพบว่าคิดถึงการทำกาแฟเหมือนกัน พอดีกับตอนนั้นครอบครัวมีตึกแถวบ้านเป็นของตัวเองแล้ว เลยตัดสินใจใช้ตึกเปิดคาเฟ่ Midsummer ของครอบครัว
แต่หลังจากเปิดคาเฟ่ Midsummer ได้ไม่นานเจนก็ได้กลับไปทำงานประจำตำแหน่งนักพัฒนาธุรกิจด้านเทคโนโลยีการเงิน จูนที่พึ่งลาออกจากงานผู้จัดการจึงได้เข้ามาดูร้านมากขึ้น ทำให้จูนอยากพัฒนาความรู้ด้านกาแฟ จูนสมัครเรียนคอร์ส SCA Sensory skill, COE Sensory Education Training ที่ FABB Academy of coffee รวมถึง SCA Green coffee ที่ภูพันนา เชียงใหม่ จนได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการไทย National Jury ของงานประกวด Cup of Excellence
เจนได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานผู้จัดการมาปรับใช้ในการดูแลบริหารร้านกาแฟ ส่วนจูนถึงแม้จะทำงานประจำแต่ก็ยังไม่ละทิ้งความรักกาแฟที่มีคอยซัพพอร์ตอยู่หลังร้านเป็นหลักค่อยคิดโปรโมชั่น คำนวณราคาต้นทุน กำไร เป็นการแบ่งหน้าที่ดูแลร้านที่ลงตัวทำให้ร้านเติบโตได้ดีและมั่นคง
พัฒนาร้าน ลงพื้นที่หาเกษตรกรเพื่อหาเมล็ดกาแฟที่ดีและไม่เหมือนใคร
จูนได้พูดคุยกับลูกค้าที่มาร้านอยู่เป็นประจำทำให้รู้ถึงความต้องการของลูกค้าที่ในปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน จากที่นิยมซื้อกาแฟแบบพร้อมดื่มอย่างเดียวลูกค้าได้มีความสนใจที่อยากจะซื้อเมล็ดกาแฟเพื่อที่จะนำมาคั่วเองในตอนที่ไม่ได้ออกจากบ้าน ทำให้จูนตัดสินใจลงพื้นที่ไปหาเกษตรกรไทยเพื่อไปดูแหล่งปลูกเมล็ดกาแฟและเลือกเมล็ดกาแฟด้วยตัวเอง
“ตั้งแต่เริ่มต้นเรามีความตั้งใจที่อยากนำเสนอเมล็ดกาแฟของไทยเป็นหลักเพราะเราได้เจอกาแฟไทยที่อร่อย คุณภาพดีทำให้เราอยากจะนำเสนอกาแฟไทยที่อร่อยให้ทุกคนได้รู้ ได้ลองดื่มด้วย พอวางแผนที่จะพัฒนาร้านโดยการหาเมล็ดกาแฟมาคั่วเอง เราได้เริ่มที่จังหวัดตากเพราะเป็นจังหวัดที่คุณพ่อเคยทำงานและมีคนที่คุณพ่อรู้จักแนะนำ เราได้นำเมล็ดกาแฟให้คุณครูที่เราเรียนกาแฟด้วยชิม คุณครูได้บอกว่าเป็นเมล็ดกาแฟที่ดี เราเลยตัดสินใจซื้อเมล็ดกาแฟของที่นี่มาคั่วและตั้งชื่อว่าเมล็ดกาแฟมอโก้คีซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่ผลิตเมล็ดกาแฟ”
“นอกจากนี้การที่เราไปดูพื้นที่ปลูกเมล็ดกาแฟด้วยตัวเองทำให้พบว่าระหว่างทางป่าไม้ไม่ค่อยมีแล้วแต่พอไปถึงแหล่งปลูกเมล็ดกาแฟ เราได้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่าไม้ทำให้รู้สึกว่ากาแฟเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาป่าได้ ทำให้ยิ่งรู้สึกอยากสนับสนุนเกษตรกรมากขึ้น ปัจจุบันเราทำงานรวมกับเกษตรกรมามากกว่า 3 ปี ระหว่างทางเราและเกษตรกรได้เจออุปสรรคจำนวนมาก เราได้ช่วยกันแก้ปัญหา รวมถึงเราได้หาเมล็ดกาแฟไทยจากแหล่งอื่นมาใช้ด้วยทำให้เรายิ่งอินกับกาแฟไทยมากขึ้น โดยในส่วนของการคั่วกาแฟ ฉัต สามีจูนที่เรียน SCA roasting skill ที่ FABB Academy of coffee ได้เข้ามาช่วยดูแลด้วย”
มิตรเสมอ ร้านกาแฟคุณภาพที่เป็นมิตรกับลูกค้า
นอกจากการตกแต่งคาเฟ่ งานอาร์ตตรงกำแพงและดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ที่เน้นความสดใสแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ลูกค้าสนใจเข้ามาใช้บริการที่ร้านคือการบริการที่เป็นมิตรจนทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ Midsummer Cafe ตั้งชื่อคาเฟ่ภาษาไทยที่ร้านให้ว่ามิตรเสมอ
“เราเน้นการพูดคุยกับลูกค้าเพื่อที่เราจะได้เข้าถึงความต้องการของลูกค้า เราอยากให้ลูกค้าที่มาครั้งแรกจะมาอีกในครั้งถัดไปจนเป็นลูกค้าประจำของร้าน นอกจากความเป็นมิตรที่เรามอบให้กับลูกค้าคือโปรโมชัน อย่างบัตรสะสมแต้ม LINE Official Account และการเพิ่มการมองเห็นอย่างการปักหมุดใน Google Map รวมถึงการออกบูธและการ collab กับแบรนด์อื่นเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup