ไอเดียดีไอศกรีมแซนวิสเลือกจับคู่ได้ Kintaam เริ่มต้นที่เชียงใหม่ แต่มาปังที่กรุงเทพฯ
เคยกินไหมไอศกรีมแซนด์วิช ที่มีรสชาติแปลกๆ อย่าง ช็อกแสบ-ไอศกรีมช็อกโกแลตพริกเกลือ กล้วยผ่อง, ไอศกรีม-กล้วยหอมเนยถั่ว, เย็นเจี๊ยบ-ไอศกรีมโยเกิร์ตแยมขิง นอกจากรสชาติจะแปลกแล้ว ยังเป็นไอศกรีมแซนด์วิช สามารถเลือกประกบกับบิสกิตหลายรสชาติได้ตามอัชฌาสัย ตามชื่อแบรนด์ Kintaam กินตาม (อัชฌาสัย) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการใส่ Creativity ลงในโปรดักต์ของสองพี่น้อง น้ำอบ ถมทอง ไชยจินดา และ น้ำทิพย์ ไชยจินดา
หลังจากที่เป็นฟรีแลนซ์อยู่กรุงเทพฯ มานาน จนกระทั่งเจอกับวิกฤตโควิดทำให้เริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น เลยตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านที่เชียงใหม่ ซึ่งด้วยความที่ชอบทำขนมอยู่แล้ว น้ำทิพย์จึงชวนคุณแม่มาทำขนมปังด้วยกัน แต่อย่างที่เห็นเชียงใหม่นั้นเป็นดินแดนที่มีคนทำขนมอยู่เยอะมาก บวกรวมกับอยากหาความแตกต่าง จึงลองทำไอศกรีมแซนด์วิช ที่สามารถเปลี่ยนไอศกรีมและขนมบิสกิตได้ โดยใช้เวลาลองผิดลองถูกกว่า 3 เดือน จนได้สูตรไอศกรีมและบิสกิตที่ลงตัว เธอจึงชวนพี่สาวน้ำอบซึ่งอยู่กรุงเทพฯ มาร่วมด้วยช่วยกันทำ
“เราทั้งคู่ไม่ได้เรียนทำขนม แต่เรียนมาทางด้านดีไซน์ จึงพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากที่สุด จากขนมปังธรรมดากินคู่กับอะไรดี มันเป็นไปได้ทุกอย่างเลย เอามาประกบไอศกรีมเป็นไอศกรีมแซนด์วิช แล้วมันก็หลากหลาย เพราะมีบิสกิต มีไอศกรีมหลายรสชาติให้เลือก นอกจากดีไซน์ไอศกรีมแล้ว ก็ยังดีไซน์วิธีเล่าเรื่องด้วย ไอศกรีมรสชาตินี้ ควรจะเล่าแบบไหนให้คนรู้สึกว่ามันมีความหมายมากกว่ารสชาติ เช่น กล้วยผ่องทำไมถึงชื่อกล้วยผ่อง เรียกว่าเราต้องคิดคอนเซปต์แต่ละรสชาติ ใช้ Story มาเป็นจุดขาย ยิ่งในตอนนั้นเราทำในช่วงโควิดด้วย ไม่สามารถเปิดหน้าร้านได้ ต้องสื่อสารผ่านออนไลน์อย่างเดียว เราเลยต้องพูดเยอะหน่อย”
กินตาม จึงไม่ใช่แค่ไอศกรีมแซนด์วิชธรรมดา แต่เป็นไอศกรีมที่เล่นกับดีไซน์เพื่อสร้างความแตกต่าง ทั้งรสชาติ การจับคู่กับบิสกิต การตั้งชื่อ การสร้างคอนเทนต์ รวมถึงการให้ลูกค้าได้เลือกจับคู่บิสกิตที่มีทั้ง โกโก้ เนย ข้าวโอ๊ต ฯลฯ 6 รสชาติและไอศกรีมอีก 10 รสชาติ ที่อยากได้ด้วยตัวเอง ทำให้เหมือนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเล็กๆ ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ตัดสินใจทำไอศกรีมแซนด์วิชจนพัฒนาโปรดักต์ลงตัว น้ำอบบอกว่าไม่คิดไกลถึงขั้นจะเป็นธุรกิจจริงจัง แต่เป็นการทำโปรเจกต์สั้นๆ ระหว่างว่างมากกว่า ซึ่งการที่ไม่ได้ลงทุนเยอะเพราะขายพรีออร์เดอร์บนออนไลน์อย่างเดียว จึงไม่ได้กลัวว่าจะไปรอดหรือไม่รอด แต่หลังจากที่เริ่มทำตลาดเปิดพรีออร์เดอร์ สิ่งที่สร้างความแปลกใจคือ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากกรุงเทพฯ มากกว่า จนกระทั่งเมื่อได้มีโอกาสไปออกบู๊ธงาน Bangkok Design Week ปีที่แล้ว ได้เห็นปฏิกิริยาของลูกค้า จึงตัดสินใจว่าจะต้องทำให้เป็นธุรกิจจริงจังขึ้นมา
“จุดเปลี่ยนคือการได้ไปเจอหน้าลูกค้า จากเดิมทำแต่ออนไลน์ ไม่เคยเจอหน้าลูกค้าเลย แต่พอมาได้เริ่มออกอีเวนต์เจอลูกค้า ได้พูดคุย ได้เห็นปฏิกิริยาของลูกค้า บางคนเขาก็อยากเจอเรา รอที่จะได้เจอเรา เรารู้สึกว่าเหมือนเรามีพลังงานขึ้นมา และทำให้มั่นใจว่าจะต้องเดินหน้าต่อ”
และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้การทำเล่นๆ กลายเป็นธุรกิจจริง โดยทั้งคู่ยังขยายจุดขายจากออนไลน์มาสู่หน้าร้าน ด้วยการเปิดร้านเล็กๆ ที่ถนนนิมมาน ซอย 11 และเริ่มทดลองทำ “ตู้กิน” สำหรับใส่ไอศกรีมวางจำหน่ายในคาเฟ่ที่กรุงเทพฯ โดยเริ่มวางที่ Sauce Coffee เอกมัย ซ.2 เป็นที่แรก รวมถึงมีแผนที่จะเปิดร้านเล็กๆ ที่กรุงเทพฯ อีกด้วย นอกจากนี้ น้ำอบบอกว่าในอนาคตเธออยากจะ Collab กับแบรนด์อื่นๆ ที่ต่างธุรกิจกัน เช่น แฟชั่น เพื่อนำจุดแข็งของแต่ละแบรนด์มาทำงานร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าทั้งคู่จะสนุกที่สำคัญลูกค้าจะแฮปปี้ด้วยอย่างแน่นอน
FB : kintaam กินตาม
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup