Starting a Business

i Laundry ร้านสะดวกซักภูเก็ต ที่คิดต่างสร้างโอกาสช่วงโควิด 2 ปี โต 10 สาขา

 

     คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การทำธุรกิจของเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาได้ไกลถึงเพียงนี้

    จูเนียร์-วริทธิ์ บุณยขจร เริ่มต้นทำธุรกิจร้านสะดวกซักชื่อ i Laundry ที่ภูเก็ตบ้านเกิด ขณะกำลังเรียนมหาวิทยาลัย เขาใช้จังหวะเวลาช่วงโควิด-19 ขณะที่ทุกคนหวาดกลัว ไม่มีใครกล้าลงทุนอะไร ศึกษา หาข้อมูล ใช้ไอเดีย วางแผน ลงมือเตรียมพร้อมทุกอย่าง ทั้งการสั่งเครื่องซักผ้า การเช่าที่ ที่สามารถเลือกและต่อรองได้ ทันทีที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเขาก็เปิด i Laundry ร้านสะดวกซักสาขาแรกในทันที และตามมาด้วยสาขาที่ 2 และ 3 ในเวลาไล่เรี่ยกัน ผ่านมา 2 ปีกว่าผลลัพธ์ของการลงมือทำในวันนั้น ไม่เพียง i Laundry จะเป็นธุรกิจตั้งต้นยืนได้เท่านั้น หากยังขยายถึง 10 สาขา

    ความสงสัยในเบื้องหลังความสำเร็จทำให้เราได้มาเจอกับเขา Co-founder และ CEO ของ i Laundry เด็กหนุ่มวัย 24 ปี เพื่อหาคำตอบว่าเขาทำได้อย่างไร 

 

 

เริ่มต้น เตรียมพร้อม ก่อนลุย i Laundry

     จริงๆ แล้วจูเนียร์ เริ่มต้นทำธุรกิจแรกตั้งแต่อายุ 21 ปี โดยในตอนนั้นเขาลงทุนร่วมกับเพื่อนไปเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า 2 ห้างรวมๆ กันประมาณ 10 บู๊ธ แล้วเอามาปล่อยให้พ่อค้าแม่ค้าเช่าต่อระยะสั้นๆ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ก้าวแรกในการหาเงิน แต่ทำเมื่อไปสักพักเจอพิษโควิด-19 พอดี จึงต้องล้มเลิกไป จากนั้นก็มาเริ่มต้นใหม่กับ i Laundry ร้านสะดวกซัก  

     “จริงๆ ไอเดียมาจากแม่ที่ได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงก่อนโควิด ปี 2562 แล้วไปเห็นร้านสะดวกซักของญี่ปุ่น ซึ่งเป็น Smart Laundry มีความน่าสนใจมากเพราะไม่เคยเห็นแบบนี้ในไทย เลยคิดว่าน่าจะลองมาเปิดที่ภูเก็ต แต่ว่าตอนนั้นเราไม่มี know How ยังไม่รู้ว่าธุรกิจมันเป็นยังไง เพราะเดิมครอบครัวเราก็ทำแต่อสังหาริมทรัพย์ จนมาเจอโควิด ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวก็เงียบมาก เราก็เลยใช้โอกาสนี้ในการศึกษา เช่าที่ อย่างตัวเครื่องซักผ้าเราไม่มีความรู้เลย ผมก็ใช้วิธีเซิร์ชหาแล้วเปรียบเทียบราคาคุณภาพ มีทั้งจากจีนและที่ผลิตในไทย สอบถามผู้รู้ แล้วก็สั่งมาเตรียมพร้อมทุกอย่าง จากนั้นอาศัยจังหวะช่วงที่โควิดเริ่มซาเปิด i Laundry สาขาแรกที่สามกอง ภูเก็ต”

 

 

วางคอนเซปต์ชัดเจนต้องสะอาดและมีพนังาน

     จูเนียร์วางคอนเซปต์ i Laundry เอาไว้ว่าต้องเป็นร้านสะดวกซักที่สะอาด ซึ่งธุรกิจร้านซักผ้าส่วนใหญ่จะไม่จ้างพนักงานเพราะมองว่ามันเป็นต้นทุนที่ไม่ควรมี แต่สำหรับเขากลับคิดต่าง ด้วยมองว่าธุรกิจนี้ไม่ใช่แค่การเอาผ้ามาซัก เวลาลูกค้ามาที่ร้านเพื่อซักเสื้อผ้าเขาจะต้องมองทุกอย่าง ตั้งแต่หน้าร้าน ในร้าน พื้น เครื่องซักผ้า แล้วถ้าดูไม่สะอาดเลย ก็คงไม่น่าใช้บริการเท่าไหร่  

     “ที่ภูเก็ตฝนจะตกบ่อยมาก ดังนั้น ร้านมันจะต้องสกปรกแน่ๆ ถ้าไม่มีพนักงานมาช่วยดูแล ผมก็เลยมองว่าร้าน i Laundry ของเราควรมีพนักงานอย่างน้อย 1 คนเพื่อคอยทำความสะอาดและให้บริการลูกค้า ก็เลยวางเป็นคอนเซปต์ที่ว่าร้านเราทุกสาขาจะมีพนักงานอย่างน้อย 1 คน

     จูเนียร์ บอกต่อด้วยว่าการให้มีพนักงานทำให้ i Laundry แตกต่างจากที่อื่น เพราะทำให้สามารถให้บริการลูกค้าเพิ่มได้ อย่างเช่น การพับผ้า พอลูกค้าเอาผ้ามาซัก แค่เอาเงินให้พนักงาน แล้วพนักงานก็จัดการทุกอย่างให้ตั้งแต่ซักผ้า อบผ้า ซื้อน้ำยาให้แล้วก็พับผ้าใส่ถุงให้เรียบร้อย

     “ขณะที่มีแบรนด์อื่นอยู่ร้านข้างๆ แต่ทำไมเขามาใช้บริการเรา เพราะสะดวกกว่ามีพนักงานพับผ้าให้ แต่ถึงอย่างนั้นการมีพนักงานประจำมันก็ไม่ใช่คอนเซปต์ที่ทำยากอะไร ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแต่ไม่มีคนคิดในตอนแรก เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเขาจะซื้อแฟรนไชส์มาแล้วไม่อยากที่จะต้องใช้เวลาดูแลมาก”

 

 

ลงทุนลงมือช่วงโควิด ขณะที่หลายคนไม่กล้าขยับตัว

     i Laundry เริ่มเปิดสาขาแรกปี 2563 ในขณะที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนและเตรียมพร้อมตั้งแต่ช่วงโควิด โดยจูเนียร์มองว่าช่วงวิกฤติโควิดเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนเพราะในตอนนั้นไม่มีใครกล้าทำอะไรเท่าไหร่

     “เราไปเช่าที่เตรียมไว้ก่อนประมาณ 4-5 สาขา เลยกลายเป็นว่าเราได้ค่าเช่าที่ถูกมาก ได้เปรียบเรื่องค่าที่ พอคลายล็อคดาวน์ปุ๊บเราก็พร้อมเปิดสาขาแรกที่สามกองเลย ตอนนั้นก็คุยกันกับพ่อว่าเราต้องการลูกค้ากี่คนถึงจะอยู่รอด พอเปิดจริงๆ สาขาแรกลงทุนไปเกือบ 2 ล้านบาท แต่ 3 เดือนแรกตัวเลขต่ำกว่าเป้าหมายเยอะมาก จนทำมาถึง 6 เดือนตัวเลขถึงจะขึ้นมาพออยู่รอด แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการอยู่ดี ส่วนตัวผมแม้ตัวเลขไม่ได้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ก็ไม่เคยคิดจะหยุดนะ แต่พ่อผมเคยถามอยู่ว่าจะหยุดไหม”

     จูเนียร์ บอกว่าส่วนตัวเขาค่อนข้างมั่นใจ แม้ตัวเลขจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ก็ถือเติบโตคือตัวเลขมันโตขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจมันก็ยังไม่กลับมาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาเลยมองว่าคนยังกลับมาไม่หมด ถ้าคนเริ่มกลับมาก็น่าจะดีกว่านี้

     นอกจากนั้น เขากลับมองต่างด้วย คือคิดว่าน่าจะเปิดสาขา 2 ไปเลย เพราะได้เปรียบตรงที่ค่าเช่าถูกกว่าแล้วก็มีน้ำใช้ฟรีด้วย ก็เลยตัดสินใจเปิดสาขา 2 ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสาขาแรกจะรอดหรือเปล่า แต่พอทำไปสักพักสาขาแรกรอดแล้วมีเงินเหลือ จากนั้นก็เปิดสาขา 3 แล้วเอาเงินจากสาขาแรกมาชดเชยสาขา 2 กับ 3 ถึงแม้จะไม่ได้กำไรมากก็ตาม เขาคิดว่าถ้าสาขาอื่นโตประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ด้วยอัตราการเติบโตภายในสิ้นปีก็จะรอดอย่างแน่นอน จากนั้นก็ตามมาด้วยเปิดสาขา 4 และ 5 ไล่ๆ กันมา พอสิ้นปีแรก i Laundry ก็มีถึง 5 สาขา

 

 

สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าคือหัวใจของ i Laundry

     ตอนนี้ i Laundry มี 10 สาขาโดยในเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ท่ามกลางแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักแบรนด์อื่นที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีทั้งที่มาเปิดอยู่ข้างๆ หรือตรงข้ามร้าน i Laundry นั่นหมายความว่าทุกคนเห็นโอกาส และเศรษฐกิจฟื้นแล้ว ก็อยากจะลงมาเล่นในธุรกิจนี้มากขึ้น

     “การแข่งขันในธุรกิจนี้ที่ภูเก็ตก็ยังไม่สูงถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ยังไม่มี Price War ซึ่งเราเองก็ไม่ได้กลัวอะไรหากจะมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าคนภูเก็ตส่วนใหญ่รู้จักแบรนด์เรา แล้วคนภูเก็ตก็ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นแบรนด์ไหน เขาสนใจแค่ว่าบริการที่ไหนดีกว่า ซึ่งเราได้เปรียบตรงที่เราเริ่มก่อน แล้วก็ได้ Customer Loyalty ด้วย ถ้าเราทำให้ลูกค้าพอใจได้เขาก็ไม่เปลี่ยนใจ ส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะเลือกอะไรก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองคุ้นเคย สมมติว่าถ้ามีคนหนึ่งเข้าร้านเราเป็นครั้งแรกแล้ว แม้จะมีร้านใหม่มาเปิดข้างๆ เขาก็ไม่ค่อยเดินไปเท่าไหร่ เขาก็จะใช้บริการร้านเดิมไปเรื่อยๆ เพราะมันคือความเคยชินของเขา นอกจากนี้ เราก็คอยเพิ่มความสะดวก ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าตลอดเวลา อย่างลูกค้าไม่สะดวกกับการหยอดเหรียญ เราก็เอาระบบสแกน QR Code สำหรับจ่ายเงินมาใช้ เป็นต้น”

     เขามองว่าไม่ว่าทำธุรกิจอะไรความพึงพอใจของลูกค้าสำคัญที่สุด เพราะว่าถ้าลูกค้าพอใจยังไงก็มาใช้บริการ และจะไม่มองร้านอื่นเลย แต่ในทางกลับกัน ถ้าลูกค้ามีปัญหาก็จะไม่กลับมาใช้บริการซ้ำอีก ดังนั้น การทำให้ลูกค้ามีความสุขที่สุด ยังไงเขาก็มาใช้บริการที่ i Laundry ต่อไป 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup