Starting a Business

พาส่องวิถี Solopreneur ผู้ประกอบการลุยเดี่ยวทำธุรกิจกันอย่างไร 

 

Text : Vim Viva

     ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันจะไม่อินสักเท่าไรกับสำนวนไทย “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” ซึ่งหมายถึงมีอาชีพค้าขายสู้รับราชการไม่ได้เพราะเป็นพ่อค้าย่อมมีวันขาดทุน แต่ถ้ารับราชการก็มีเจ้านายชุบเลี้ยง ไม่มีทางขาดทุน โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวกลุ่มมิลเลนเนี่ยล และ Gen Z ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นมนุษย์เงินเดือนได้ไม่นานก็จะดิ้นรนออกมาเป็นผู้ประกอบการ หนึ่งในความฝันของคนรุ่นใหม่คือการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

     สำหรับคนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ มีผลการสำรวจความเห็นของ solopreneur หรือเจ้าของธุรกิจลงทุนและสร้างธุรกิจด้วยตัวคนเดียว ซึ่งกิจการเจ้าของคนเดียวนี้รวมถึงเอสเอ็มอี ยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ หรือฟรีแลนซ์สายต่างๆ นั่นเอง

     ผลการสำรวจนี้ดำเนินการโดย Groove แอปพลิเคชันบนมือถือซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลและทัศนะ Groove ได้สำรวจความคิดเห็นของ solopreneur กว่า 220 คนจาก 29 ประเทศ อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา อิสราเอล และอื่นๆ และได้สรุปเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ผ่านการวิเคราะห์ตีความมาแล้วในระดับหนึ่งดังนี้

 

   

     1. การเป็น solopreneur ถือเป็นไลฟ์สไตล์ หากนิยามเป็นคำๆ จะได้ออกมาดังนี้ ความอิสระ ความยืดหยุ่น (ในการทำงาน) มีเป้าหมาย สร้างรายได้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความชอบ (passion) มีความใฝ่รู้ ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ต่อคำถามที่ว่าเข้าสู่วังวนของการเป็นผู้ประกอบการเดี่ยวได้อย่างไร โดยมากตอบว่าเบื่อการทำงานประจำแบบเดิมๆ และอยากมีอิสระมากขึ้นในการทำสิ่งต่างๆ ที่สนใจ และดูเหมือนเงินจะไม่ใช่แรงบันดาลใจหลักเพราะ 73% ของผู้ตอบคำถามมีรายได้ต่อปีไม่ได้ฟู่ฟ่าอะไรเลยเมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

     2. ลืมเสียเถิดกับการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน คนรุ่นใหม่ทำงานน้อยลง 73% ของผู้ตอบคำถามระบุทำงานวันละไม่เกิน 7 ชั่วโมง และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ 39% ตอบว่าทำงานน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 15 ทำงานเพียงสัปดาห์ละ 15-20 ชั่วโมงเท่านั้น มนุษย์เงินเดือนบางคนลาออกจากงานเพื่อเป็นผู้ประกอบการเดี่ยวด้วยเหตุผลที่ว่าต้องเวลาในการดูแลครอบครัว

 

 

     3. ออกแบบชีวิตได้ 83% ของ solopreneur มองว่าพวกเขามีอำนาจในการออกแบบการใช้โมงยามในแต่ละวัน 62% กล่าวว่าในแต่ละวันของพวกเขาแตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ มีเพียง 33% ที่กำหนดเวลาทำงานแน่นอน และ 58.5% เผยพวกเขาเริ่มงานเวลา 9 หรือ 10 น. ส่วนจะทำถึงกี่โมงนั้นไม่แน่นอน ระหว่างทำงานจะมีช่วงพัก 1-2 ชั่วโมง บางคนก็พักครึ่งวันเลย และพวกเขาจะเก็บวันศุกร์ไว้เป็นวันสบายๆ    

     4. การเปลี่ยนอาชีพ เป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทาง solopreneur จากการสำรวจพบว่า 84% ของผู้ประกอบการเดี่ยวเปลี่ยนจากธุรกิจเดิมไปทำธุรกิจอื่น โดย 52% เปลี่ยนอาชีพอย่างน้อย 2 ครั้ง ส่วนหนึ่งเปลี่ยนเพราะต้องการลองธุรกิจอื่นที่น่าสนใจกว่า บางครั้งไม่เวิร์กก็กลับไปทำอาชีพเดิมก็มี บ้างก็ทำธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้วผันไปเป็นที่ปรึกษาให้คนอื่นแทน

 

 

     5. การหยุดพักระหว่างทางเป็นเรื่องปกติ 59% ของผู้ตอบคำถามระบุช่วงทำธุรกิจเคยหยุดกิจการเพื่อตั้งหลักนานนับเดือน ช่วงที่พักจากธุรกิจ 22% ระบุไปเข้าคอร์สหาความรู้เพิ่มเติม แต่ 16.2% บอกหยุดเพื่อเลี้ยงลูก และ 14.6% หยุดธุรกิจเพื่อออกเดินทางท่องเที่ยว

     6. ความรู้สึกร่วมของ solopreneur คือการผลักดันให้ธุรกิจเติบโต เป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด ขณะที่ 10.5% มองว่าเรื่องที่ท้าทายสุดคือการทำให้รายได้โต และ 9.5% คิดว่าการหาลูกค้าต่างหากที่เป็นเรื่องยาก แม้จะมีเรื่องให้ทดสอบความสามารถ แต่หลายคนไม่ชอบบรรยากาศของการทำงานประจำมากเสียจนยอมตัดสินใจออกมาเป็น solopreneur ถึงจะก้าวยังไม่ถึงฝั่งฝันแต่ก็ไม่เสียใจที่เลือกเส้นทางเดินเอง

 

 

     7. เครือข่ายและสายสัมพันธ์สำคัญมาก กับคำถามเกี่ยวกับกาสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจหรือการสร้างฐานลูกค้า เสียงส่วนใหญ่ถึง 91% ยอมรับว่าสายสัมพันธ์ (connection) และคนรอบตัวที่รู้จักกันมีส่วนอย่างมาก โดย 50% ใช้ inbound marketing หรือกลยุทธ์การตลาดแบบสร้างแรงดึงดูดผู้คนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น โซเชียลดีเดีย 44% เน้นการผลิตคอนเทนต์ที่น่าสนใจ และ 32% ออกงานหรือจัดอีเวนต์  

     8. ลงทุนกับอะไรมากที่สุดที่จะทำให้เกิดผลดีต่อธุรกิจ 27.3% บอกว่าลงทุนไปกับอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ดีๆ ขณะที่ 26.7% ลงทุนจ้างผู้ช่วยเพื่อมาทำในสิ่งที่ตนไม่ถนัดเช่น การออกแบบเว็บไซต์ หรือโลโก้ และอื่นๆ รวมถึงจ้างพนักงานเพื่อแบ่งเบาภาระ นอกเหนือจากการลงทุนในเรื่องเงิน solopreneur มองว่า “เวลาในการเรียนรู้” ก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง 73% ใช้เวลา 6-12 เดือนแสวงหาความรู้จากกูรู จากหนังสือ และสื่อต่างๆ ก่อนเริ่มต้นธุรกิจ

     9. อนุญาตให้ตัวเองลาพักร้อน แม้จะเป็นนายตัวเองแต่การพักผ่อนประจำปีควรต้องมีไม่ต่างจากการเป็นพนักงานออฟฟิศ คำถามคือ solopreneur ใช้เวลาพักร้อนอย่างในในช่วง 12 เดือน 27% ระบุหยุดพักแค่ 8-14 วัน และ 25% พักนานขึ้นเป็น 15-25 วัน แต่ถ้าเป็นการพักระหว่างวันหรือสัปดาห์ กิจกรรมที่ทำคือออกกำลังกาย เดินเล่นชมธรรมชาติ และพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง   

 

 

ที่มา : 

https://medium.com/groove-with-us/the-12-insights-solopreneurs-need-to-hear-in-2023-a31aa028563b

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup