ซีพีหนุน SME ไทย “จะโหรมเครื่องแกง” ผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ดันยอดขายพุ่ง 150 ล้านบาท
จากเครื่องแกงที่เริ่มต้นขายในตลาดสด จังหวัดตรัง เมื่อ 37 ปีที่แล้ว มาวันนี้ “จะโหรมเครื่องแกง” กลายเป็นเครื่องแกงที่โด่งดัง เชื่อไหมว่า จากยอดขายหลักกิโลกรัมสู่หลักแสนตัน จากที่ขายในตลาดสดสู่โมเดิร์นเทรดทั่วประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ โดยสร้างรายได้ถึง 150 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2565
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นประมาณ ปี พ.ศ.2529 ชุติมา อาลิแอ กรรมการผู้จัดการ ดีแอนด์จี ฟู๊ดซัพพลาย จำกัด (จะโหรมเครื่องแกง) เล่าให้ฟังว่า จะโหรมเครื่องแกง เริ่มต้นมาจากคุณแม่สามีที่ขายเครื่องแกงอยู่ในตลาดสด แต่ด้วยความที่คุณแม่มีความคิดทันสมัย เครื่องแกงนี้จึงไม่ได้วางขายแบบสินค้าทั่วไปในตลาด แต่คุณแม่จะนำเครื่องแกงนั้นมาใส่ในภาชนะลายครามที่ดูสะอาดแปลกตา และจัดวางบนเชลฟ์อย่างสวยงาม ที่สำคัญคือ คุณแม่จะมีเทคนิคการขายด้วยการชวนคุยและให้คำปรึกษากับลูกค้า เช่น ถ้าจะทำแกงปริมาณนี้ จะต้องใช้เครื่องแกง กะทิ เนื้อสัตว์เท่าไหร่ จากวันแรกที่ขายได้เพียง 9 บาท จึงกลายเป็นผูกใจลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำ เป็นลูกค้าประจำ และขยายชื่อเสียงไปสู่จังหวัดใกล้เคียง
เส้นทางพิสูจน์ความสำเร็จ
แต่ใช่ว่าเพียงการขายของคุณแม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้จะโหรมเครื่องแกงเติบโตมาถึงวันนี้ เพราะไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ที่สำคัญคือ ต้องมี “โอกาส” ที่จะช่วยนำพาสินค้าที่อยู่ในตลาดสดให้เติบโต โดยจุดพลิกที่ทำให้จะโหรมเครื่องแกงเติบโตแบบก้าวกระโดดคือ การเข้าร่วม “โครงการแพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ เครือซีพี
ชุติมาเล่าว่าเป็นความโชคดีที่แม็คโคร ธุรกิจในเครือซีพี ได้มาเปิดที่จังหวัดตรัง และเล็งเห็นจะโหรมเครื่องแกงว่าเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีคุณภาพ ด้วยความอยากสนับสนุนสินค้า SME ให้เติบโต จึงชักชวนให้ไปวางขายในแม็คโคร ซึ่งเธอก็ไม่รีรอที่จะตอบรับ
“ตอนนั้นเราเหมือนเป็นธุรกิจในครัวเรือน จึงยังไม่มีมาตรฐาน อย.และมาตรฐานอื่นๆ ดังนั้น ตอนแรกของการวางขายในแม็คโคร จึงเป็นลักษณะการขายแบบใส่ภาชนะเปิดแล้วตักขาย ซึ่งปราฏว่าผลตอบรับดีมาก เลยได้รับโอกาสขยายไปยังแม็คโคร สุราษฎร์ธานี ขณะเดียวกันก็เป็นแรงผลักดันให้เรา ต้องทำมาตรฐานต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโต จึงสร้างโรงงานขึ้นที่จังหวัดตรัง จากนั้นก็ขอมาตรฐานต่างๆ ทั้ง อย., HACCP, BRC และ SEDEX โดยความโดดเด่นของจะโหรมเครื่องแกง ก็คือไม่ใส่สารกันเสีย เก็บได้นาน 2 ปีโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น และเลือกใช้วัตถุดิบจากชาวสวนบริเวณใกล้ๆ จึงมีความสดใหม่ทุกวันและปราศจากสารเคมี นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวสวนอีกด้วย”
นั่นคือจุดเริ่มต้นของโอกาสจากแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ซึ่งได้กลายเป็นก้าวแรกก่อนที่จะต่อยอดโอกาสนั้นออกไปอีกมากมาย เพราะการได้วางขายในแม็คโคร นอกจากจะเป็นเสมือนหน้าร้านที่ทำให้คนรู้จักจะโหรมเครื่องแกงมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการการันตีว่านี่เป็นสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน จึงเป็นเหมือนใบเบิกทางที่ทำให้ถัดจากนั้นไม่นานจะโหรมเครื่องแกงก็ขยายช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศอย่างรวดเร็ว
“จะโหรมเครื่องแกงวางขายได้ในแม็คโครทุกสาขา และโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมอาหาร Ready to Eat ก็ติดต่อเข้ามาใช้เครื่องแกงของเรา ขณะเดียวกันลูกค้าต่างประเทศก็จะส่งคนมาคุยแล้วก็สั่งสินค้าจากเรา เขามั่นใจจะโหรมเครื่องแกงเพราะเห็นว่าขายในแม็คโคร ตอนนี้เราส่งออกไปหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี ดูไบ และอื่นๆ แล้วที่สำคัญเรายังซัพพลายให้กับบริษัทในเครือซีพีทั้งหมดด้วย”
ชุติมาบอกว่าโอกาสที่หยิบยื่นให้ในวันนั้นทำให้จะโหรมเครื่องแกงเติบโตอย่างรวดเร็วไม่หยุด จนปัจจุบันมี 3 ส่วน คือ 1.สินค้าภายใต้แบรนด์จะโหรมเครื่องแกง 2.การเป็น OEM ที่รับผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อื่น และ 3.การผลิต Ingredient หรือส่วนประกอบส่งต่อให้กับที่ต่างๆ
แพลตฟอร์มแห่งโอกาส ติดปีก SME เติบโตแบบก้าวกระโดด
ลำพังการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับ SME ก็นับว่ายาก ยิ่งในสถานการณ์ที่มีความผันผวนในหลายด้าน หากไม่มีโอกาสดีๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน การที่จะเติบโตนั้นก็คงยากยิ่งกว่า ดังเช่นจะโหรมเครื่องแกงสินค้าในตลาดสดที่ได้รับโอกาสจากแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ทำให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
แพลตฟอร์มแห่งโอกาส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยการนำของซีอีโอ ศุภชัย เจียรวนนท์ นั้นเกิดจากความตั้งใจที่จะส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจ SME และเกษตรกรไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีนโยบายให้ 3 กลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในเครือซีพี ประกอบด้วย เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส ผนึกกำลังดำเนินโครงการ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย
การผนึกกำลังของ 3 ช่องทางค้าปลีกนั้น ช่วยให้ SME มีช่องทางกระจายสินค้าสู่ชุมชนครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งในการทำงานนั้นทุกบริษัทในเครือจะต้องทำงานร่วมกัน เช่น โครงการ Business Matching ที่เปิดโอกาสให้ SME ได้มาเจอกัน การให้โอกาส SME เสนอสินค้ากับทั้ง 3 บริษัท คือ เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส ในคราวเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยการให้ความรู้คำแนะนำในการบริหารธุรกิจ การทำการตลาด และการทำมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสอย่างแท้จริง
“เราเป็น SME เล็กๆ ถ้าไม่มีโอกาสเข้ามาเราก็คงโตไม่ได้ขนาดนี้ ซึ่งไม่ได้โตแค่เราคนเดียว แต่ธุรกิจยังทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดการซื้อ-ขายกับซัพพลายเออร์อีกมากมาย เป็นห่วงโซ่ต่อเนื่องที่ทำให้เกิดรายได้ส่งต่อไปยังคนอีกจำนวนมาก โอกาสนี้จึงเปรียบเหมือนสายน้ำหล่อเลี้ยงรากฝอยเล็กๆ ให้เติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแกร่งในอนาคต” ชุติมากล่าวในตอนท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup