“คาเฟ่วันสุข” โฮมคาเฟ่ของแม่ฟูลไทม์ที่ลาออกจากงานเพราะอยากอยู่กับลูก ทำการตลาดผ่านคลิป Vlog ใน TikTok
Text : Yuwadi.s
เพราะลูกเราเป็นเด็กได้แค่ครั้งเดียว ความฝันของแม่หลายคนคือการได้อยู่กับลูกพร้อมทั้งหารายได้ที่บ้านไปด้วย โดย แอม – ศศิธร วชิรรัตนวงศ์ ก็เป็นหนึ่งคนที่ใฝ่ฝันเช่นนั้น ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานมาเปิดโฮมคาเฟ่เล็กๆ ที่บ้านพร้อมทั้งเปิดเวิร์คช็อปทำเทียนหอม นอกจากนี้ยังปั้นช่องใน TikTok “แอมแอมที่เปิดคาเฟ่วันสุข” เพื่อทำคลิปสร้างแรงบันดาลใจ แชร์เรื่องราวของการเปิดคาเฟ่ผ่านการทำคลิป Vlog ในแต่ละวัน สร้างผู้ติดตามเกือบ 5 พันคนเลยทีเดียว
ซื้อบ้านในฝันมาทำโฮมคาเฟ่
แอมได้เล่าย้อนไปก่อนที่จะเปิดโฮมคาเฟ่ เธอเป็นพนักงานประจำที่มีอาชีพเสริมคือการทำเทียนหอมและทำแซนวิชขาย กระทั่งเธอได้เจอบ้านในฝันหลังหนึ่งที่อยากได้ แต่ ณ ตอนนั้นเจ้าของบ้านยังไม่พร้อมขาย จนผ่านไปหลายปีเธอก็สามารถซื้อบ้านหลังนั้นมาเปิดโฮมคาเฟ่ได้ในที่สุด
“ตอนนั้นเราทำงานแล้วก็เบื่อๆ อยากลาออก มีช่วงที่เราได้ไปคาเฟ่ของเพื่อน เป็นโฮมคาเฟ่เหมือนกัน แล้วเราลองกินแซนวิชเขา มันอร่อย ก็เลยลองทำขาย ขายที่ออฟฟิศ ใครอยากลองชิม เราก็ทำงานประจำไปด้วย แล้วก็มีอีกธุรกิจที่ทำคือเทียนหอม เราทำหลายอย่าง จนเราแต่งงาน มีลูก เราอยากมีเวลาอยู่กับลูกเยอะขึ้น อยากมีบ้าน แต่ด้วยสถานะการเงินตอนนั้นทำให้เราทำไม่ได้ จนจังหวะชีวิตจริงๆ มันคือตอนที่เราท้อง เราเคยเห็นบ้านหลังหนึ่ง อยู่ใกล้ๆ บ้านแฟน ย่านกุฎีจีน เราเห็นเขาปล่อยร้างไว้ ด้วยความที่โลเคชั่นมันเต็มแล้ว ไม่ค่อยมีใครขายบ้าน เพราะเป็นชุมชนคาทอลิกด้วย เขาก็จะไม่ขายให้คนนอกเลย ตอนนั้นเราเห็นบ้านหลังนี้แล้วอยากได้ แต่เขาไม่ขาย จนเมื่อสิ้นปีที่แล้ว เขาเพิ่งตัดสินใจขาย ประจวบเหมาะกับแอมเริ่มทำแซนวิชขายพอดี เลยเป็นไอเดียว่าเราอยากได้บ้าน อยากทำร้าน อยากทำคาเฟ่เล็กๆ อยากมีพื้นที่ให้ลูกค้ามาเวิร์คช็อปทำเทียนหอม เป็นเหตุที่ทำให้เราได้บ้านหลังนี้มาแล้วก็ลาออกพอดี”
หลังจากที่ตัดสินใจซื้อบ้าน เธอก็วางแผนต่อไปคือการสร้างโฮมคาเฟ่เล็กๆ ในบ้าน แอมเริ่มจากการออกแบบและวางแปลนทุกอย่างเอง พร้อมทั้งลงมือเรียนทำกาแฟจากคุณป้าที่เป็นบาริสต้าอยู่ที่อเมริกา จนคาเฟ่วันสุขเริ่มกลายเป็นรูปเป็นร่างที่มีความโฮมมี่ อบอุ่น เป็นกันเอง
“เรามีต้นแบบคือโฮมคาเฟ่ของเพื่อนที่อยู่บางบัวทอง เราชอบหน้าต่างใหญ่ๆ เราก็ลงมือวางแปลนเอง แล้วบ้านนี้แปลกมาก มีห้องใต้ดิน ตอนแรกเราจะยัดคาเฟ่ให้อยู่ห้องใต้ดินแต่พื้นที่มันจำกัด การเดินขึ้นลงมันอึดอัด เลยกลายเป็นทำตรงระเบียง เอาจริงๆ ตอนแรกแพลนเราไม่ได้อยากทำเป็นร้าน เพราะไม่แน่ใจว่าจะทำได้ไหม แต่แม่ก็บอกว่าให้ทำไปเลย เขาให้เงินเรามาในการทำ แล้วก็มีเงินเราส่วนหนึ่ง เทหมดหน้าตักในการทำร้าน คาเฟ่นี้เราก็ออกแบบ วางแปลนเอง เลือกโทนสีเอง วางคอนเซปต์เอง เราชอบมินิมอล แต่ด้วยความที่มันเป็นบ้านคนก็อยากให้อบอุ่น เราชอบความสีขาวแต่ก็เลือกที่จะเติมสีเขียว สีน้ำตาลเข้าไปเพิ่มความอบอุ่น ตัวร้านมีที่นั่งแค่ 4 ที่นั่ง มันเป็นบ้านจริงๆ ลูกค้าที่มาก็จะได้ยินทุกคนในบ้านคุยกัน”
ลองตลาดด้วยลูกค้าออฟไลน์ก่อนขยายสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี
ด้วยความที่คาเฟ่วันสุขอยู่ในย่านท่องเที่ยวอย่างกุฎีจีน ทำให้เธออยากเริ่มต้นลองตลาดและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในละแวกนั้นก่อน ซึ่งในช่วงแรกได้ลูกค้าที่เป็นคนรู้จัก รวมไปถึงเด็กนักเรียนในย่านนั้นด้วย
“เริ่มแรกเรายังไม่เข้าแอปฯ เพราะอยากดูด้วยว่าขายได้ยังไง อยากรู้ว่าพื้นที่เป็นยังไง มีนักท่องเที่ยวมาแต่ก็ไม่ได้มากเท่าโซนวัดพระแก้ว ที่พักก็น้อยเพราะเป็นชุมชน มีความเป็นบ้านสูง ที่นี่เขาค่อนข้างควบคุม ไม่ได้อยากให้มันเป็นอุตสาหกรรมขนาดนั้น ช่วงเดือนแรกที่เราทำ ก่อนจะเข้าแอปฯ มันดีเพราะเรามีคอนเนกชันกับน้องสาวแฟน เขาเรียนอยู่แถวนั้น เขาก็จะชวนเพื่อนๆ มา เป็นช่วงซัมเมอร์พอดี ตอนนั้นก็จะมีลูกค้าคือพี่ป้าน้าอา คนใกล้ตัวมากิน เรายังไม่เห็นทาร์เก็ตจริงๆ จนสักพัก เริ่มซา ร้านเรามันหลืบมากด้วย ก็เลยต้องเปิดเดลิเวอรี”
โดยแอมได้เล่าประสบการณ์ทำแอปฯ เดลิเวอรีในช่วงแรกให้ฟังว่าแทบไม่เห็นเม็ดเงินกลับมา เพราะต้องหักค่า GP ลงเงินในการโปรโมตผ่านแอปฯ จนกระทั่งเริ่มมีลูกค้าประจำกลับมาทำให้เธอใช้เงินในการโปรโมตน้อยลง
“เราเริ่มเปิดเดลิเวอรี ตอนนั้นเราเลือกไลน์แมนเพราะว่าผู้ใช้เยอะสุดในย่านนี้ ค่า GP กลางๆ แล้วก็เข้าถึงร้านเล็กๆ มากกว่า ตอนแรกที่เราพยายามทำไลน์แมนเราจะไม่เห็นเงินเลย เพราะโปรโมตเข้าไลน์แมนหมด สมมติวันหนึ่ง ขายดีมาก 1,000 บาท หัก 35% เหลือ 750 บาท เราโปรโมตเพิ่มการมองเห็นช่วงแรก โปรโมตหนักเลย ก็หักไปอีก 140 บาท เราจะเหลือ 500 กว่าบาท คือต้นทุน ทีนี้ 15 วันแรกเราก็วิเคราะห์ดู ลูกค้าที่เห็นเราคือออร์แกนิกหรือโฆษณามากกว่า แล้วเราก็ค่อยๆ ลด จนเริ่มมีลูกค้าประจำกลับมาสั่ง เราจะจำชื่อได้ คนนี้มาสั่งอีกแล้ว เราก็ลดการโปรโมตลงไปเรื่อยๆ”
สร้างคลิป Vlog ผ่าน TikTok สร้างผู้ติดตามครึ่งหมื่น
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของร้านเล็กๆ ที่ทำให้เป็นที่รู้จักได้ในวงกว้างนั่นคือการทำตลาดออนไลน์และแอมก็ใช้ช่องทาง TikTok ในการโปรโมตร้านด้วยการทำ Vlog คือคลิปที่เล่าเรื่องราวในแต่ละวันว่าเจ้าของโฮมคาเฟ่ทำอะไรบ้าง ซึ่งมีคนสนใจเป็นจำนวนมาก
“เราทำ TikTok พร้อมๆ กับช่วงที่เราเริ่มเข้าแอปฯ พอดี แล้วก็ใช้เงินเปิดค่าการมองเห็นใน TikTok นิดหนึ่งประมาณ 100-200 บาท พอคอนเทนต์เราเริ่มติด คนเริ่มชอบ พอคลิปเริ่มแมส คนก็ติดตามช่องเราเยอะขึ้น เราจะเล่าชีวิตประจำวันของเรา ว่าเกิดอะไรขึ้น เราทำอะไรอยู่ มันเลยไม่ได้ฝืนหรือสร้างเรื่อง ไม่ฝืดในการทำคอนเทนต์ คนก็จะชอบ เราก็ดีใจ คนอื่นอาจจะมองว่าเราเติบโตค่อนข้างเร็ว เพราะว่า TikTok ช่วยด้วย ทำให้มีคนเห็นมากขึ้น เริ่มมีลูกค้าตามมาจากใน TikTok”
สำหรับข้อดีของการทำโฮมคาเฟ่อยู่ที่บ้านนั่นคือการได้อยู่กันลูกและไม่ต้องเดินทาง แต่แอมก็แนะนำถึงข้อที่ควรระวังนั่นคือการตกลงกับคนในครอบครัวให้ดี
“ข้อดีคือเราไม่ต้องเดินทาง ข้อเสียคือเราต้องตื่นเช้ากว่าทำงานปกติ คนอาจจะมองว่าการทำโฮมคาเฟ่ มีภาพสวยหรู แต่เราต้องบริหารค่าใช้จ่ายให้ดีมากๆ มันจะเป็นเหมือนแบบระบบกึ่งกงสี เพราะเราไม่ได้มีมิเตอร์น้ำไฟแยก ว่าร้านเราใช้น้ำเท่าไหร่ ไฟเท่าไหร่ แล้วบ้านแฟนแอมเขาไม่ได้คิดเงินเราตรงนี้ แต่บางบ้านอาจจะคิด การทำคาเฟ่ที่บ้านมันดีแต่ขึ้นอยู่กับการตกลงกับครอบครัวด้วย เป็นเรื่องเปราะบางมาก แอมว่าเราต้องคุยกัน มีสเปซส่วนตัวด้วย เพราะเราไม่สามารถใช้ครัวรวมกับคนในบ้านได้ ต้องแยกสัดส่วนให้ชัดเจนได้มากที่สุด”
โดยแอมได้ปิดท้ายว่า การตัดสินใจออกจากงานสำหรับเธอ สิ่งสำคัญคือการได้ใกล้กับลูกมากกว่าตอนทำงาน แม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่หัวหมุนกับการทำออร์เดอร์ให้ลูกค้าแต่ก็มีเวลาใกล้ชิดลูกมากขึ้น
“มันดีตรงที่เราได้ใกล้ลูกมากกว่าตอนเราทำงาน ช่วงเวลานี้ของลูกสำคัญมาก เดี๋ยวเขาก็โตแล้ว เดี๋ยวเขาก็ไม่อยู่กับเราแล้ว เดี๋ยวก็ไปโรงเรียน เดี๋ยวก็มีเพื่อน มีโลกของเขา เป็นช่วงที่ต้องกอบโกยให้ได้มากที่สุด เราต้องให้ความรักเขามากที่สุดในช่วงเวลานี้”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup