เปลี่ยนดอกไม้ให้เป็นงานศิลปะ Shizen Handmade ทำการตลาดแค่ใน Twitter สร้างรายได้ 5 หลักต่อเดือน
Text : Yuwadi.spm
เพราะความสวยงามของดอกไม้ คงมีใครหลายคนอยากจะเก็บเอาไว้นานๆ แต่ด้วยเวลาที่เบ่งบานเพียงไม่นาน ทำให้มีผู้หญิงคนหนึ่งปิ๊งไอเดีย จับดอกไม้มาใส่ในงานเรซิ่นเพื่อให้ดอกไม้อยู่ได้นานตลอดไป และนี่คือจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Shizen Handmade ที่ก่อตั้งโดย “ก้อย – สุชาดา สมประสงค์” ผู้ที่หลงใหลในงานคราฟท์และชื่นชอบความงดงามของดอกไม้ จากแค่ทำเล่นเป็นงานอดิเรก กลายเป็นแบรนด์เรซิ่นดอกไม้ที่สร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน
เปลี่ยนดอกไม้ให้กลายเป็นงานศิลปะ
ก้อยเล่าว่าเธอเป็นคนชื่นชอบการทำงานคราฟท์และมีการทำงานคราฟท์อื่นๆ มาก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้เจอกับงานพวงกุญแจดอกไม้ในอินเตอร์เน็ต ทำให้เธอเกิดปิ๊งไอเดียขึ้น จากคนที่ปลูกดอกไม้ไม่เป็น ก็ได้แนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดอกไม้อยู่กับเราได้นานขึ้น
“ก่อนหน้านี้ก้อยทำงานคราฟท์อย่างอื่นมาก่อน เช่น สบู่ ลิปมัน โลชั่น ทำอยู่นานแล้วค่ะ จนวันหนึ่งเราเจอพวงกุญแจดอกไม้ แล้วมันน่ารักดี อยากลองทำ แล้วตัวเราเป็นคนที่ปลูกต้นไม้ ดอกไม้อะไรไม่ได้เลย มันตายหมด งั้นเราลองมาทำตัวเครื่องประดับดอกไม้แทน มันสามารถเก็บดอกไม้อยู่ได้นาน มันจะได้อยู่กับเราตลอดไป เวลาเราได้ดอกไม้พิเศษมาก็ใส่งานเรซิ่นให้อยู่ได้นาน เราเลยอยากลองทำตัวนี้ดู”
โดยในช่วงเวลาที่เธอเริ่มทำงานเรซิ่น ยังเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีคนนำเรซิ่นมาทำในงานคราฟท์ เธอจึงค้นหาข้อมูลจากในต่างประเทศ พร้อมทั้งสั่งอุปกรณ์มาทำ หลังจากนั้นก็โพสต์เรื่องราวการทำงานคราฟท์เรซิ่นจากดอกไม้ของเธอลงในโซเชียลมีเดียจนทำให้เริ่มมีคนติดตามมากขึ้น ก่อนที่เธอจะตัดสินใจลองขายและกลายเป็นธุรกิจในปัจจุบัน
“เราเริ่มทำเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว คนทำยังไม่ค่อยเยอะ ก้อยยังไม่ค่อยเห็นคนทำเลย ต้องบอกก่อนว่างานเรซิ่น มันจะใช้ในงานอุตสาหกรรม พวกทำโมเดล ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นงานจะใสๆ หน้าตาคล้ายอะคริลิก แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนไทยเอามาทำเป็นเครื่องประดับ เราเลยหาข้อมูลในฝั่งญี่ปุ่น เขาทำตัวนี้กันเยอะ เราอยากลองทำ ก็สั่งอุปกรณ์จากญี่ปุ่นมาทำ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะเปิดร้านขาย เราแค่ทำเสร็จแล้วลองโพสต์เล่นๆ จนคนเริ่มติดตามเยอะขึ้น เลยลองทำขายดู”
จุดเด่นของ Shizen Handmade นั่นคือการหยิบเอาดอกไม้มาใส่ไว้ในชิ้นงานต่างๆ ไม่ได้มีแค่ในพวงกุญแจเพียงอย่างเดียว แต่ก้อยพยายามมองหาอะไรใหม่ๆ มาทำเป็นผลงานเสมอ อาทิ แจกัน จานรองแก้ว ที่วางไข่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่นำเอาดอกไม้ในวันสำคัญมาสั่งทำเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย
“ช่วงแรกเราเริ่มจากพวงกุญแจ แต่ตัวชิ้นงานก็สามารถเอาไปประกอบเป็นสร้อยก็ได้ ข้อมือก็ได้ จากนั้นพอเรซิ่นเริ่มฮิตก็เริ่มมีอุปกรณ์เยอะขึ้น เราเริ่มทำจานรองแก้ว แจกัน เริ่มทำของที่ใหญ่ขึ้น พยายามหาอะไรใหม่ๆ ทำเรื่อยๆ ทุก 3 เดือนจะมีไลน์โพรดักส์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีการเอาดอกไม้ในโอกาสสำคัญของลูกค้ามาทำตัวเรซิ่นด้วย เช่น ดอกไม้ที่ลูกค้าได้รับจากวันแต่งงาน วันเกิด วาเลนไทน์ เขาจะส่งดอกไม้มาให้เรา เราจะทำการอบแห้งและใส่ลงไปในเรซิ่น”
จับกลุ่มเป้าหมายแค่ในทวิตเตอร์ สร้างสตอรี่ให้คนติดตาม
ก้อยเล่าว่าเธอทำแบรนด์ Shizen Handmade แค่ในทวิตเตอร์เพียงช่องทางเดียว เพราะเธออยากบุกเบิกการขายงานเรซิ่นในทวิตเตอร์เป็นเจ้าแรกๆ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครทำ
“ตอนนั้นตัวเรซิ่นเป็นอะไรที่ใหม่แล้วเราก็อยากได้ช่องทางที่ใหม่ ยังไม่ค่อยมีคนเข้าไปทำตลาดในทวิตเตอร์ ก้อยเชื่อว่าทุกแพลตฟอร์มเราขายของได้ แต่การจะขายได้ดีเราควรเป็นคนที่มาแต่แรก ตอนนั้นเราเลยอยู่ในยุคแรกๆ ที่มีการเอาเรซิ่นเข้าไปขายในทวิตเตอร์ เราเลยได้ลูกค้าจากในทวิตเตอร์ค่อนข้างเยอะ 90% มาจากทวิตเตอร์ทั้งหมด”
นอกจากนี้เธอยังได้แชร์เคล็ดลับการทำตลาดให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ในสไตล์ของเธอว่าจะเน้นการทำอย่างสม่ำเสมอและแชร์สตอรี่เกี่ยวกับสินค้าที่กำลังจะขายเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกอินและรอการขายที่กำลังจะมาถึง
“เราจะใช้วิธีการแชร์สตอรี่ของเราให้ลูกค้าดูเรื่อยๆ ตัวแพลตฟอร์มมันค่อนข้างไว ต้องสั้น กระชับ เราจะพยายามโพสต์ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เกี่ยวกับงาน เกี่ยวกับดอกไม้ เพื่อให้ลูกค้าชินกับการเห็นเราในทุกวัน พอเขาเห็นเรา อ่านสตอรี่เราก็จะเริ่มอินกับสิ่งที่เราทำ เราอาศัยความสม่ำเสมอและเวลาเราจะทำอะไร เราจะโพสต์ตั้งแต่ตอนตามหาดอกไม้ ซื้อจากปากคลองนะ เอาดอกไม้มาอบแห้งนะ กว่าจะถึงขั้นตอนการเอามาใส่เรซิ่นเป็นแบบนี้นะ ให้เขาได้เห็นกระบวนการและความเป็นไปของชิ้นงาน พอถึงเวลาที่เราประกาศขายคนก็จะให้ความสนใจเข้ามาซื้อมากขึ้น”
สำหรับรูปแบบการขายของ Shizen Handmade นั้นมีการขาย 2 แบบคือทำชิ้นงานออกมาพร้อมจัดส่งให้ลูกค้าและโพสต์เพื่อให้ลูกค้า CF กับการทำสินค้า Made to order ซึ่งการทำ Made to order เป็นความยากอย่างหนึ่งในการทำงานศิลปะ
“รูปแบบการขายของก้อย เราจะมี 2 แบบคือผลงานพร้อมส่งที่เราดีไซน์ขึ้นมาเอง ทำเสร็จค่อยขายกับผลงาน Made to order สั่งเพิ่มเติมจากที่เราทำได้ตลอดเวลา สิ่งที่ยากของการทำงานเรซิ่นคือตอนที่เราทำงาน Made to order เพราะว่าเรซิ่นมันเป็นงานเกี่ยวกับศิลปะด้วย ลูกค้าก็จะปล่อยให้เราได้สร้างสรรค์ผลงานออกมา ไม่ได้กำหนดว่าต้องวางดอกไม้ตรงนี้หรือเป๊ะมาเลย แต่เขาจะให้โจทย์เรามาแล้วเรามาจินตนาการต่อ เขาก็ไม่รู้เลยว่าเราจะทำออกมาแบบไหน ความยากคือเวลาเราทำไปแล้ว ไม่รู้เลยว่าลูกค้าจะชอบหรือเปล่า ประมาณ 90% ลูกค้าชอบส่วนอีก 10% ก็อาจจะมีที่ภาพเรากับภาพเขาที่ไม่ตรงกัน ต้องแก้งานหรือทำงานขึ้นมาใหม่ ก็เป็นความท้าทายและสนุกดีค่ะ”
ก้อยได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการทำแบรนด์ Shizen Handmade ให้ฟังว่าการทำงานศิลปะต้องเริ่มต้นที่ใจรัก ถึงจะสามารถทำและอยู่กับมันไปได้นาน
“ก้อยว่าเป็นเรื่องที่เราต้องทำด้วยความชอบ ใจเราต้องรักจริงๆ เพราะงานศิลปะเราต้องมีใจรัก ถ้าใจไม่รัก เราอยู่กับมันไม่ได้ มันเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียด ใช้อารมณ์ จินตนาการ เราต้องมีความใส่ใจและจริงใจกับการทำงานมากๆ”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup