ถอดเคล็ดลับความสำเร็จ Bearhouse แบรนด์ชานมของยูทูปเบอร์ 4 ปี 23 สาขา สร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท
Text : flymetothemoon
หลายคนอาจคิดว่าชานมเป็นธุรกิจที่อยู่ในตลาด Red Ocean ด้วยความนิยมที่ทำให้มีร้านชานมเปิดตัวอย่างมากมาย แต่สำหรับกานต์-อรรถกร รัตนารมย์ และ ซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช ที่ปั้นแบรนด์ชานม Bearhouse มาแล้ว 4 ปีไม่ได้คิดแบบนั้น กานต์และซารต์ กลับคิดว่า Bearhouse อยู่ในตลาด Blue Ocean ที่มีความแตกต่างและสามารถพัฒนาได้ต่างหาก ซึ่งล่าสุดยังได้เปิดตัวเครื่องดื่มใหม่ Fruit Tea Series “ชาผลไม้นุ่มชีส” เครื่องดื่มที่ใช้ผลไม้ไทยและครีมชีสแท้จากออสเตรเลียด้วย
แล้วอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ Bearhouse ในช่วง 4 ปีที่ทำให้สามารถขยายได้ 23 สาขา และสร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท มาดูกัน
1. รับฟังความคิดเห็นของลูกค้า
กานต์และซารต์ได้เรียนรู้ว่าการฟังเสียงของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการสร้างแบรนด์ ยกตัวอย่าง เมื่อลูกค้าได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่พนักงานลืมหลอด ก็ได้รับฟังและพยายามปรับปรุงทำให้มีการจัดการบริหารต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น และได้จัดระบบเทรนนิ่ง ระบบ HR และระบบบัญชีที่ทำให้มีการบริการดีมากขึ้น รวมถึงการวางแผนเปิดสาขาเพิ่ม ซึ่งกานต์และซารต์ได้เลือกเปิดสาขาเพิ่มในภาคอีสาน ด้วยมีแฟนคลับในช่องยูทูป Bearhug แสดงความคิดเห็นอยากให้เปิดในภาคอีสานจำนวนมากซึ่งผลตอบรับก็ออกมาดี
2. การกระจายตัวของสาขา
Bearhouse มีสาขาอยู่ทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ Bearhouse สามารถผ่านวิกฤตในช่วงโควิด 19 ไปได้ เพราะสาขาที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้ายังสามารถเปิดเพราะส่งเดลิเวอรี่ได้ตามปกติ สำหรับสาขาที่อยู่ในห้างที่ต้องปิดตัวลงในช่วงโควิด 19 กานต์และซารต์ได้หาสถานที่ใหม่นอกห้างฯ ชั่วคราวเพื่อให้มีรายได้และจะได้ไม่ต้องหยุดจ่ายเงินเดือนพนักงาน โดยสถานที่ชั่วคราวที่ Bearhouse ได้เปิดในช่วงโควิด 19 นั้นเป็นร้านอาหารที่เจ้าของประสบปัญหาในช่วงโควิด 19 และโบสถ์ เป็นต้น
3. ตอบสนองความต้องการของลูกค้า
กานต์และซารต์ได้สังเกตและใส่ใจลูกค้าทำให้รู้ว่าลูกค้าที่มาซื้อชาต้องการอะไรหรือเป็นลูกค้ากลุ่มไหน สิ่งนี้ทำให้ Bearhouse ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้และมีกระแสตอบรับที่ดี เช่นการรู้ว่ากลุ่มคนที่ดื่มชาส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเป็นกลุ่มนักศึกษาทำให้ Bearhouse ตัดสินใจที่จะตกแต่งคาเฟ่ให้สวยเพื่อดึงดูดความสนใจให้ลูกค้าผู้หญิงและเป็นนักเรียนนักศึกษา รวมถึงการร่วมมือกับเกมออนไลน์อย่าง Honkai Star Rail เพราะรู้ว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นนั้นชื่นชอบเกมทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
4. ติดตามเทรนด์ในตลาด
ในปี 2562 Bearhouse เคยวางจำหน่ายชาผลไม้ที่กินกับชีสมาแล้ว แต่เพราะช่วงนั้นผู้บริโภคชาในไทยยังไม่เข้าใจและไม่นิยมกินชากับชีสทำให้เมนูนี้ขายได้น้อย จึงตัดสินใจเลิกขาย แต่ในปี 2566 คนไทยเริ่มนิยมชามากขึ้น Bearhouse ก็เลยนำชาผลไม้จากชีสกลับมาอีกครั้ง
5. สร้างความแตกต่าง
หากพูดถึงคาเฟ่ชาหรือกาแฟ ขนมที่ทุกคนต้องเจอคือครัวซองค์หรือคุกกี้ แต่ Bearhouse กลับสร้างความแตกต่างโดยมีขนมไดฟุกุ โมจิ วางจำหน่ายซึ่งในปัจจุบันไดฟุกุและโมจิยังมีคนวางจำหน่ายน้อย จึงช่วยให้ผู้บริโภคที่อยากลองขนมตัดสินใจเข้าร้านได้ง่ายขึ้น
6. มีสื่อของตัวเอง
อย่างที่หลายคนรู้กันว่ากานต์และซารต์นอกจากจะเป็นผู้ประกอบการในอีกด้านทั้งสองยังเป็นยูทูปเบอร์ช่อง Sunbeary และ Kan Atthakorn ที่มีผู้ติดตามต่อช่องกว่า 2 ล้านคนมาก่อน รวมถึงช่อง Bearhug ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน ทำให้มีแหล่งข้อมูลรู้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการอะไรและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เร็ว รวมถึงการมี Personal Branding ทำให้คนรู้จักและมีความเชื่อมั่นในธุรกิจได้เร็ว การเติบโตของธุรกิจซึ่งก็คือ Bearhouse จึงเติบโตได้เร็วขึ้นด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup