Chocoholic แบรนด์ช็อคโกแลตของคนไทยที่มีแพคเกจจิ้งโดดเด่นจนลูกค้าซื้อเก็บเป็นคอลเล็กชั่น
Text : Yosita T.
วงการช็อกโกแลตในปัจจุบันถือว่าได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค และแน่นอนว่าเมื่อได้รับความนิยม ก็เริ่มมีแบรนด์หรือร้านค้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การที่จะสร้างแบรนด์ช็อกโกแลตของตัวเองให้เป็นที่น่าจดจำและดึงดูดลูกค้าได้ไม่ใช่เรื่องง่าย บทความนี้เลยจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Chocoholic แบรนด์ช็อกโกแลตน้องใหม่ของคนไทยที่ขายมาไม่ถึงปี แต่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการออกแบบแพคเกจจิ้งสุดจึ้งไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ทำให้ลูกค้าหลายคนโดนตกจนต้องเลี้ยวกลับไปซื้อทันที
เริ่มจากเงินทุนคนละ 10,000 สู่รายได้หลักล้านภายใน 11 เดือน
Chocoholic เริ่มต้นจาก 4 คน คือ อ๋อมแอ๋ม - ฉัตร์ฐิตา อิสระกิจปภัสร์,เบนซ์ - กัญจน์สุธา อิสระกิจปภัสร์ บอส -ณัฐนนท์ อัตตะไพบูลย์ และ อาย - พิชญา พยอมแย้ม โดยทั้ง 4 คน ตัดสินใจลาออกจากงานประจำของตัวเอง แล้วมาลงทุนลงแรงเพื่อปั้นแบรนด์ Chocoholic ด้วยความชอบ ความหลงใหล ไปจนถึงขั้นเสพติดการกินช็อกโกแลตเลยทีเดียว พวกเขาเลยอยากพัฒนาฝีมือและสร้างแบรนด์ช็อกโกแลตของตัวเองให้เติบโตและเป็นที่รู้จักในวงการช็อกโกแลตให้ได้ จนตอนนี้ Chocoholic เดินทางมาได้ 11 เดือน เป็น 11 เดือนที่เติบโตขึ้นมากจากวันแรกที่กำเงินมาลงทุนกันคนละหมื่นสู่รายได้ 1 ล้านบาทในปัจจุบัน
“เราเริ่มจากชอบกินช็อกโกแลตก่อนแล้วก็อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะตอนทำงานประจำเราก็เคยทำธุรกิจแต่ตอนนั้นเป็นแบบรับมาขายไปแล้วเราไม่สามารถควบคุมโปรดักต์ได้ เลยอยากทำธุรกิจที่สามารถควบคุมโปรดักต์ได้ เราก็พยายามหาอะไรทำจนไปเดินงานหนึ่งปีที่แล้ว ก็ได้ไปเจอโกโก้ของไทยพอไปลองชิมก็รู้สึกว่าของไทยมันซับซ้อน มีมิติ น่าสนใจมาก จากนั้นก็เริ่มไปเรียนรู้จริงจังทุกขั้นตอน จนได้มาทำเป็นสูตรช็อกโกแลตของแบรนด์เราเอง เราตั้งใจให้แบรนด์เราเป็นเครื่องดื่มช็อกโกแลตที่ดื่มไปแล้วเหมือนได้กินช็อกโกแลตบาร์ มันจะเข้มข้นแบบนั้นเลย เพราะเราชอบแบบไหนก็อยากให้ลูกค้าได้ลองกินแบบนั้น มันก็เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้พวกเขา เราตั้งใจมากทุกขั้นตอนจนลูกค้ารู้สึกได้ถึงความตั้งใจ จากวันนั้นที่กำเงินมารวมกันคนละหมื่น เราไม่คาดคิดเลยว่ามันจะมาถึง 1 ล้านได้ในวันนี้ แต่ก็จะพัฒนาต่อไป ไม่มีวันหยุดเรียนรู้” อ๋อมแอ๋มเล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นของ Chocoholic ให้เราฟัง
ออกแบบแพคเกจจิ้งให้สะดุดตา จนต้องตามเก็บเป็นคอลเล็กชั่น
อย่างที่บอกไปตอนต้น ว่าวงการช็อคโกแลตหรือโกโก้ในตอนนี้เริ่มมีแบรนด์เกิดขึ้นเยอะมาก ทุกๆ แบรนด์จึงต้องสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองให้เป็นที่จดจำและดึงดูดลูกค้าให้มาสนใจให้ได้ นอกจากรสชาติอร่อยถูกปาก แพคเกจจิ้งคือสิ่งแรกที่ลูกค้าจะตัดสินใจได้ ว่าจะเลือกเดินเข้ามาซื้อหรือไม่ อ๋อมแอ๋มเล่าว่า Chocoholic เคยทำแพคเกจจิ้งแบบเรียบๆ มาก่อน แต่นั่นทำให้ลูกค้าไม่รู้ว่าพวกเขากำลังขายอะไร พวกเขารวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วมาคุยกัน จนในที่สุด เบนซ์ก็เกิดไอเดียออกแบบแพคเกจจิ้งใหม่ทั้งหมดให้ออกมามีสีสันสดใส มีลายการ์ตูนที่เบนซ์ออกแบบให้เป็นคาแรคเตอร์ของเกษตรกรแต่ละจังหวัดที่พวกเขารับเมล็ดโกโก้มาทำขาย ซึ่งอ๋อมแอ๋มบอกกับเราว่ามันคือการให้เครดิตคนที่อยู่เบื้องหลังที่สำคัญมากๆกั บวงการนี้ โดยหลังจากเปลี่ยนแพคเกจจิ้งใหม่ ลูกค้าหลายคนต่างก็ให้ความสนใจจนถึงขั้นตามซื้อแล้วเก็บเป็นคอลเล็กชั่นกันเลย ซึ่งไม่ใช่เพราะความน่ารักของกระป๋องหรือเพราะความอร่อยและมีคุณภาพอย่างเดียว แต่เพราะทุกกระป๋องมีสตอรี่และมีความหมายที่น่าสนใจด้วย
“แรกๆ เราทำเป็นน้ำช็อคโกแลตใส่แก้วธรรมดาแล้วก็วาดตัวการ์ตูนน่ารักๆ สุดท้ายลูกค้าไม่รู้ว่าเราขายอะไร พอเวลาไปออกบูธเราจะมีน้ำช็อคโกแลตกับขนมครอฟเฟิล กลายเป็นลูกค้าซื้อแต่ครอฟเฟิล จนมีฟีดแบคจากลูกค้าที่สนิทกันเขาบอกว่าช็อคโกแลตอร่อยมากเลยนะแต่แพคเกจจิ้งมันดูงงๆ ดูเด็กไปถ้าเทียบกับราคาร้อยกว่าบาทคนก็เลยไม่ซื้อ สรุปแล้วก็รื้อทำใหม่หมดเลย เพราะเราไปเจอกระป๋องอลูมิเนียมที่มันสามารถรีไซเคิลได้แบบ 100% แบบไม่เหลือขยะทิ้งไว้บนโลกนี้ ซึ่งรูปทรงมันก็น่ารักนะ คือเราเป็นสายรักษ์โลกอยู่แล้วกระป๋องนี้มันก็ตอบโจทย์ ราคาสูงขึ้นมานิดนึงแต่ลูกค้าเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ อย่างเช่น เอาไปเป็นกระป๋องใส่ปากกา ดินสอ หรือใส่ต้นไม้เล็ก อันนี้ลูกค้าแนะนำมาเองด้วย แล้วเขาบอกว่ามีทุกลายทุกแบบ วางเรียงบนชั้นเอาไว้ใส่พลูด่างอะไรแบบนี้ บางคนก็เก็บสะสมเป็นคอลเล็กชั่นจริงจังมากเพราะเขาชอบจริงๆ
อีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือความโดดเด่นของกราฟฟิกกับสีที่เราใช้ ที่เราเลือกใช้สีสันสดใสเพราะไม่อยากเป็นโทนขาว โทนดำ หรือสีเรียบๆ แบบคนอื่น เราตีโจทย์ว่าช็อกโกแลตของเรามันคือความสุข สนุกสนาน จากนั้นเบนซ์ก็ออกแบบมาเลยและสิ่งที่เราตั้งใจใส่ลงไปบนแพคเกจจิ้งเลยก็คือคาแรคเตอร์ของเกษตรกร ซึ่งเราอยากให้เกียรติในฐานะคนที่ทำงานร่วมกันและเขาสำคัญกับเราจริงๆ ซึ่งกระป๋องเราจะออกแบบตามรสชาติและตัวคาแรคเตอร์ที่อยู่บนกระป๋องก็จะเป็นคาแรคเตอร์ของเจ้าของสวนนั้นๆ เราให้คุณค่าพวกเขาผ่านงานศิลปะและของกิน มันก็ทำให้เขาแฮปปี้มาก อย่างเช่นเมล็ดจากจังหวัดระยอง เจ้าของสวนเคยแร็ปเกี่ยวกับช็อกโกแลตเราก็ติดภาพนั้นมา ก็จะออกแบบมาเป็นคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนใส่หูฟังส่วนจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าของสวนเป็นน้องอายุ 20 ปีกว่าๆ เอง เราก็วาดเป็นคาแรคเตอร์การแต่งตัวของเขาเองเลย เราให้เครดิตกับทุกคนเพราะเค้าเป็นต้นน้ำของเรา ทีนี้พอลูกค้าเห็นและได้รู้ว่าคาแรคเตอร์นี้มันมาจากไหน ลูกค้าก็อินแล้วก็ซื้อกันใหญ่เลยเพราะทุกคนก็อยากสนับสนุนแบรนด์คนไทย อยากสนับสนุนเกษตรกรไทย”
ออกไปเปิด Workshop จนเกิดเป็นไวรัล ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จัก Chocoholic มากขึ้นคือตอนที่ไปเปิด workshop ในพื้นที่ของ MRT พหลโยธิน ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับงาน art และกิจกรรมงาน craft ต่างๆ ณ ตอนนั้นเป็นโอกาสดีที่เข้ามาในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการให้คนได้รู้จักแบรนด์ Chocoholic อยู่พอดี แต่การจะไปจัดบูธขายช็อกโกแลตเฉยๆ คงจะเรียบง่ายและจำเจเกินไป เลยเกิดเป็น workshop ให้ทุกคนมาทำน้ำช็อกโกแลตที่เป็นสูตรของตัวเองขึ้นมา แน่นอนว่าได้รับกระแสตอบรับดีมาก เพราะไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนทำแบบนี้มาก่อน และคนที่ชอบกินช็อกโกแลตหรือโกโก้ก็ถูกใจสิ่งนี้มาก จน Chocoholic กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลเพราะเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และลูกค้าทุกคนต่างก็รีวิวลงช่องทางโซเชียลของตัวเอง ถือเป็นการตลาดที่ดี เหมาะกับยุคนี้มาก
“เราโชคดีมากที่เจ้าของพื้นที่เค้าให้พื้นที่เราฟรีๆ เพราะเค้าอยากให้ที่ตรงนั้นมีกิจกรรมให้คนมาร่วมกันทำ เราก็เลยคิดว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้คนได้รู้จักช็อกโกแลตไทยและรู้จักกับ Chocoholic มากขึ้นด้วย เลยเปิด workshop ซะเลย ในราคาที่ถูกมาก แล้วเราก็สอนกระบวนการของการทำช็อกโกแลตตั้งแต่แรก ไปจนถึงขึ้นตอนการทำน้ำช็อกโกแลตสูตรของเขาเองเลย ซึ่งครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จัก Chocoholic มากขึ้นด้วย เพราะมันเป็นไวรัลขึ้นมา จริงๆ ไวรัลแรกมาจากที่อินฟลูเอนเซอร์คนนึงเค้าถ่ายเราไปลงช่องทางของเค้า ซึ่งคนเห็นกระป๋องก็บอกว่าน่ารักแล้วยิ่งไปกว่านั้นคือเค้าเห็นกรรมวิธีการทำของเราคือ แค่หักช็อกโกแลตแล้วผสมกับนมจบ แล้วอร่อยเลย เขาก็ว้าวมาก ทุกคนก็ตามหาว่าเราอยู่ที่ไหน จนมาถึง workshop ก็เป็นไวรัลขึ้นมาทำให้คนรู้จักเรามากขึ้นไปอีก มันก็เป็นไปตามความตั้งใจของเราจริงๆ หลังจากนั้นมาเวลาไปออกบูธที่ไหนคนก็จะตามไปซื้อแล้วก็จะถามว่า จะจัด workshop อีกไหม จัดอีกเมื่อไหร่ชอบมาก เพราะมันเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับเขา มันทำให้การกินช็อกโกแลตสนุกและพิเศษมากขึ้น มันไม่ใช่แค่อร่อยอย่างเดียว”
จากแบรนด์ช็อกโกแลตเล็กๆ สู่การรับทำ OEM สร้างรายได้อีกช่องทาง
นอกจากจะขายช็อกโกแลตแบรนด์ตัวเองแล้ว Chocoholic ก็ยังรับทำ OEM ด้วย เพราะการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับช็อกโกแลตมาอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการไปคลุกคลีกับเกษตรกรและลงลึกกับวงการนี้จนเข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว การรับทำ OEM จึงเป็นอีกช่องทางที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้โดยที่ไม่ต้องออกไปยืนขายเอง แต่เป็นผู้ผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ แทนนั่นเอง และนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับตัวเองแล้ว ก็ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้นอีกด้วย
“จริงๆ เรารับทำอยู่แค่ไม่กี่ร้านที่เค้ารับของเราไปชง เพราะช็อกโกแลตที่เราทำคือเค้ารับไปหักๆ ผสมกับนมร้อนแล้วตีๆ ให้เข้ากัน แค่นี้เสร็จแล้วเสิร์ฟได้เลย ขั้นตอนง่ายมาก ร้านที่รับไปก็แฮปปี้มาก แล้วมันก็เป็นรายได้ที่เข้ามาโดยที่เราไม่ต้องไปยืนหน้าบาร์ ไม่ต้องไปเสียค่าที่ด้วย เหมือนมีคนช่วยขายให้ก็ดีมากๆ เลย เพราะมันก็ช่วยให้การบริหารเงินในร้านเรามัน flow มากขึ้นด้วย อีกเรื่องคือร้านที่เราเคยส่งให้บางร้านเคยเป็นร้านเล็กๆ ทีนี้เขาอยากทำร้านใหญ่ ก็เลยมาขอให้ทำช็อกโกแลตที่เป็นแบรนด์ของเขาเอง เป็นสูตรของร้านเค้าเท่านั้น ทำทุกขั้นตอนรวมถึงการดีไซน์แพคเกจจิ้งให้ด้วย เรียกว่าครบจบในที่เดียว แล้วก็คิดค่าใช้จ่ายตามนั้นเลย เรายินดีทำให้ แล้วเกษตรกรก็ชอบเพราะได้ส่งเมล็ดมาทีละเยอะๆ เราก็ยิ่งดีใจเพราะได้ช่วยต้นน้ำของเราได้เยอะมาก”
ปัจจุบัน Chocoholic เป็นแบรนด์ที่ได้รับความสนใจมากๆ ไม่ว่าจะไปออกบูธที่ไหน ก็จะมีลูกค้าที่เหมือนว่าจะกลายเป็นแฟนคลับของแบรนด์ตามไปซื้ออยู่เสมอ สิ่งที่ทำให้ Chocoholic เติบโตได้อย่างรวดเร็วภายใน 11 เดือน คือความตั้งใจและมุ่งมั่นของทั้ง 4 คน ที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีต่อกัน พูดคุยหาทางออกร่วมกันได้ ซึ่งการทำธุรกิจกับครอบครัวหรือแฟนเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะกลัวมากเพราะเสี่ยงที่จะทะเลาะและแตกหักกัน แต่สำหรับทั้ง 4 คน ซึ่งเบนซ์กับอ๋อมแอ๋มเป็นแฟนกัน อายกับบอสเป็นแฟนกัน ก็ได้มารู้จักและร่วมทำธุรกิจด้วยกันเพราะอ๋อมแอ๋มและอายเป็นพี่น้องกัน พวกเขาทำงานเป็นทีมที่ดีด้วยการแบ่งหน้าที่ชัดเจนโดยใครถนัดอะไรก็ทำส่วนนั้น เบนช์ถนัดกกราฟฟิกก็ออกแบบแพคเกจจิ้งเป็นหลัก และวางแผนโครงสร้างทุกอย่าง อ๋อมแอ๋มจะได้รับหน้าที่ดีลงานต่างๆ คุยกับลูกค้ารวมถึงการโปรโมทต่างๆ เพราะเป็นสกิลที่มีติดตัวจากการที่เคยเป็นพิธีกร ส่วนอายและบอสรับหน้าที่ทำงานหลังบ้านคือการทำช็อกโกแลตเป็นหลักและดูแลบัญชี การทำธุรกิจรวมกันของพวกเขาทั้ง 4 คน โดยมีเบนซ์เป็นหัวเรือหลัก เป็นอะไรที่ลงตัวมากๆ เพราะการจัดการที่ชัดเจนและไว้ใจกัน จึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ Chocoholic ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นนั่นเอง
หลังจากที่ได้พูดคุยกันและได้ลองชิมช็อกโกแลตไปหลายกระป๋องจนอิ่ม บอกเลยว่าเราก็โดนตกเข้าด้อม Chocoholic ไปแล้วเช่นกัน และเฝ้ารอวันที่พวกเขาจะไปออกบูธที่ไหนสักที่ เราจะตามไปซื้ออย่างแน่นอน และเชื่อว่าใครที่ได้ลองกินหรือได้พูดคุยกับอ๋อมแอ๋ม ผู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับแบรนด์หรือเรื่องราวเกี่ยวกับช็อกโกแลตได้น่าสนใจสุดๆ บอกเลยว่า พวกคุณจะหยุดซื้อไม่ได้อย่างแน่นอน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup